สิ่งที่ควรรู้ ใน “วันไหว้ครู”

“วันไหว้ครู” มักจัดขึ้นใน วันพฤหัสบดี สัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมิถุนายน แสดงถึงความเคารพ ครูบาอาจารย์ ผู้ให้ความรู้

การไหว้ครู เป็นพิธีกรรมตามประเพณีไทยที่นิยมปฏิบัติกันมาแต่สมัยโบราณ เพื่อแสดงถึงความเคารพ รำลึกถึงพระคุณของครู อย่างการไหว้ครูมวย ไหว้ครูนาฏศิลป์ เพราะมีความเชื่อว่า ทุกอาชีพต้องมีครู และวันไหว้ครู มักถูกจัดขึ้นในวันพฤหัสบดี สัปดาห์ที่ 2 ในเดือนมิถุนายน ของทุกปี ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 8 มิถุนายน 66 

อย่างไรก็ตาม วันไหว้ครูไม่มีข้อมูลที่มา ที่แน่ชัดว่าเกิดขึ้นเมื่อใด แต่สันนิษฐานว่า เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการในการประชุมผู้แทนคณะครูทั่วประเทศในคราวประชุมวิสามัญของคุรุสภา เมื่อเดือนพฤษภาคม 2499 ในสมัยของจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ที่คราวนั้นที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้มี ‘วันครู’ ขึ้น เพื่อประกอบพิธีระลึกถึงครูบูรพาจารย์ อันเป็นแนวคิดจุดเริ่มต้นของพิธีไหว้ครูนั่นเอง

ซึ่งมีดอกไม้หลักที่ใช้ในการทำพานไหว้ครู  4 อย่าง และแต่ละอย่างมีความหมาย ดังนี้

1. หญ้าแพรก

ขอให้เรียนได้เร็วเหมือนหญ้าแพรก ที่เติบโตเร็วและทนต่อสภาพดิน ฟ้า อากาศ ทนต่อการเหยียบย่ำ ซึ่งเปรียบเสมือน การขยันอดทนในการเรียนรู้

2. ดอกเข็ม

ขอให้มีสติปัญญาเฉียบแหลม เหมือนชื่อของดอกเข็ม ซึ่งเป็นปริศนาธรรมว่า ครูต้องจัดการเรียนการสอนเพื่อปลูกฝังความคิด ให้นักเรียนนักศึกษาเป็นคนฉลาด (หัวแหลม) รู้จักวิเคราะห์ วิจารณ์

3. ดอกมะเขือ

เปรียบเทียบว่าดอกของมะเขือนั้น จะคว่ำลงเสมอเมื่อจะออกผล แสดงถึงนักเรียนที่จะเรียนให้ได้ผลดีนั้นต้องรู้จักอ่อนน้อม ถ่อมตน เป็นคนสุภาพเรียบร้อย เหมือนมะเขือที่โน้มลง

4. ข้าวตอก

เนื่องจากข้าวตอกเกิดจากข้าวเปลือกที่คั่วด้วยไฟอ่อน ๆ ให้ร้อนเสมอกันจนถึงจุดหนึ่งที่เนื้อข้างในขยายออก จนดันเปลือกให้แยกออกจากกัน ได้ข้าวสีขาวที่ขยายเม็ดออกบาน ซึ่งสามารถนำไปประกอบพิธีกรรม หรือทำขนมต่าง ๆ ได้

ดังนั้น ข้าวตอกจึงเป็นสัญลักษณ์ของความมีระเบียบวินัย หากใครสามารถทำตามกฎระเบียบ เอาชนะความซุกซน และความเกียจคร้านของตัวเองได้ ก็จะเหมือนข้าวตอกสีขาวที่ถูกคั่วแล้ว

ทั้งนี้ การจัดพิธีไหว้ครู ของแต่ละโรงเรียนมักมีความแตกต่างกันออกไป ขณะเดียวกัน บางโรงเรียนอาจมีการจัดกิจกรรมอื่น ๆ เข้ามาร่วมด้วย อย่างบายศรีสู่ขวัญ รับน้องใหม่ในโรงเรียน และกิจกรรมสันทนาการต่าง ๆ แต่ที่เหมือนกันคือ คำไหว้ครู ที่ใช้ในพิธี

คำไหว้ครู (สวดทำนองสรภัญญะ)

(นำ) ปาเจราจริยา โหนติ (รับพร้อมกัน) คุณุตตรานุสาสกา 

(นำ) ข้าขอประณตน้อมสักการ (รับ) บูรพคณาจารย์ ผู้กอปประโยชน์ศึกษา ท่านผู้ประสาทวิชา อบรมจริยา แก่ข้าในกาลปัจจุบัน ข้าขอเคารพอภิวันท์ ระลึกคุณอนันต์ ด้วยใจนิยมบูชา ขอเดชกตเวทิตา อีกวิริยะพา ปัญญาให้เกิดแตกฉาน

ศึกษาสำเร็จทุกประการ อายุยืนนาน อยู่ในศีลธรรมอันดี ให้ได้เป็นเกียรติเป็นศรี ประโยชน์ทวี แก่ชาติ และประเทศไทย เทอญ

(นำ) ปัญญาวุฑฒิกเร เต เต ทินโนวาเท นมามิหัง

ขณะเดียวกัน วันไหว้ครูของแต่ละโรงเรียนมักมีกิจกรรมประกวดพานไหว้ครูสวยงาม และพานไหว้ครูสร้างสรรค์ ลูกเพจคนไหนได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรม ก็นำภาพสวย ๆ มาฝากอีจันด้วยนะคะ

ข้อมูลจาก : https://www.pptvhd36.com , https://th.wikipedia.org