ดัชนีความร้อนระอุ พรุ่งนี้ (9 เม.ย.66) ‘กระบี่’ ทะลุ 54 องศาเซลเซียส

กรมอุตุนิยมวิทยา เปิดค่าดัชนีความร้อน (9 เม.ย.66) 5 จังหวัดระอุ ‘กระบี่’ ทะลุ 54 องศาเซลเซียส

หลัง ‘กรมอุตุนิยมวิทยา’ ประกาศเข้าหน้าร้อนอย่างเป็นทางการของไทยปีนี้ เมื่อวันที่ 5 มี.ค.66 ที่ผ่านมา อุณหภูมิความร้อนทั้งบ้าน ทั้งเมืองก็ระอุขึ้น

โดย น.ส.ชมภารี ชมภูรัตน์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวกับ ‘อีจัน’ ว่า ปีนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่า จะร้อนกว่าปีที่ผ่านๆ มา โดยอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 40-43 องศาเซลเซียล

ทั้งนี้ จากสถิติปี 59 สถานการณ์ความร้อนในจังหวัดที่อุณหภูมิสูงเกิน 40 องศาเซลเซียล ติดต่อกัน 20 วันขึ้นไป พบว่า มีทั้งสิ้น 12 จังหวัด บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ สุโขทัย ลำปาง อุตรดิตถ์ แพร่ ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี เพชรบูรณ์ ลพบุรี และหนองคาย

ดังนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา จึงร่วมกับ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จัดทำพยากรณ์ค่าดัชนีความร้อน เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับการเฝ้าระวังผลกระทบจากสถานการณ์ความร้อนที่จะเกิดขึ้น

สำหรับวันที่ 8 เม.ย.66 พบว่า จังหวัดที่มีดัชนีความร้อนสูงสุดรายภาค ดังนี้ 

ภาคเหนือ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน อยู่ที่ 39.1 องศาเซลเซียล

ภาคอีสาน จ.ศรีสะเกษ อยู่ที่ 38.8 องศาเซลเซียล 

ภาคกลาง เขตบางนา กทม. อยู่ที่ 47.4 องศาเซลเซียล 

ภาคตะวันออก จ.ชลบุรี อยู่ที่ 47.6 องศาเซลเซียล 

ภาคใต้ จ.ภูเก็ต อยู่ที่ 45.4 องศาเซลเซียล

ส่วนในวันที่ 9 เม.ย.66 จังหวัดที่มีดัชนีความร้อนสูงสุด ได้แก่ 

ภาคเหนือ จ.เพชรบูรณ์ อยู่ที่ 44.3 องศาเซลเซียล

ภาคอีสาน อ.โชคชัย จ.นครราชสีมา อยู่ที่ 41.3 องศาเซลเซียล

ภาคกลาง เขตบางนา กทม. อยู่ที่ 50.2 องศาเซลเซียล

ภาคตะวันออก จ.ชลบุรี อยู่ที่ 43.2 องศาเซลเซียล

ภาคใต้ จ.กระบี่ มากกว่า 54 องศาเซลเซียล

ทั้งนี้ ค่าดัชนีความร้อน เป็นค่าอุณหภูมิที่ร่างกายรู้สึกได้ โดยคำนวณจากค่าอุณภูมิอากาศและความชื้นสัมพัทธ์ ถ้าความชื้นสัมพัทธ์สูงและอุณหภูมิอากาศสูง จะยิ่งทำให้ค่าดัชนีความร้อนสูงมากยิ่งขึ้นไปด้วย และร่างกายของคนเราจะขับเหงื่อออกไม่ได้ ทำให้รู้สึกร้อนมากกว่าปกติ จึงเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ หากอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน

โดยแบ่งเป็น 4 ระดับ ดังนี้

ระดับเฝ้าระวัง แทนค่าดัชนีความร้อน 27-32 องศาเซลเซียล ผลกระทบต่อสุขภาพ คืออ่อนเพลีย วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวจากการสัมผัสความร้อน หรือออกกำลังกาย หรือทำงานใช้แรงงานท่ามกลางอากาศที่ร้อน

ระดับเตือนภัย แทนค่าดัชนีความร้อน 32-41 องศาเซลเซียล ผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้เกิดอาการตะคริวจากความร้อน และเกิดอาการเพลียแดดหากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน 

ระดับอันตราย แทนค่าดัชนีความร้อน 41-54 องศาเซลเซียล ผลกระทบต่อสุขภาพ มีอาการตะคริวที่น่อง ต้นขา หน้าท้อง หรือไหล่ ทำให้ปวดเกร็ง มีอาการเพลียแดด และอาจเกิดภาวะฮีทสโตรกได้หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน

ระดับอันตรายมาก แทนค่าดัชนีความร้อน มากกว่า 54 องศาเซลเซียล ผลกระทบต่อสุขภาพ จะเกิดภาวะฮีทสโตรก โดยมีอาการตัวร้อน เวียนศีรษะ หน้ามืด ซึมลง ระบบอวัยวะต่างๆ ในร่างกายล้มเหลว และทำให้เสียชีวิตได้หากสัมผัสความร้อนติดต่อกันหลายวัน

“สังเกตอากาศตัวเอง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ควรลดกิจกรรมกลางแจ้ง หากจำเป็นควรสวมหมวก แว่นกันแดด สวมเสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี หากทำงานกลางแจ้งควรทำงานเป็นกลุ่ม ขณะเดียวกัน ควรหลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ สุรา น้ำอัดลม และดื่มน้ำสะอาดบ่อยๆ”
น.ส.ชมภารี กล่าว

ทั้งสภาพอากาศที่ร้อนจัด และปัญหาฝุ่นพิษที่คละคลุ้ง ส่งผลกระทบต่อสุขภาพไม่น้อย ขอให้ทุกคนดูแลรักษาสุขภาพให้มากขึ้นด้วยนะคะ

คลิปอีจันแนะนำ
แฮ็กเกอร์ 9near เจาะข้อมูลจากหมอพร้อม?