กรมอุตุนิยมวิทยา เปิดค่าดัชนีความร้อน 5 จังหวัดระอุ ทะลุ 44 องศา

เข้าหน้าฝน 2 วัน กรมอุตุนิยมวิทยา เปิดค่าดัชนีความร้อน 5 จังหวัดระอุ ทะลุ 44 องศา ‘บางนา’ ยังเต็งหนึ่ง ระอุ 53.9 องศา

หลัง ‘กรมอุตุนิยมวิทยา’ ประกาศเข้าหน้าฝน อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 พ.ค.66 ที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน วันนี้ (23 พ.ค.66) กรมอุตุนิยมวิทยา ได้เผยค่าดัชนีความร้อนสูงสุดรายวัน หรือ ค่าดัชนีความร้อน ซึ่งเป็นค่าอุณหภูมิที่ร่างกายรู้สึกได้ ระหว่างวันที่ 23-25 พ.ค.66 

โดยคำนวณจากค่าอุณภูมิอากาศและความชื้นสัมพัทธ์ ถ้าความชื้นสัมพัทธ์สูงและอุณหภูมิอากาศสูง จะยิ่งทำให้ค่าดัชนีความร้อนสูงมากยิ่งขึ้นไปด้วย และร่างกายของคนเราจะขับเหงื่อออกไม่ได้ ทำให้รู้สึกร้อนมากกว่าปกติ จึงเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ หากอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน 

สำหรับวันที่ 23 พ.ค.66 ภาคเหนือ ที่ จ.เพชรบูรณ์ มีค่าค่าดัชนีความร้อน อยู่ที่ 49.6 องศาเซลเซียส ถัดมา ภาคอีสาน อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม อยู่ที่ 44.4 องศาเซลเซียส ภาคกลาง ที่เขตบางนา 53.9 องศาเซลเซียส ภาคตะวันออก ที่สัตหีบ จ.ชลบุรี อยู่ที่ 53.7 องศาเซลเซียส และภาคใต้ ที่ จ.ภูเก็ต อยู่ที่ 53.9 องศาเซลเซียส

วันที่ 24 พ.ค.66 ภาคเหนือ ที่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน มีค่าค่าดัชนีความร้อน อยู่ที่ 44.1 องศาเซลเซียส ถัดมา ภาคอีสาน อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม อยู่ที่ 41.0 องศาเซลเซียส ภาคกลาง ที่เขตบางนา 51.5 องศาเซลเซียส ภาคตะวันออก ที่สัตหีบ จ.ชลบุรี อยู่ที่ 54.3 องศาเซลเซียส และภาคใต้ ที่ จ.ภูเก็ต อยู่ที่ 48.9 องศาเซลเซียส

และวันที่ 25 พ.ค.66 ภาคเหนือ ที่ จ.พิจิตร มีค่าค่าดัชนีความร้อน อยู่ที่ 41.5 องศาเซลเซียส ถัดมา ภาคอีสาน จ.หนองคาย อยู่ที่ 40.8 องศาเซลเซียส ภาคกลาง ที่เขตบางนา 52.7 องศาเซลเซียส ภาคตะวันออก ที่สัตหีบ จ.ชลบุรี อยู่ที่ 51.3 องศาเซลเซียส และภาคใต้ ที่ จ.ภูเก็ต อยู่ที่ 53.0 องศาเซลเซียส

ขณะที่ น.ส.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา  กล่าวกับ ‘อีจัน’ ว่า แม้เข้าหน้าฝนแล้ว แต่ความร้อนยังมีอยู่ ดูได้จากพายุฤดูร้อน ลมกระโชกแรงที่เกิดขึ้นบริเวณภาคเหนือส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต เนื่องจากความเย็น ที่พัดมาจากทะเลจีนใต้กับอันดามัน มาเจอกันตรงกลางทำให้เกิดดังกล่าว ประกอบกับไม่มีลมอะไรมาช่วยระบายความร้อน แต่พอเข้าฤดูฝนลมมรสุมจะทำงานพัดพาความร้อนแฝงทำให้เกิดการระบายอากาศ  

โดยฤดูร้อนเป็นช่วงที่ความชื้นในอากาศมีน้อย ลมจะพัดจากความกดอากาศสูงไปยังความกดอากาศต่ำ แต่ถ้ามีอากาศร้อนมากๆ มีแต่ความกดอากาศต่ำ อากาศไม่เคลื่อนไหวเลย ทำให้เกิดการสะสมความร้อน พอเข้าฤดูฝน จะมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ช่วระบายอากาศร้อนที่ผิวพื้น และยังนำความชื้นมาสร้างเมฆเพื่อบังแดด และถ้าเมฆมีความชื้นมากๆ จึงตกลงมาเป็นฝน เวลาฝนตกก็ปรับอุณหภูมิผิวพื้นให้เย็นลง

ทั้งนี้ ค่าดัชนีความร้อนที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ 

ระดับเฝ้าระวัง แทนค่าดัชนีความร้อน 27-32 องศาเซลเซียส ผลกระทบต่อสุขภาพ คืออ่อนเพลีย วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวจากการสัมผัสความร้อน หรือออกกำลังกายหรือทำงานใช้แรงงานท่ามกลางอากาศที่ร้อน 

ระดับเตือนภัย แทนค่าดัชนีความร้อน 32-41 องศาเซลเซียส ผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้เกิดอาการตะคริวจากความร้อน และเกิดอาการเพลียแดดหากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน 

ระดับอันตราย แทนค่าดัชนีความร้อน 41-54 องศาเซลเซียส ผลกระทบต่อสุขภาพ มีอาการตะคริวที่น่อง ต้นขา หน้าท้อง หรือไหล่ ทำให้ปวดเกร็ง มีอาการเพลียแดด และอาจเกิดภาวะลมแดด (Heat Stroke) ได้หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน และสีแดง หมายถึง ระดับอันตรายมาก แทนค่าดัชนีความร้อน 

มากกว่า 54 องศาเซลเซียส ผลกระทบต่อสุขภาพ จะเกิดภาวะลมแดด (Heat Stroke) โดยมีอาการตัวร้อน เวียนศีรษะ หน้ามืด ซึมลง ระบบอวัยวะต่างๆ ในร่างกายล้มเหลว และทำให้เสียชีวิตได้หากสัมผัสความร้อนติดต่อกันหลายวัน

คลิปอีจันแนะนำ
แม่ตาบอด ยายถูกตัดขาชีวิตอนาถา ไม่มีแม้เงินซื้อยากันยุง