กมธ.ดีอีเอส เตรียมเชิญ กสทช.ชี้แจงสัญญาณมือถือ

กมธ.ดีอีเอส เล็งเชิญ กสทช. ชี้แจงสัญญาณมือถือ หารือแก้ปัญหา สัญญาณอินเตอร์เนต หลังพบเด็กต้องนั่งเรียนกลางแดดในจุดที่มีสัญญาณ

น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร การโทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวถึงกรณี ชาวบ้านอ.เชียงคำ จ.พะเยา ต้องการให้ผลักดันย้ายเสาสัญญาณโทรศัพท์ออกห่างจากเขตชุมชน หลังจากหญิงมีครรภ์ในพื้นที่แท้งลูกแล้ว 5 ราย และบางส่วนมีอาการป่วยด้านจิตเวชว่า ในเรื่องนี้กมธ.ได้ไม่ได้นิ่งนอนใจ จะตรวจสอบเรื่องนี้อย่างละเอียดอีกครั้งเพื่อความปลอดภัยและความสบายใจของประชาชน โดยจะมีการเชิญ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มาพูดคุยว่า คลื่นวิทยุจากเสาส่งสัญญาณมือถือมีอันตรายหรือไม่ และมีมาตรฐานการติดตั้งอย่างไร มีการสำรวจปริมาณของคลื่นที่ส่งออกมาจากเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถือหรือไม่ นอกจากนี้จะมีการพูดคุยกับทาง กสทช. ถึงความครอบคลุมของสัญญาณอินเตอร์เน็ต หลังจากที่ผ่านมาชาวบ้านในบางพื้นที่ได้รับผลกระทบ ไม่มีสัญญาณโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนออนไลน์ของน้องๆในช่วงที่ต้องปิดเรียนจากสถานการณ์โควิด เช่นกรณีของ น้องวิวที่ต้องไปกางร่มนั่งเรียนออนไลน์กลางแดด เพราะบ้านไร้สัญญาณเน็ต เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ป่าละอู อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

ด้าน พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธานกมธ.ดีอีเอส กล่าวว่า ที่ผ่านมา กมธ.ดีอีเอส ได้พยายามทำงานหนักมาตลอด โดยเฉพาะเรื่องของอุปกรณ์การสื่อสารและระบบอินเตอร์เน็ต ที่ปัจจุบันถือว่ามีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตอย่างยิ่ง ทั้งในการทำงานและการเรียน โดยเฉพาะในช่วงที่เราต้องประสบกับวิกฤตโควิด การทำงานและการเรียนผ่านระบบออนไลน์ถือเป็นสิ่งสำคัญ

ดังนั้นเราจะเชิญทาง กสทช.มาชี้แจงอย่างละเอียด นอกจากนี้ในการประชุมกมธ.สัปดาห์นี้ เราได้มีการเชิญ การไฟฟ้านครหลวง กสทช. รวมทั้ง ตัวแทนจาก กทม. มาชี้แจงเกี่ยวกับกรณี แผนการจัดระเบียบสายสื่อสาร หลังจากปีที่ผ่านมาได้มีการจัดระเบียบสายสื่อสารไปบ้างแล้วในหลายพื้นที่ แต่ก็ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ยังมีปัญหา เช่น กรณีล่าสุดที่ อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี ที่ชายขี่รถจักรยานยนต์ไปเกี่ยวสายโทรศัพท์ จนรถเสียหลักล้มจนถูกรถยนต์ที่ขับตามมาทับจนเสียชีวิต กมธ.ไม่อยากให้เกิดความสูญเสียแบบนี้อีก ดังนั้นในเบื้องต้นต้องมีการสำรวจและแก้ไขในส่วนของสายที่ห้อยลงมาเกะกะก่อนอย่างเร่งด่วน จากนั้นต้องทำตามแผนการจัดระเบียบเพื่อให้ประชาชนเกิดความปลอดภัยในชีวิตมากที่สุด