เปิดเส้นทางสู่ Spaceport ฐานปล่อยจรวดในไทย อีก 10 ปีเริ่มใช้จริง

เปิดเส้นทางสู่ Spaceport ฐานปล่อยจรวดในไทย อีก 10 ปีเริ่มใช้จริงGISTDA ชี้ ไทยมีจุดเด่นเรื่องสภาพภูมิศาสตร์ครบถ้วนในการสร้างท่าอวกาศยาน

ข่าวการจับมือกันระหว่าง GISTDA กับ เกาหลี เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในเตรียมสร้างฐานปล่อยจรวดในไทย หรือเรียกว่า ท่าอวกาศยาน (Spaceport) ได้รับความสนใจจากคนไทยเป็นอย่างมาก

GISTDA จับมือ เกาหลี ศึกษาความเป็นไปได้ เตรียมสร้าง ฐานปล่อยจรวด ในไทย

วันนี้ อีจัน ขอนำข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำท่าอวกาศยาน หรือ Spaceport มาบอกต่อกัน

การเดินหน้าเรื่องท่าอวกาศยาน หรือ Spaceport เริ่มเมื่อช่วงกลางปี 2565 ที่ผ่านมา ประเทศไทย โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) และสถาบันวิจัยการบินและอวกาศเกาหลีหรือ KARI สาธารณรัฐเกาหลี ได้ลงนามความร่วมมือด้านกิจการอวกาศ เพื่อเป็นกรอบแนวทางความร่วมมือและแพลตฟอร์ม (platform) สำหรับการเจรจาความร่วมมือด้านอวกาศระหว่าง ไทย-สาธารณรัฐเกาหลี

โดยหนึ่งในภารกิจสำคัญที่จะดำเนินการร่วมกันคือ “การศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งท่าอวกาศยาน หรือ Spaceport ในประเทศไทย”

ท่าอวกาศยาน หรือ spaceport อาจจะเป็นคำใหม่สำหรับใครหลายคน แต่ที่เราคุ้นเคยกันก็คือ ฐานปล่อยจรวด แต่ด้วยความก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์นอกจากจะมีหน้าที่ปล่อยจรวดขึ้นสู่ห้วงอวกาศแล้ว ยังเป็นสถานที่ลงจอดหรือจุดแวะพักสำหรับอวกาศยานในอนาคต เช่น เที่ยวบินทัวร์อวกาศ เที่ยวบินข้ามทวีป เป็นต้น

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) บอกว่าประเทศไทย ตั้งอยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรประมาณละติจูด 5 – 20 องศาเหนือ ซึ่งบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตรจะเป็นผลดีต่อการส่งจรวดที่ใช้แรงเหวี่ยงจากการหมุนรอบตัวเองของโลก เพื่อเสริมความเร็วให้กับจรวด เพราะบริเวณแนวเส้นหรือใกล้เส้นศูนย์สูตร เป็นจุดที่มีความเร็วจากการหมุนของโลกเร็วกว่าจุดอื่นๆ ทำให้ประหยัดทั้งพลังงานและงบประมาณจำนวนมหาศาลในการปล่อยจรวดแต่ละครั้ง ซึ่งจรวด ที่ถูกส่งจากฐานปล่อยบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตร จะทำให้ดาวเทียมที่นำส่งไปพร้อมจรวดเข้าสู่วงโคจรได้ง่ายและเร็วขึ้น โดยเฉพาะดาวเทียมที่มีวงโคจรประจำที่ (Geostationary Orbit) ที่มีเส้นทางโคจรอยู่ในแนวเส้นศูนย์สูตรของโลกนั่นเอง

“สถานที่ที่ดีเป๊ะๆ อาจไม่มี แต่ด้วยเทคโนโลยีและความเป็นไปได้ของเราที่ใกล้ทะเล และอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรของโลก เวลาส่งยานอวกาศและส่งจรวดก็มีความสิ้นเปลืองน้อย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้ประเทศไทยมีโอกาส และเรามีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีองค์ความรู้” ดร.ปกรณ์ กล่าว

ดร.ปกรณ์ กล่าวอีกว่า แม้กระทั้ง สหรัฐอเมริกา ยังสนใจฐานปล่อยจรวด Alcantara ที่ประเทศบราซิล ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ประมาณละติจูดที่ 2 องศาใต้ จนเมื่อต้นปี 2019 ที่ผ่านมาได้มีการลงนามร่วมกันระหว่างทั้งสองประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้บริษัทพัฒนาจรวดของอเมริกาได้ใช้ฐานปล่อยฯดังกล่าว เช่นเดียวกับองค์การอวกาศยุโรป (ESA) ได้ใช้ฐานปล่อยจรวด Guiana Space Center ที่เฟรนช์เกียนา มานานร่วมทศวรรษ โดยฐานปล่อยจรวดดังกล่าวก็ตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรเช่นเดียวกัน ประมาณละติจูดที่ 5 องศาเหนือ

อีกประการหนึ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้าง ท่าอวกาศยาน คือ จำเป็นต้องเป็นพื้นที่เปิดโล่งและมีประชาชนอาศัยอยู่น้อยหรือไม่มีเลยในด้านทิศตะวันออกด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย เนื่องจากเป็นทิศที่จรวดจะต้องโคจรหลังจากที่ถูกปล่อยออกจากฐานเพื่อให้ตรงกับทิศทางวงโคจรของโลกนั่นเอง จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมฐานปล่อยจรวดส่วนมากมักจะอยู่ติดทะเลโดยเฉพาะด้านทิศตะวันออก ลักษณะเดียวกับพื้นที่ภาคใต้ฝั่งตะวันออกของประเทศไทย

โดยรวมแล้วนับว่าประเทศไทยเราถือว่ามีจุดเด่นในเรื่องของ สภาพภูมิศาสตร์ ครบถ้วนสำหรับการสร้างท่าอวกาศยาน

ท่าอวกาศยานจึงเป็นหนึ่งใน วิทยาการอันล้ำหน้า ที่จะเหนี่ยวนำให้คนไทยรุ่นใหม่หันมาใส่ใจเรียนรู้ในเรื่องของเทคโนโลยี เพิ่มขีดความสามารถและต่อยอดองค์ความรู้ด้านอุตสาหกรรมอวกาศ สู่การรังสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องชาวไทยจากฝีมือคนไทยด้วยกันเอง และนอกจากนั้นท่าอวกาศยานยังเป็นกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคตได้อีกด้วย

สำหรับเส้นทางสู่ Spaceport

การศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมในด้านต่างๆ โดยจะศึกษาขั้นตอนและกรรมวิธีในการพัฒนา Spaceport การจัดทำ Feasibility Study ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม จะใช้เวลาประมาณ 2 – 3 ปี

สร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะด้านการลงทุนในโครงการ จะใช้เวลาประมาณ 2 ปี เพื่อเปิดโอกาสให้กับภาคเอกชน ผู้ดำเนินกิจการขนส่งอวกาศเชิงพาณิชย์ได้มาส่วนร่วมในการสร้าง spaceport

ช่วงปีที่ 6 เป็นต้นไป เป็นระยะการก่อสร้าง Spaceport โดยจะพัฒนา Ecosystem และ Spaceport Environment พัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับภารกิจอวกาศแห่งชาติ ส่งเสริมเยาวชนและนักวิจัย พัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ International Cooperation การเข้าร่วมโครงการสำรวจอวกาศระดับโลก

ประมาณปีที่ 10 เปิดให้บริการระยะแรก สามารถให้บริการส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรและเพย์โหลดวิทยาศาสตร์เพื่อการทดลองงานวิจัยในอวกาศ

ทั้งนี้ จะเห็นว่างานด้านอวกาศ ถือเป็นโอกาสที่จะทำให้ประเทศเกิดการพัฒนาและเติบโตขึ้นในหลายมิติ และในอนาคตอวกาศมีแนวโน้มที่เปิดโอกาสให้บุคคลหลายภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนามากขึ้น อันจะส่งผลให้เกิดผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง เช่น การท่องเที่ยวอวกาศ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั่วทุกพื้นที่ของประเทศ การเดินทางข้ามทวีปแบบใช้เวลาสั้น เที่ยวบินทัวร์ดวงจันทร์ เที่ยวบินความเร็วสูงรอบโลก ทุกสิ่งล้วนเกิดขึ้นได้ด้วยภาพแห่งแรงบันดาลใจ และสร้างขึ้นด้วย ความมานะอุตสาหะ

ดร.ปกรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้ว่าปัจจุบันหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยยังต้องผจญกับปัญหามากมาย แต่เราต้องไม่หยุดวางอนาคตที่ดีให้คนรุ่นต่อไปตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกที่แน่นอนว่าต้องแข่งกันที่ความเหนือชั้นของเทคโนโลยี ดังคำกล่าวของ Tim Peake นักบินอวกาศชาวอังกฤษที่ว่า “การท่องเที่ยวในอวกาศ อาจถูกวิจารณ์ว่าเป็นกิจกรรมสำหรับคนรวย แต่นั่นถือเป็นจุดเริ่มต้น สิ่งที่อาจถูกมองว่าเป็นความโง่เขลา ที่มีราคาแพงในปัจจุบัน จริงๆแล้วในอนาคตอาจกลายเป็นวิธีการขนส่งที่มีประสิทธิภาพมาก”

นี่คือโอกาสและเส้นทางสู่การเป็นฐานปล่อยจรวดในไทย