รู้หรือไม่? กินยาดักไข้ เป็นความเชื่อที่ผิด

การกินยาดักไข้ เสี่ยงตับอักเสบ เช็กซิ มีความเชื่อผิดๆ อันไหนบ้าง ที่คุณยังไม่รู้

เคยเป็นไหม? เมื่อเราตากฝน หรือรู้สึกว่าจะไม่สบาย มักกินยาลดไข้ดักไว้ก่อน เพราะเชื่อว่า จะช่วยให้ไม่เป็นไข้ได้ในภายหลัง ซึ่งนั่นเป็นความเชื่อที่ผิด ซ้ำร้าย ยังถ่ายทอดกันต่อๆ มาในหลายครอบครัว

โดย นายแพทย์พจน์ อินทลาภาพร หัวหน้างานโรคติดเชื้อกลุ่มงานอายุรศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี ให้ข้อมูลว่า โดยหลักการไม่ควรทำ เพราะยาลดไข้เป็นการบรรเทาอาการเมื่อมีไข้แล้ว การกินยาดักไข้ไว้ก่อนโดยไม่รู้ว่าจะมีไข้จริงหรือไม่ ไม่ควรทำ ถ้าร่างกายไม่ได้มีไข้จริง อาจจะได้ผลข้างเคียง หรือมีโอกาสแพ้ยาได้

ทั้งนี้ หากรับประทานยาโดยไม่มีข้อบ่งชี้บ่อย ๆ ร่างกายจะได้รับยาซึ่งเป็นสารเคมีเข้าไปโดยไม่จำเป็น ถ้ารับประทานเกินขนาดหรือทานบ่อย ๆ จะได้ผลข้างเคียง เช่น ยาพาราเซตามอล ขนาด 500 มิลลิกรัม หากกินเกินวันละ 8 เม็ด ติดต่อกันเกิน 5 วัน จะส่งผลให้ตับทำงานหนัก จนเซลล์ตับถูกทำลาย และมีโอกาสเกิดภาวะตับอักเสบได้ในที่สุด

หากรู้สึกว่าจะไม่สบาย หรือกลัวเป็นไข้ควรดูแลตัวเองเบื้องต้นก่อน เช่น ดื่มน้ำเยอะๆ กินวิตามินซี พักผ่อนให้เพียงพอ

และนอกจากนี้ยังมักเจอกับความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการใช้ยา ได้แก่

– ลืมกินยามื้อหนึ่งแล้วรวบยอดไปมื้อถัดไป หรือลืมกินยาก่อนอาหารจึงเอาไปกินพร้อมยาหลังอาหารแทน

ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ เนื่องจากการกินยาแบบรวบมื้อ อาจทำให้ได้รับยาเกินขนาด และยาที่จำเป็นต้องกินก่อนอาหาร ก็จะถูกลดประสิทธิภาพลงเมื่อนำไปกินหลังอาหาร

– กินยามาก ๆ จะได้หายเร็ว ๆ

ซึ่งเป็นอีกความเชื่อหนึ่งที่อันตรายถึงชีวิต เนื่องจากการกินยาในปริมาณมาก ๆ จะทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อุณหภูมิร่างกายลดลงอย่างรวดเร็ว ปวดท้อง คลื่นไส้ หายใจขัด ชีพจรอ่อนลง ความดันโลหิตสูงผิดปกติ ง่วงนอน สับสน หรือมีอาการหนักถึงขั้นช็อก นอกจากนี้ยาบางชนิดอาจไม่ส่งผลฉับพลันแต่สะสมจนทำลายอวัยวะสำคัญได้

– โรคเดียวกัน แบ่งยากันกินได้

บางครั้งเมื่อหายจากโรคแล้วแต่ยังมียาเหลืออยู่ จึงแบ่งยาให้คนอื่นที่มีอาการเดียวกันนำไปรับประทานต่อ สิ่งนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละคนมีโรคประจำตัว พื้นฐานการทำงานของตับ ไต รวมถึงน้ำหนักตัวและปัจจัยอื่น ๆ ไม่เท่ากัน การตอบสนองต่อยาจึงแตกต่างกัน จึงไม่ควรกินยาของคนอื่น

– การกินยากับเครื่องดื่มที่ไม่ใช่น้ำเปล่า

บางคนอาจจะมองว่ากินยากับเครื่องดื่มอะไรก็ได้ แต่รู้หรือไม่ การกินยากับเครื่องดื่มอื่นอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการออกฤทธิ์ของยาได้ เช่น กินยากับนม เหล็กในนมอาจไปจับกับตัวยาบางชนิด ส่งผลต่อการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ยาบางชนิดอาจออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่

จะเห็นได้ว่าการกินยาด้วยความเชื่อที่ผิดๆ โดยไม่ตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องอย่างละเอียด ส่งผลเสียต่อสุขภาพมากมาย และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ จึงควรใช้ตามคำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร อ่านฉลากกำกับยา รับประทานยาในปริมาณที่ถูกต้อง ตรงเวลา และไม่หยุดยาเอง หากมีข้อสงสัยหรือไม่เข้าใจ ควรปรึกษาเภสัชกรหรือพบแพทย์ผู้ทำการรักษา

ข้อมูลจาก : https://www.samitivejhospitals.com , https://www.hfocus.org