
(20 พ.ค. 68) นายรังสิมันต์ โรม รองหัวหน้าพรรคประชาชน โพสต์ข้อความผ่านโซเชียล เปิดรายงานตรวจสอบข้อเท็จจริงของจเรตำรวจ ซึ่งพบว่ามีขบวนการเจ้าหน้าที่ตำรวจ เกี่ยวข้องกับการวิ่งเต้นเพื่อช่วยเหลือ สว. ทรงเอ ให้รอดพ้นจากคดี โดยต่อเนื่องจากโพสต์กล่าวชื่นชมการทำงานของสำนักคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ที่มีคำสั่งพิพากษาลงโทษ 3 ผู้พิพากษา ที่เกี่ยวข้องกับคดี สว.ทรงเอ เมื่อไม่นานมานี้

โพสต์ระบุว่า
ต่อเนื่อง (ยาวหน่อย แต่ผมอยากให้อ่านให้จบ เพราะมันคือมุมมืดที่ทุเรศอย่างที่สุดที่เกิดขึ้นในองค์กรตำรวจไทยที่ยังไม่มีใครต้องรับผิดชอบ) จากกรณีที่คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (กต.) มีมติผู้พิพากษาที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการแทรกแซงการเพิกถอนหมายจับ สว.ทรงเอ ออกจากราชการ นั้น ผมได้รับรายงานการตรวจสอบข้อเท็จจริงของจเรตำรวจที่ได้ตรวจสอบเรื่องนี้ ว่ามีตำรวจนายใดบ้าง เข้าไปเกี่ยวข้องกับการวิ่งเต้นเพื่อช่วยเหลือ สว. ทรงเอ ให้รอดพ้นจากคดี
ข้อความต่อนี้ไป ผมก็อยากฝากไปถึงนายกรัฐมนตรี และบิ๊กต่าย ผบ.ตร. องค์กรตำรวจของท่านมันเละเทะอย่างไร
ตามรายงาน 67 หน้าของจเรตำรวจสมัย พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ (อันนี้ต้องชื่นชมว่าได้ทำหน้าที่ในการสร้างความกระจ่างเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา) พบว่ามีตำรวจระดับสูงหลายคนเข้าไปเกี่ยวข้องกับการแทรกแซงคดีทุนมินหลัดและ สว. ทรงเอ
อันนี้ปรากฎตามรายงานของจเรนะครับ ในหน้า 2
“… พ.ต.ท. มานะพงษ์ กับพวก…ได้ทำการตรวจค้นจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับ สามารถจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับได้ทั้งสิ้น 4 คน… จากนั้นได้โทรศัพท์รายงาน พล.ต.ต.นพศิลป์ ทราบ ต่อมาเวลาประมาณ 10.00 น. ขณะที่กำลังซักถามพูดคุยกับนายทุน มิน หลัด ได้โทรศัพท์พูดคุยกับ พล.ต.ต. นพศิลป์ และได้รับแจ้งว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ในขณะนั้น กล่าวว่า พ.ต.ท. มานะพงษ์ฯ เข้าใจผิดว่าเครือข่ายของนายทุน มิน หลัด เป็นเครือข่ายยาเสพติดและการฟอกเงิน แต่นายทุน มิน หลัด และพวกทำธุรกิจโดยสุจริต…” => พล.ต.อ.สุวัฒน์รู้ได้อย่างไร ในเมื่อไม่ได้ทำคดีเอง?

“…พล.ต.ต.นพศิลป์ฯ ได้เรียก พ.ต.ท. มาระพงษ์ฯ ไปพบที่ห้องทำงานพร้อมพยานหลักฐาน เมื่อไปพบ พล.ต.ต.นพศิลป์ฯ ได้ยืนยันอีกครั้งว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ฯ สั่งการให้ตรวจสอบพยานหลักฐานหนักแน่นหรือไม่…ทราบว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ฯ สั่งการให้ พล.ต.ต.สันติฯ มาตรวจสอบพยานหลักฐาน เนื่องจากเชื่อว่า เครือข่ายของนายทุนมินหลัด ไม่ได้กระทำความผิด…”
“พ.ต.ท. มานะพงษ์ฯ ได้รับทราบจาก พ.ต.อ. กฤศณัฏฐ์ ว่า นาย ขอให้หยุดดำเนินคดีกับบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไป…จากสอบถามในภายหลัง นาย ที่ พ.ต.อ.กฤศณัฏฐ์ฯ กล่าวถึงคือ พล.ต.ต. นพศิลป์ฯ”
เอาแค่ หน้าที่ 2 ของรายงานของเจรที่สอบในเรื่องนี้ จะเห็นได้ว่า มีตัวละคร 2 คนหลักๆที่เข้ามาเกี่ยวกับเรื่องนี้ นั่นคือ พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข และ พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ เข้ามาเกี่ยวข้อง และแปลกมากๆที่มาทำหน้าที่ช่วยรับประกันแทนผู้ต้องหาและเครือข่ายในเวลานั้น นอกจากนี้มีการใช้อำนาจในการสั่งการให้ยุติดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องต่อไป จะมีก็เฉพาะบุคคลตามหมายจับเท่านั้นที่ให้ทำคดีต่อไปได้ นั่นหมายความว่า บุคคลที่ยังไม่ออกหมายจับ ในเวลานั้น คือ สว. ทรงเอ จะไม่ถูกดำเนินคดีนั่นเองตามความหมายของคำสั่งใช่หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ก็ถูกยืนยันผ่านการโทรไปซักถาม ของ พล.ต.ต.นพศิลป์ฯ ต่อ พ.ต.ท.มานะพงษ์ฯ ในวันที่ 18 กันยายน 2565 เวลากลางคืน ว่า เหตุใดถึงมีการซักถามพาดพิงไปถึงนายอุปกิตฯ “ไหนว่าเราตกลงกันแล้วว่าจะไม่ขยายผลต่อ” => แทรกแซงการทำคดีอย่างชัดเจน ใครได้ประโยชน์?
เรื่องนี้ยิ่งพัวพันไปไกล เมื่อพบว่า อาจจะมีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ สว. ทรงเอ ที่ไม่ใช่แค่ พล.ต.อ. สุวัฒน์ฯ เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงอดีตนายทหารระดับสูงของกองทัพบก ซึ่งข้อมูลเหล่านี้อยู่ในเอกสารที่เป็นพยานหลักฐานที่นายทุนมินหลัดได้เซ็นรับรองเอาไว้ โดยเมื่อ พล.ต.ต.นพศิลป์ทราบเรื่องได้มีการสั่งการให้ พ.ต.ท.มานะพงษ์ฯดึงเอกสารดังกล่าวออกจากสำนวน แต่ทาง พ.ต.ท.มานะพงษ์ฯ ปฏิเสธที่จะทำตาม ทั้งนี้ “พล.ต.อ.สุวัฒน์ฯ ได้ให้ดำเนินการดึงเอกสารที่เกี่ยวข้องกับตนเองออก” นอกจากนี้ในเอกสารายงานของจเรหน้า 12 ยังระบุว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ฯ ได้กล่าวต่อ พล.ต.ต.นพศิลป์ฯว่า “อะไรที่ทำให้พวกเราเดือดร้อนให้เอาออก”
“…พ.ต.ท.มานะพงษ์ฯได้ทราบจากว่าที่ พ.ต.ต. ทีปกรฯ ว่า พล.ต.อ. สุวัฒน์ฯ ได้สั่งการให้ดึงเอกสารที่เกี่ยวข้องกับคดีจำนวนประมาณ 10-20 แผ่นออกที่ห้อง ผบช.ปส. โดยภายในห้องมีเพียงแค่ 3 คน ได้แก่ พล.ต.ท.สรายุทธ สงวนโภคัย ผบช.ปส. พล.ต.ต.นพศิลป์ฯ และว่าที่ พ.ต.ต.ทีปกรฯ…” นอกจากนี้ยังปรากฎว่า “…ขณะที่นำตัวผู้ถูกจับทั้งสี่คนไปส่งที่ห้อง ผบช.ปส. ได้พบว่านายอุปกิตฯและพวกนั่งอยู่ที่ห้องรับรองของ ผบช.ปส. อยู่ก่อนแล้ว…” และอย่างที่เราทุกคนทราบกันว่า ในภายหลังได้มีการขอออกหมายจับนายอุปกิต ซึ่งในตอนแรกศาลออกให้ แต่ในวันเดียวกันห่างกันไม่กี่ชั่วโมงก็ปรากฎว่ามีการถอนหมายจับ โดยผู้พิพากษาที่มีบทบาทอย่างสำคัญต่อเรื่องนี้คือ นายอรรถการ ฟูเจริญ รองอธิบดี ผู้พิพากษาศาลอาญา และอย่างที่เราทราบกันว่าวันนี้ กต. มีมติให้ผู้พิพากษาท่านนี้ออกจากราชการ
โดยรายงานฉบับนี้ของจเรได้สรุปผลการทำรายงานเอาไว้ในหน้า 59 ซึ่งเป็นประเด็นการแทรกแซงการสืบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานของอดีตผู้บังคับบัญชาและนายตำรวจระดับสูงของ ตร. โดยชี้ว่า คณะกรรมการฯได้ประชุมปรึกษากันอย่างละเอียดรอบคอบและเป็นธรรมแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ในประเด็นนี้ว่า กรณีเป็นที่สงสัยว่า พล.ต.ต.นพศิลป์ พล.ต.ต.ธีรเดชฯ พล.ต.อ.สุวัฒน์ฯ พล.ต.ท.สรายุทธฯ และว่าที่ พ.ต.ต.ทีปกรฯ กระทำผิดวินัย เห็นควรดำเนินการทางวินัยกับข้าราชการตำรวจดังกล่าวตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ต่อไป
จริงๆยังมีอีกหลายประเด็นที่ที่ชี้ให้เห็นว่ามีตำรวจอีกหลายคนที่กระทำการผิดวินัย มากไปกว่านั้น ถ้าดำเนินคดีกันอย่างตรงไปตรงมา ผมเชื่อว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ความผิดทางวินัยเท่านั้น แต่ต้องมีความผิดทางอาญาตามมาด้วย และแน่นอนอายุความในคดีอายายังมีอยู่..

ทั้งนี้ นายรังสิมันต์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เรื่องนี้ สำหรับผมแล้ว มันสะท้อนถึงการทุจริตคอรัปชั่น ที่เกิดขึ้นในองค์กรตำรวจ และองค์กรยุติธรรมอีกหลายๆองค์กร นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไม เราถึงปราบยาเสพติดไม่ได้ เราปราบทุนสีเทาไม่ได้ เพราะวันนี้ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองล้วนเป็นคนเทาๆแทบทั้งสิ้น ลองคิดดู ในรายงานของจเรชิ้นนี้ ระบุถึงขนาดว่า นับตั้งแต่ พ.ต.ท.มานะพงษ์ฯมาดำรงตำแหน่งเมื่อปี 2561-2565 มีการจับกุมผุ้กระทำความผิดยาเสพติดประมาณ 100 คน ยึดยาเสพติดอย่างยาบ้าได้ประมาณ 80 ล้านเม็ด ไอซ์ 4 ตัน ทรัพย์สินเกี่ยวเนื่องยาเสพติดประมาณ 2000 ล้านบาท คนที่ทำผลงานได้ขนาดนี้ กลับถูกย้าย ถูกแทรกแซงการทำงาน จนตอนนี้เครือข่าย สว. ทรงเอ ไม่ได้มีการขยายผลต่อ ใครคือ อดีต ผบ.ทบ. ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ รับเงินยาเสพติดไปใช้ในรายวันหรือไม่ ไม่มีการตรวจสอบ ไม่มีการดำเนินคดี ตำรวจดีๆ ถูกกลั่นแกล้ง ตำรวจชั่วๆกลับได้ดี เรื่องนี้อาจจะผ่านมาพอสมควรแล้ว แต่เรากลับไม่เห็นความคืบหน้าอะไรของการปัดกวาดองค์กรตำรวจเลย ตำรวจยศสูงตามรายงานของจเรยังคงโบยบินอยู่เหนือการตรวจสอบ
ผมอยากให้ท่านนายกมาจัดการเรื่องนี้ ผมอยากให้บิ๊กต่ายดำเนินการตามกฎหมาย แล้วอย่าอ้างว่าไม่รู้ เพราะ รายงานนี้ต้องอยู่ในมือของท่านแล้ว
ขอบคุณข้อมูล : เฟซบุ๊ก Rangsiman Rome – รังสิมันต์ โรม