
วันที่ 7 พ.ย.66 แล้ว แต่ฤดูหนาวก็ยังไร้วี่แววจะมาเยือน
ล่าสุด ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์อัปเดตสถานการณ์เอลนีโญในช่วงฤดูหนาว ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ไว้ว่า…
ตอนนี้เราเข้าเอลนีโญแบบเต็มๆ เดือนพฤศจิกายน/ธันวาคม/มกราคม นี่แหละคือเดือนโดนหนัก โดยเอลนีโญจะเบาลงเมื่อถึงเดือนกุมภา แต่อาจลากยาวไปถึงเดือนพฤษภาคม น้ำทะเลยังคงร้อนผิดปรกติในอ่าวไทย
ปะการังจะฟอกขาวหรือไม่ ? ไปลุ้นกันในเดือนเมษา/พฤษภาคม
ดร.ธรณ์ ระบุว่า ส่วนเรื่องใกล้ตัวหนาวนี้เป็นยังไง ใน 3 เดือนจากนี้ เมืองไทยจะ Warm และ Warm & Dry ภาคเหนือ/อีสานจะไม่ค่อยหนาว ตอนนี้เข้าใกล้กลางเดือนพฤศจิกายนแล้ว กรมอุตุยังไม่ประกาศหน้าหนาว เผลอๆ อาจดีเลย์ไปเกือบเดือน (ปีก่อนประกาศตอนวีคสุดท้ายของตุลาคม)
สำหรับนักเที่ยวที่เคยดื่มด่ำกับลมหนาวเดือนพฤศจิกายนเมื่อปีก่อน ปีนี้อาจน้ำตาคลอน้อยๆ โดยเดือนเดียวที่หวังได้คือธันวาคม ลมหนาวอาจโชยมา ขอจงเตรียมตัวล่วงหน้า
ส่วนคนที่ต้องการไปเที่ยว ต้องเห็นใจผู้ประกอบการด้วย เพราะหน้าหนาวสั้น แถมฤดูฝุ่นไฟอาจยาว
ในเขต warm & dry จะทาบทับลงมาในพื้นที่ภาคใต้ ที่ปกติฝนจะมาช่วง พ.ย.66 - ม.ค.67 หลายฝ่ายออกมาเตือนแล้วว่า ปีนี้ฝนจะน้อยกว่าปกติ นอกจากน้ำเพื่อการเกษตร อุปโภคบริโภค เรายังต้องการน้ำอีกมากเพื่อการท่องเที่ยว โดยเฉพาะตามเกาะต่างๆ ที่นักท่องเที่ยวเยอะแต่มีน้ำจำกัด ราคาค่าน้ำอาจกลายเป็นต้นทุนสำคัญ และอาจเห็นชัดเจนขึ้นใน ม.ค.-มี.ค.66 ซึ่งเป็นช่วงพีกของการเที่ยวทะเล
เมื่อเราเข้าใจผลของเอลนีโญ เราก็จะเข้าใจว่าทำไหมลมหนาวจึงมาช้า อดทนรอนะคะ