นักวิชาการ ชี้ เมาแล้วขับ อันตรายขั้นสุด จี้ รัฐบาล ทบทวน พ.ร.บ.สุรา

จากเหตุการณ์ นักฟุตบอลเมาแล้วขับ จนมีผู้เสียชีวิต ทำให้นักวิชาการ ต้องจี้ให้รัฐบาล ทบทวน พ.ร.บ.สุรา เพิ่มบทลงโทษ และให้ผู้ขายรับผิดชอบด้วย

จากกรณีสมาชิกสโมสรฟุตบอลแห่งหนึ่งใน จ.ชลบุรี เมาแล้วขับ จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต และตรวจพบปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกาย สูงถึง 184 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จนถูกต้นสังกัดสั่งยกเลิกสัญญากับผู้ก่อเหตุในเวลาต่อมา

ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี ตาเละ อาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ เรื่องเมาแล้วขับ เป็นปัญหาซ้ำซากในเมืองไทย ที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น เพราะหลายครอบครัวต้องตกเป็นเหยื่อ มีชะตากรรมเหมือนตายทั้งเป็น ยิ่งเหตุการณ์นี้คนดื่มแล้วขับเป็นนักกีฬาสโมสรชื่อดัง ควรเป็นต้นแบบในการดูแลสุขภาพ และสร้างความปลอดภัยให้กับสังคม ส่วนการตรวจพบแอลกอฮอล์เกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ แสดงว่านักกีฬาอาจดื่มเบียร์มากกว่า 1 กระป๋อง หรือดื่มเหล้ามากกว่า 2 ฝา เมื่อคนขับมีแอลกอฮอล์อยู่ที่ระดับ 100 – 199 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือเป็นระดับแอลกอฮอล์ในเลือดที่สูงมาก ผู้ดื่มจะมีอาการทรงตัวลดลง เดินกลับบ้านยังอันตราย ถ้าขับรถยิ่งอันตรายหนักมาก เพราะฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ทำให้ร่างกายตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมช้าลง ระบบกล้ามเนื้อทำงานไม่สัมพันธ์กับอารมณ์ เช่น เดินเซ หกล้ม ถือสิ่งของไม่ได้ ตาพร่ามัว จึงไม่ควรขับรถเด็ดขาด

ดร.นพ.มูฮัมมัดฟาห์มี  กล่าวอีกว่า เหตุการณ์นี้กับ พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า อาจจะไม่เกี่ยวข้องกันโดยตรง เพราะเป็นคดีดื่มแล้วขับ ไม่ใช่การเปิดเสรีค้าขาย แต่ในฐานะที่ตนทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสุรา ก็อยากชวนให้มองลึกไปถึงการผลิตและจำหน่าย อยากให้นำเหตุการณ์นี้รวมถึงผลกระทบทางสังคมอีกมากมาย ที่ปรากฎเป็นข่าวกันรายวัน มาเป็นส่วนหนึ่งเพื่อทบทวนร่างกฎหมายนี้อีกครั้ง เพราะท้ายที่สุดแล้ว การเพิ่มผู้ผลิตและผู้จำหน่ายในตลาด ย่อมทำให้การขาย การดื่ม เพิ่มขึ้นจากเดิม และที่สำคัญการเปิดให้ผลิตเพื่อดื่มเองได้ทั่วไป จุดนี้ยิ่งอันตราย ปัญหาผลกระทบยิ่งเพิ่มเป็นเงาตามตัว ซึ่งสิ่งที่ฝ่ายการเมืองควรขบคิดกันจริงจัง และควรทำมากกว่าในเวลานี้  คือการผลักดันให้มีกฎหมายการรับผิดชอบร่วมกัน ระหว่างผู้กระทำผิดและผู้ขาย (Dram shop liability) เหมือนในต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น หากมีคดีดื่มแล้วขับ ทุกคนที่อยู่ในรถต้องได้รับโทษเหมือนกันทั้งหมด รวมถึงการควบคุมจุดจำหน่าย การทำให้ผู้ขายต้องผ่านการฝึกอบรม พร้อมเสนอให้พิจารณาเรื่องการเอาผิดทุกคนที่เกี่ยวข้อง ในคดีดื่มแล้วขับ ตั้งแต่ คนขาย คนดื่ม และคนที่นั่งรถ แต่ยอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะการเอาผิด “ผู้ผลิต” ให้มารับผิดชอบความสูญเสีย แต่ถ้ากฎหมายสามารถทำได้ เชื่อว่าจะเป็นกติกาใหม่ที่เปลี่ยนแปลงสังคมไปในทิศทางที่ดีขึ้น

นายเจษฎา แย้มสบาย ประธานเหยื่อเมาแล้วขับกรุงเทพ กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเป็นเหยื่อจากคนดื่มแล้วขับ จนต้องพิการนั่งวิลแชร์ และปัจจุบันยังทำหน้าที่เป็นโค้ชผู้ฝึกสอนฟุตซอลให้กับเด็ก ๆ ในชุมชนย่านปทุมวัน ทีมสิงห์ลุมพินี มองว่าเรื่องกีฬากับอบายมุข รวมถึงสิ่งที่มาทำลายสุขภาพ และทำลายคุณภาพชีวิตของนักกีฬา ต้องแยกให้ขาด ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวอย่างเด็ดขาด ดังนั้นวินัยของนักกีฬาในประเด็นนี้จึงสำคัญมาก แม้ทีมที่ตนฝึกสอนอยู่จะเป็นทีมเล็กๆ แต่ก็ปลูกฝังสิ่งเหล่านี้ให้เด็กๆ ตั้งแต่เริ่มแรก ส่วนเหตุการณ์ดื่มแล้วขับของนักฟุตบอลทีมชลบุรีเอฟซี ส่วนตัวมองว่า การออกมารับผิดและร่วมรับผิดชอบของทางสโมสรนั้นเป็นเรื่องต้องทำ ในแง่ของกฎหมายก็ต้องดำเนินการให้เด็ดขาด ตนเองยังเป็นหนึ่งในแฟนบอลของทีมนี้ และติดตามให้กำลังใจมาโดยตลอด จึงอยากร้องขอให้สโมสร อย่าทำให้แฟนบอลเสียศรัทธาในทีม ควรถือโอกาสนี้ปรับปรุงกฎกติกากันครั้งใหญ่ เพื่อหาระบบที่ดีขึ้นและไม่ให้เกิดปัญหาแบบนี้อีก