เปิด 12 ข้อ ความจริง ของ ภาษี พระมหากษัตริย์

เปิดข้อมูล 12 ข้อ ภาษี ของ พระมหากษัตริย์ – ในหลวง พระราชินี ทรงไม่รับเงินปีที่รัฐบาลถวายพระองค์ละ 60 ล้านบาทต่อปี ตั้งแต่ทรงขึ้นครองราชย์

ภาพจากอีจัน

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก : HRH Princess Sirivannavari Nariratana Rajakanya

เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2563 เพจเฟซบุ๊ก โรงเรียนจิตอาสาพระราชทาน ได้โพสต์ข้อมูลการเสีย ภาษี ของ พระมหากษัตริย์ โดยเป็นบทความจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence และ Actuarial Science and Risk Management คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ภาพจากอีจัน



สำหรับบทความของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ ระบุเอาไว้ว่า

1. ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และ ทรัพย์สินส่วนพระองค์ อันเป็น พระราชมรดก ตกทอด ได้ถูกแยกขาดออกจาก ทรัพย์สิน ของแผ่นดินในสมัย รัชกาลที่ 5 ไม่ให้ปะปนกัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงปฏิวัติสยาม โปรดให้เลิกทาส ทรงให้คนสยามเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและโฉนดที่ดินได้ ทรงให้แยกพระคลังข้างที่หรือ ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ออกจาก ทรัพย์สินแผ่นดิน อย่างเด็ดขาด

2. ทรัพย์สินส่วนพระองค์ คือ ทรัพย์สินพระราชมรดก ของ พระเจ้าแผ่นดิน พระองค์นั้นเป็นการเฉพาะ ราชสกุลมหิดล มี ทรัพย์สินส่วนพระองค์ เยอะ เพราะสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ย่าของในหลวง ร.9 ทรงเป็นคนประหยัด ค้าขายเก่ง ขยันจนรัชกาลที่ 5 ตรัสเสมอว่า แม่กลางร่ำรวย สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงขยันทำนา ทำโรงสีข้าว ทอผ้าไหม (ศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อาจจะทรงดำเนินรอยตามสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าก็เป็นได้) อย่างเช่น ที่ดินหมู่บ้านสัมมากรที่รามคำแหง ก็เกิดจากสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เสด็จทางเรือไปตามคลองแสนแสบ เพื่อทรงหาซื้อที่ดินเพื่อการทำนา และต่อมาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) ก็ทรงนำมาจัดสรรให้ประชาชนที่มีสัมมาชีพมีรายได้ไม่มากนักได้มีโอกาสเป็นเจ้าของบ้าน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็น ทรัพย์สินส่วนพระองค์ ในราชสกุลมหิดลทั้งสิ้น

พระบรมฉายาลักษณ์ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าและราชสกุลมหิดล ฉายที่วังสระปทุม จากซ้าย สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร บนพระพาหาสมเด็จย่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์

3. ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ คือ พระราชมรดก ตกทอดแห่งพระมหาจักรีบรมราชวงศ์ เป็น ทรัพย์สิน ของสถาบันพระมหากษัตริย์ และย่อมจะสืบทอดต่อไปยังพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ถัดไปในอนาคต เป็นพระราชทรัพย์ของราชวงศ์จักรี หาได้เป็นทรัพย์ของแผ่นดินไม่

ที่มาของพระราชทรัพย์นี้ที่สำคัญที่สุดคือเงินถุงแดง อันเกิดจากการที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่ครั้งทรงเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ทรงแต่งสำเภาไปค้าขาย ได้เงินตราต่างประเทศมาเท่าไหร่ก็ทรงใส่ถุงแดงตีตราครั่งวางไว้ข้างพระแท่นที่บรรทม แต่ทรงค้าขายดีมีกำไรมากจนต้องมีห้องเก็บเงินถุงแดงเป็นการเฉพาะ เกิดคำว่าพระคลังข้างที่ (พระบรรทม) ขึ้นมา และเงินถุงแดงนี้ก็ได้ใช้กู้ชาติบ้านเมืองเมื่อคราวเกิดวิกฤติการณ์ รศ. 112 ที่พระพุทธเจ้าหลวงได้ทรงใช้เงินของ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเก็บไว้ให้ พระเจ้าแผ่นดิน ในอนาคตทรงกู้บ้านกู้เมืองให้ชาติไทยมีเอกราช จนทุกวันนี้ (และคนไทยยังไม่ได้ใช้หนี้เหล่านี้ถวายคืนพระบรมราชจักรีวงศ์เลยแม้แต่น้อย) นี่คือที่มาของคำว่าพระคลังข้างที่ (คือข้างที่พระบรรทม)

เงินถุงแดงข้างแท่นพระบรรทม เป็นเงินเหรียญนก ทำจากทอง ของเม็กซิโก

พระคลังข้างที่ มีส่วนผลักดันเศรษฐกิจไทยอีกมาก เช่น การก่อตั้งกิจการธนาคารในประเทศไทย คือ ธนาคารสยามกัมมาจล ใน สมัยรัชกาลที่ 5 ต่อมา คือ ธนาคารไทยพาณิชย์ ในปัจจุบัน ก่อตั้งบริษัทปูนซิเมนต์ไทยจำกัด เพื่อผลิตซิเมนต์ใช้เองในการพัฒนาประเทศ เตาเผาปูนแห่งแรกคือที่บางซื่อเป็นเตาเผาเปียก ใช้ดินขาวที่ขุดได้ที่บางซื่อเองเผาปูนซิเมนต์ กิจการทั้งสองคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ และ เครือซิเมนต์ไทยเติบโตเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างหุ้นปูนซิเมนต์ไทยมีมูลค่ามากกว่าร้อยเท่าตัวนับแต่วันที่เข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แทบจะเป็นหุ้นไทยเพียงไม่กี่ตัวที่มีมูลค่าตั้งแต่เข้าตลาด (Value since its inception) เกินกว่าร้อยเท่า

ในอดีตกรมพระคลังข้างที่ดูแล ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และ ทรัพย์สินส่วนพระองค์ ต่อมากลายเป็น สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ปัจจุบัน คือ สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ และ พระคลังข้างที่ สังกัด สำนักพระราชวัง

4. ทั้งนี้พระราชอำนาจในการจัดการพระราชทรัพย์ของพระเจ้าแผ่นดิน ได้ถูกปล้นไปโดยคณะราษฎร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โดย จอมพลแปลก พิบูลสงคราม เอาที่ดินขายให้พวกตัวเองกันในราคาถูก ๆ เอาเข้ากระเป๋าตัวเอง จนทุกวันนี้ ลูกหลานของขุนนิรันดรชัย ยังฟ้องร้องแย่งชิงมรดกที่ดินแปลงงามที่ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ไปปล้นซื้อมาราคาถูกแสนถูกจากกรมพระคลังข้างที่ แล้วก็มาลิดรอนพระราชอำนาจในการจัดการ ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ โดยการออกพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ฉบับ พ.ศ.2479 ให้นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้ดูแลรักษาการ พระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ฉบับ พ.ศ.2484 ให้กระทรวงการคลังดูแล และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน

ส่วนพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ ฉบับ พ.ศ.2491 ให้มีการจัดตั้งสำนักงาน ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน โดยตำแหน่ง ทั้งหมดนี้เป็นการลิดรอนสิทธิในการถือครองทรัพย์อันเป็นพระราชมรดก และการลิดรอนพระราชอำนาจตลอดจนสิทธิส่วนบุคคลในการถือครองทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ เพราะคณะราษฎรไม่ต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจใด ๆ เลย การยึดพระราชทรัพย์ทั้งหมดของพระเจ้าแผ่นดินกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาได้ จะทำให้พระเจ้าแผ่นดินทรงงานใด ๆ ไม่ได้เลยใช่หรือไม่ เพราะไม่มีพระราชทรัพย์ที่จะทรงงาน และที่จะพระราชทานให้เป็นประโยชน์แก่ประชาชนและสาธารณะเลยใช่หรือไม่?

ทั้งหมดนี้พูดง่าย ๆ คือไม่ต้องการให้พระเจ้าแผ่นดินทรงงาน เพราะกลัวพระเจ้าแผ่นดินจะมีพระราชบารมี และทำให้พวกตนอันมีเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงการเมืองการปกครองไปเป็นระบอบสาธารณะ ทำได้ยากมาก จะทำให้ล้มเจ้าได้ยากมาก ใช่หรือไม่?

จอมพลแปลก พิบูลสงคราม คณะราษฎร นายกรัฐมนตรีผู้ลิดรอนพระราชอำนาจในการจัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์และพระมหากษัตริย์ ตราประจำตัวจอมพลป. พิบูลสงครามคือตราไก่ (เพราะจอมพล ป. เกิดปีระกา) เอาตีนไก่เหยียบคีบคฑาจอมพลพระครุฑพ่าห์ (อันเป็นสัญลักษณ์แห่งองค์จอมทัพไทยและพระครุฑพ่าห์ คือตราแผ่นดิน)

5. พระราชบัญญัติจัดระเบียบ ทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ 2560 และ 2561 ทั้ง ทรัพย์สินส่วนพระองค์ (พระเจ้าแผ่นดินในฐานะตัวบุคคล) และทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ (พระเจ้าแผ่นดินในฐานะสถาบันพระมหากษัตริย์) ดูแลจัดการโดยสำนักงาน ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ที่เปลี่ยนมาจากสำนักงาน ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ โดยที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งกรรมการสำนักงานได้ตามพระราชอัธยาศัย

ทำให้ทรงจัดการพระราชทรัพย์ได้สะดวกและเป็นประโยชน์ได้ง่ายขึ้น
ทำให้ทรงเสียภาษีอย่างถูกต้องได้ทั้งหมด
ทำให้ทรงได้รับสิทธิ์อันชอบธรรมในการดูแลพระราชมรดกแห่งพระราชวงศ์จักรี
ทำให้ทรงงานและทรงใช้พระราชทรัพย์ในการทรงงานเพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชน สืบสาน ต่อยอด พระราชดำริแห่งในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อให้ประเทศมีการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปได้

ตัวอย่างหนึ่งคือ การที่พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานที่ดินมากมายที่เคยอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ไปเป็นสาธารณประโยชน์ และทรงยกให้หน่วยราชการจำนวนมาก โดยที่ไม่ทรงเสียดายพระราชทรัพย์แต่ประการใดเลยมีมูลค่านับหลายแสนล้านบาท ไม่ถือว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและราชการหรือ?

6. สำนักงานพระคลังข้างที่ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ยังคงดำรงอยู่ในฐานะหน่วยงานเล็กๆ ในสำนักพระราชวัง ปัจจุบันอยู่ในสังกัด กรมบังคับการสำนักพระราชวัง มีหน้าที่ดูแลเงินปีเจ้านายทุกพระองค์ ตั้งแต่หม่อมเจ้าขึ้นไปที่พระราชทาน ยังคงมีที่ดินให้เช่าอยู่บ้าง ดูแลมูลนิธิอานันทมหิดล ดูแลผลประโยชน์ของมรดกพระบรมวงศานุวงศ์แต่ละพระองค์ หรือกล่าวง่ายๆ ว่า สำนักงานพระคลังข้างที่ ไม่ได้ดูแลทรัพย์สินส่วนพระองค์และทรัพย์สินพระมหากษัตริย์แล้ว แต่ดูแลทรัพย์สินพระราชมรดกของพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนกิจการด้านการเงินอื่นๆ

7. ส่วนกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ (ปัจจุบันกระทรวงการคลัง) ดูแลทรัพย์สินของแผ่นดิน เช่น กรมธนารักษ์ ดูแลที่ราชพัสดุ เป็นต้น แต่สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์ก็ดูแลทรัพย์สินแผ่นดินอันเป็นสาธารณสมบัติของชาติที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชวงศ์จักรีด้วย อันได้แก่ เครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์ เครื่องราชูปโภค พระบรมโกศ เครื่องราชอิสริยาภรณ์ และเครื่องยศ เป็นต้น

8. เดิมทีที่ดินทุกหย่อมหญ้าในประเทศไทยย่อมเป็นของพระเจ้าแผ่นดิน อันหมายความว่าทรงเป็นพระผู้ทรงเป็นเจ้าของแผ่นดินทั่วราชอาณาจักร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระเมตตาต่อประชาชน อยากให้ประชาชนได้มีที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง จึงโปรดให้ตั้งกรมที่ดินและกรมแผนที่ขึ้น ทรงจ้างฝรั่งสองคนมาเป็นอธิบดีกรมที่ดิน (มิสเตอร์ดับบลิว เอ. เกรแฮม) และอธิบดีกรมแผนที่ (เฮนรี่ อาลาบาสเตอร์) ต้นตระกูลเศวตศิลา เพราะไทยเรายังทำแผนที่และรังวัดที่ดินไม่เป็น

ที่ราชพัสดุเป็นที่ของราชการ ดูแลโดยกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง
ที่ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์และที่ทรัพย์สินส่วนพระองค์ ดูแลโดย กรมพระคลังข้างที่ หรือปัจจุบันสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์
ที่ดินพระราชมรดกของพระบรมวงศานุวงศ์ ดูแลโดยสำนักงานพระคลังข้างที่ กรมสนับสนุน สำนักพระราชวัง
ที่เฉพาะของหน่วยราชการอื่นๆ ที่เวนคืน มาเป็นกรรมสิทธิ์ ได้แก่ ที่การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นต้น
ที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่ที่ราชพัสดุ อย่างที่นายสุรชัย ชัชวาลพงษ์พันธ์ พยายามบิดเบือน เป็นคนละส่วนกันมาตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ควรไปศึกษาประวัติศาสตร์มาให้ถูกต้องเสียก่อน

9. พระเจ้าอยู่หัว และ พระราชินี ไม่ทรงรับเงินปีที่รัฐบาลถวายพระองค์ละ 60 ล้านบาทต่อปี มาตั้งแต่ทรงขึ้นครองราชย์และสถาปนา

10. สำนักพระราชวัง ใช้เงินงบประมาณแผ่นดินเฉพาะหมวดค่าจ้างเงินเดือน หมวดค่าดำเนินการ และหมวดค่าสาธารณูปโภค

พระเจ้าอยู่หัว ทรงห้าม สำนักพระราชวัง ตั้งของบพัสดุ ครุภัณฑ์ และงบอื่นใดๆ จาก สำนักงบประมาณกระทรวงการคลัง ทั้งๆ ที่ทรงตั้งงบประมาณได้ เช่นเดียวกันกับหน่วยราชการอื่นๆ แต่ทรงไม่โปรดให้ทำเช่นนั้น

การตั้งเบิกต้องตั้งฎีกาไปที่กรมบัญชีกลางเช่นเดียวกันกับกระทรวงทบวงกรมอื่นๆ ทุกประการ ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย และต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ทุกรายการที่กฎหมายกำหนดเช่นเดียวกับประชาชนทุกคน ข้าราชการในสำนักพระราชวังแทบทุกคนที่ต้องซื้อของจะมีเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของสำนักพระราชวังเพื่อขอใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มแบบเต็มรูปแบบ หากต้องซื้อของและตั้งฎีกาเบิกเงิน

งบประมาณสำนักพระราชวังนี้ ประเทศต่าง ๆ ที่ปกครองด้วยระบอบ Constitutional monarchy ทั่วโลก ก็ต้องมีงบประมาณในส่วนนี้เหมือนกันทั้งโลก และรัฐบาลก็จัดถวายทุกประเทศทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่น the Imperial Household Agency ของประเทศญี่ปุ่น Royal Households of the United Kingdom ของสหราชอาณาจักร

ปัจจุบันสำนักพระราชวังมีบุคลากรทั้งสิ้นประมาณหนึ่งหมื่นคน และได้รับงบประมาณปีละหกพันแปดร้อยล้านบาท ซึ่งไม่ได้ถือว่ามากแต่อย่างใด

จำนวนอัตราข้าราชการในสำนักพระราชวังถูกควบคุมและจำกัดโดยกฎเกณฑ์ของสำนักงานข้าราชการพลเรือน (กพ) เช่นเดียวกับทุกกระทรวง ทบวง กรม

11. พระเจ้าอยู่หัว พระราชทานเงินท้ายที่นั่งอันเป็นดอกผลและกำไรแห่งพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ แบ่งออกเป็นบัญชีแม่บ้าน 1 และบัญชีแม่บ้าน 2 เพราะใช้ประโยชน์วัตถุประสงค์ต่างกัน และทรงใช้อย่างประหยัดมาก เช่น
– ไม่มีการให้ข้าราชการสำนักพระราชวังเบิกค่าล่วงเวลา
– การจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงข้าราชการสำนักพระราชวัง เป็นไปตามอัตราที่ทางราชการกำหนด หากไปทำงานในจังหวัดหรือท้องที่ใดๆ ที่มีการจัดที่พักของทางราชการให้หรือมีการเลี้ยงอาหารพระราชทาน ไม่ทรงให้เบิกค่าเบี้ยเลี้ยงใดๆ ทั้งสิ้น
– ห้ามมีรถประจำตำแหน่ง แม้กระทั่งองคมนตรีก็ไม่มีรถประจำตำแหน่ง มีรถหลวงให้เรียกใช้บริการเป็นส่วนกลางทุกคน มีรถพระประเทียบกลางสำหรับองคมนตรีและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในการไปทำงานแทนพระองค์
– การจะขอซื้อพัสดุหรือครุภัณฑ์ใดๆ ในสำนักพระราชวัง ใช้เงินท้ายที่นั่งที่ทรงออกเอง ต้องกราบบังคมทูลพระกรุณา ทำให้ทุกคนพยายามประหยัดให้มากที่สุด

12. พระเจ้าอยู่หัวทั้งยังทรงใช้จ่ายเงินท้ายที่นั่งเพื่อกิจการอันเป็นประโยชน์แก่ประชาชนอยู่เนืองๆ เป็นจำนวนมาก แม้เงินงบประมาณของสำนักพระราชวังขาดไปก็ทรงจ่ายเอง

หากสังเกตอินทรธนูของพนักงานสำนักพระราชวัง ที่ปัก ตัว ททน อันย่อมาจาก ท้ายที่นั่ง ให้พึงทราบว่าเงินเดือนค่าจ้างของพนักงานสำนักพระราชวังผู้นั้น พระเจ้าอยู่หัวทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จ่ายเองในการว่าจ้างพนักงานคนนั้น