ไทย จับมือ สวิตเซอร์แลนด์ ทำข้อตกลงถ่ายโอน คาร์บอนเครดิต คู่แรกของโลก

ไทย จับมือ สวิตเซอร์แลนด์ ลงนามข้อตกลงถ่ายโอน คาร์บอนเครดิต ร่วมกันเป็นคู่แรกของโลกด้วยการกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

วันที่ 26 มิ.ย. 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม มีนโยบายในการร่วมมือนานาประเทศเพื่อลดปัญหาโลกร้อน ด้วยการกำหนดเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อไปสู่เป้าหมายดังกล่าวโดยต่อเนื่อง

ล่าสุด นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ร่วมลงนามในข้อตกลงการดำเนินงานภายใต้ความตกลงปารีสระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสมาพันธรัฐสวิส (Implementing Agreement to the Paris Agreement between the Kingdom of Thailand and the Swiss Confederation) กับ นางซีมอเน็ตตา ซอมมารูกา (Ms. Simonetta Sommaruga) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม คมนาคม พลังงานและสารสนเทศ สมาพันธรัฐสวิสนับเป็นการลงนามข้อตกลงถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตร่วมกันเป็นคู่แรกของโลก

ข้อตกลงดังกล่าว เป็นการเปิดโอกาสให้ประเทศไทยกับสมาพันธรัฐสวิสดำเนินความร่วมมือภายใต้ความตกลงปารีส ข้อ 6.2 เพื่อจัดทำกรอบความร่วมมือโดยสมัครใจสำหรับการถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ โดยสมาพันธรัฐสวิสจะสนับสนุนการดำเนินโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและยานยนต์ไฟฟ้า หรือ อีบัส ในกรุงเทพมหานคร เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emissions) ภายในปี ค.ศ. 2065 ที่ประเทศไทยประกาศไว้ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP26

โดยความร่วมมือนี้ นับเป็นส่วนเพิ่มเติมนอกเหนือจากมาตรการตามเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด หรือ NDC (Nationally Determined Contribution) ของประเทศไทย ซึ่งการดำเนินงานภายใต้ข้อตกลงฯ จะช่วยให้ประเทศไทยเรียนรู้แนวทางการดำเนินงานจากโครงการฯ เพื่อนำองค์ความรู้ที่ได้รับมาต่อยอดและขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บรรลุตามเป้าหมาย NDC ของไทย อีกทั้งยังเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในประเทศเกิดความตื่นตัว และให้ความสนใจในการดำเนินกิจกรรมการลดก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศ และสามารถเข้าถึงเงินทุนระหว่างประเทศเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้

ซึ่งสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ผู้พัฒนาโครงการเพื่อได้มาซึ่งคาร์บอนเครดิต ผู้ประสงค์ซื้อขาย ทั้งหมดจะต้องผ่านการขึ้นทะเบียนกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. การกำหนดขั้นตอนในทางปฏิบัติสำหรับการใช้คาร์บอนเครดิตเพื่อวัตถุประสงค์ในประเทศ อาทิ การดำเนินการของศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิต ขั้นตอนการซื้อขายระหว่างผู้พัฒนาโครงการ ผู้ซื้อ และผู้ใช้คาร์บอนเครดิต ส่วนกรณีใช้เพื่อวัตถุประสงค์ระหว่างประเทศ ได้กำหนดประเภท ลักษณะ โครงการที่ข่ายที่จะได้รับอนุญาตให้ใช้คาร์บอนเครดิต การออกหนังสืออนุญาต ตลอดจนการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิต

ทั้งนี้ นายวราวุธ ได้กล่าวถ้อยแถลงแสดงความมุ่งมั่นและความยินดีที่ทั้งสองประเทศพัฒนาความร่วมมือและความพยายาม นับแต่การลงนามในแถลงการณ์ร่วม (Joint Statement) ร่วมกันในความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งแสดงออกถึงความตั้งใจอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก อีกทั้งคาดว่าประเทศไทยจะสามารถถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตจากโครงการดังกล่าวเป็นประเทศแรกของโลก ซึ่งข้อตกลงฯ ในวันนี้ เป็นการขยายความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของทั้งสองประเทศ ไปสู่การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและภาคส่วนอื่น เพื่อร่วมขับเคลื่อนนโยบายให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป