กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศไทยเข้าหน้าฝนเป็นทางการ 22 พ.ค.66 นี้

กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศไทยเข้าหน้าฝนเป็นทางการ 22 พ.ค.66 สิ้นสุด ต.ค.66 คาดฝนทิ้งช่วง ทำแล้งกว่าปีก่อน ประสาน กรมชลประทาน เตรียมรับมือ

ประเทศไทยสิ้นสุดฤดูร้อน และจะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนปี 2566 ในวันที่ 22 พ.ค.66 และสิ้นสุดประมาณกลางเดือน ต.ค.66  โดย น.ส.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เผยว่า ปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศในช่วงฤดูฝนปีนี้ จะน้อยกว่าปี 2565 และจะน้อยกว่าค่าปกติประมาณ 5% (ปีที่แล้วสูงกว่าค่าปกติ 14%) โดยประมาณกลางเดือน มิ.ย.ถึงกลางเดือน ก.ค.66 จะเกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง อาจส่งผลทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรได้ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน

ส่วนในช่วงเดือน ส.ค.และก.ย.66 เป็นช่วงที่จะมีฝนตกชุกหนาแน่นที่สุด ราว 60-80% และมีโอกาสสูงที่จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 1-2 ลูก ส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ และก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งได้ สำหรับฤดูฝนของประเทศไทยตอนบนจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือน ต.ค.66 ส่วนภาคใต้โดยเฉพาะฝั่งตะวันออกจะมีฝนตกชุกหนาแน่นต่อไปอีกจนถึงกลางเดือน ม.ค.67

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา พิจารณาเงื่อนไขในการประกาศเข้าสู่ฤดูฝน ประกอบด้วย 1.มีฝนตกชุกหนาแน่นและต่อเนื่องครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ หรือ 60% ของพื้นที่ 2.ทิศทางลมตั้งแต่ระดับล่างใกล้ผิวพื้นถึงความสูงประมาณ  3.5 กิโลเมตร ได้เปลี่ยนทิศเป็นลมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งจะพัดนำความชื้นจากทะเลอันดามันเข้ามาปกคลุมบริเวณประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง และ 3.ลมชั้นบนตั้งแต่ระดับความสูง 5 กิโลเมตรขึ้นไปได้เปลี่ยนทิศเป็นลมฝ่ายตะวันออก ซึ่งถือว่าครบองค์ประกอบตามเกณฑ์การเข้าสู่ฤดูฝนของประเทศไทยแล้ว

“จากคาดการณ์สภาวะฝนทิ้งช่วง ทำให้ปริมาณฝนโดยรวมปีนี้น้อยกว่าปีก่อน เบื้องต้นกรมอุตุนิยมวิทยา ได้ประชุมร่วมกับกรมชลประทาน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือแล้ว ทราบว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนยังมีเพียงพอ อีกทั้งกรมอุตุนิยมวิทยา ได้เริ่มมีการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรใต้เขื่อนให้ช่วยกันประหยัดน้ำ และวางแผนในการเพาะปลูก โดยอาจเป็นการขยับเวลาในการเพาะปลูก หรือลดการผันน้ำเข้าพื้นที่เพาะปลูกมากเกินไป” น.ส.ชมภารี กล่าว

อย่างไรก็ตาม ช่วงวันที่ 19-25 พ.ค.66 ลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง  สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันจะมีกำลังแรงขึ้นโดยมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ระวังอันตรายจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสมที่จะเกิดขึ้น สวนชาวเรือบริเวณทะเลอันดามันควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเดินเรือในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง

“คาดการณ์ว่า มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนเข้าสู่สภาวะเอลนีโญในช่วงเดือน มิ.ย.ถึง ก.ค.66 ซึ่งจะส่งผลกระทบลักษณะอากาศของประเทศไทย โดยเฉพาะอุณหภูมิที่สูงขึ้น แต่สภาวะฝนตกจะไม่ส่งผลให้ฝนตกน้อยอย่างชัดเจน เนื่องจากยังมีสาเหตุอื่นๆ เช่น อิทธิพลของมรสุม และพายุหมุนเขตร้อน ที่ทำให้ฝนตกหนักบริเวณประเทศไทยเป็นช่วงๆ ได้  และจะต่อเนื่องไปจนถึงช่วงเดือน ธ.ค.66 ถึง ก.พ.67”

คลิปอีจันแนะนำ
เลือดจระเข้ ดีจริงหรือไม่?