
ตีลังกาเล่าข่าว โดย กรรณะ
ในประเทศไทยจะมีเดือนที่เรียกว่าเดือนเดือดทางการเมือง หากเป็นในอดีตก็คือเดือน “ตุลาคม” ที่มักจะมีเรื่องร้อนจนกระทั่งเหตุโศกนาฏกรรมกลางเมืองที่ถูกจารึกในประวัติศาสตร์ถึงสองครั้งสองคราแต่มายุคปัจจุบันคนจะจับตาดูเดือน พ.ค. ที่มักจะเป็น “เดือนเดือด” เพราะไล่มาตั้งแต่เหตุ “พฤษภาทมิฬ” ปี 2535 หรือการ “รัฐประหาร 22 พ.ค. 2557”
สำหรับปีนี้แล้วหลายคนประเมินว่าไม่น่าจะใช่เดือนเดือด แต่น่าจะเป็นเดือนที่เร่งเร้าสถานการณ์หลายๆอย่างก่อนที่จะนำไปสู่บทสรุปในอนาคตอันใกล้
ส่งท้ายเมษายนสู่พฤษภาคมด้วยเรื่องร้อนที่เริ่มมากจากการจับกุม ดร.พอล แชมเบอร์ นักวิชาการสหรัฐอเมริกาในข้อหาตามมาตรา 112 ซึ่งขยายผลมาสู่การเปิดโปงผังเป้าหมาย IO ของทหาร ซึ่งจะไม่แปลหากมีชื่อหลายคน แต่น่าแปลกใจตรงที่มีสองคนสำคัญในการเมืองตกเป็นเป้าหมายในผังนี้ และถูกระบุว่าเป็นกลุ่ม “แอบอ้าง”
หนึ่งคือ “นายทักษิณ ชินวัตร” บิดาของนายกรัฐมนตรี และอีกหนึ่งคือ “รองหนูฯ อนุทิน ชาญวีรกูล” และอีกหนึ่งคือ “ธรรมนัส พรหมเผ่า” ซึ่งต้องยอมรับว่าเมื่อมีข่าวหลุดออกมาเช่นนี้ถือเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรงไม่น้อย
ทั้งสามถือเป็นคีย์แมนในรัฐบาลชุดปัจจุบัน แต่คนที่ดูเหมือนจะบาดเจ็บจากเรื่องนี้มากที่สุดคือ “รองหนูฯ”
ทั้ง “ทักษิณ” และ “ธรรมนัส” เชื่อได้ว่าไม่พอใจกับการถูกจัดกลุ่มเช่นนี้เพราะที่ผ่านมาเขาพยายามแสดงให้เห็นมาตลอดว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะ “ทักษิณ” ที่เจ็บช้ำกับเรื่องเช่นนี้ไม่นาน

แต่กับ “รองหนูฯ” ถึงนาทีนี้กลุ่มก้อนการเมืองของเขาถูกยกเป็น “ขวาใหม่” และทำท่าจะกลายเป็นหัวหอกในการเลือกตั้ง หลังจาก “ขวาเก่า” อย่าง ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ หรือ รวมไทยสร้างชาติ สิ้นท่าหมดฤทธิ์
ทำให้งานนี้เจ้าตัวอยู่ไม่ติดและโพสต์เฟซบุ๊กว่า “อย่าได้ทำรายงานชุ่ยๆ”
ขณะที่ กอ.รมน. ก็ชี้แจงเพียงว่าว่าเป็นรายงานที่ทางเจ้าหน้าที่ที่รวบรวมข้อมูลข่าวสารมาและนำไปใส่ผิด
งานนี้ชี้ให้เห็นว่า แม้นักการเมืองจะมีท่าทีอย่างไร แต่ฝ่ายกองทัพกลับไม่ได้มองเห็นในภาพเดียวกันและมีความไม่ไว้วางใจอยู่สูง ดังนั้นจากเหตุการณ์เช่นนี้ก็เห็นได้ชัดว่าเสถียรภาพความมั่นคงของรัฐบาลอยู่ในระดับใด และ กองทัพ มองรัฐบาลในสถานะไหน แต่แปลได้ง่ายๆว่าไม่ดีนัก
จากนั้นเข้าสู่ช่วงรอยต่อกลางเดือนจะเป็นการเมืองท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งนายก และ สมาชิกสภาเทศบาลทั่วประเทศ
จริงอยู่แม้ไม่ใช่การเมืองระดับชาติ แถมตอนนี้หากมองวาระสภาผู้แทนฯ ก็ยังเหลืออีกตั้งสองปี แต่ต้องบอกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้สำคัญไม่น้อย
ที่สำคัญเพราะแม้ทุกคนจะบอกว่าเหลือสองปี แต่ใครจะมั่นใจว่าเหลือสองปีจริงในสภาพการณ์เช่นนี้ และต่อให้เหลือสองปี นาทีนี้ก็เป็นนาทีของการเตรียมการ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกผู้สมัคร การทำพื้นที่
เวทีเลือก “เทศบาล” จึงเป็นทั้งโชว์พลังของ “หัวคะแนน – บ้านใหญ่ – ว่าที่ผู้สมัคร” หากใครทำได้ไม่ดี โอกาสจะหลุดวงโคจรก็มีสูง
แต่ในทางตรงกันข้ามหากทำได้ดี หรือยึดฐานที่มั่นได้อย่างมั่นคง บอกได้เลยว่า “หัวกระไดไม่แห้ง” ยิ่งหากเป็นพื้นที่ที่แข็งปั๋ง เราอาจได้เห็น “พญาราชสีห์” เดินไปหา “หนู” ถึงบ้านเพื่อขอให้ช่วยเหลือในการเลือกตั้งใหญ่กันเลยทีเดียว และแน่นอนราคาที่จ่ายก็ต้องจะสมน้ำสมเนื้อ เพราะดีไม่ดีบ้านของ “หนู” อาจะไม่ได้ “พญาราชสีห์” ตัวเดียวที่ไปเยือน

ถัดมาอีกสัปดาห์กว่าๆ หรือในวันที่ 20 พ.ค. สภาก็จะเปิดสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 ในวาระแรก
หากเป็นสมัยอื่นหรือปีอื่นอาจจะไม่ดุเดือดมาก แต่กับปีนี้จะต่างออกไปด้วยสองเหตุผล
เหตุผลแรกคือ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยที่อยู่ในสถานะที่ไม่ดีเอาเสียเลยและถูกซ้ำเติมดัวย “ภาษีตอบโต้” จากมหาอำนาจสหรัฐอเมริกา ที่ถึงวันนี้อย่าว่าแต่หาข้อยุติเลย การเข้าสู่กระบวนการเจรจายังทำไมได้ขณะที่หลายประเทศก็เดินหน้ากันโครมๆ
ส่วนไทยยังติดกับดักการแบ่งแยกระหว่างฝ่ายความมั่นคงกับฝ่ายเศรษฐกิจ ทำให้ทุกอย่างดูลำบากยากเย็น

และเมื่อเศรษฐกิจดูท่าจะฟุบยาว การจัดงบประมาณ จึงต้องเป็นการจัดงบประมาณพิเศษแบบหวังผลว่า “เม็ดเงิน” ที่ลงไปจะต้องเข้าเป้า
• แต่ก็ยังไม่มีใครเห็นว่านาทีนี้จะเป็นการจัดงบแบบ “สถานการณ์พิเศษ” ยิ่งทำให้ความหวังเรื่องเศรษฐกิจยิ่งริบหรี่
ส่วนเหตุผลที่สองคือ “เสถียรภาพรัฐบาล” ที่ง่อนแง่นเสียเหลือเกิน “เพื่อไทย – ภูมิใจไทย” ยังอยู่ในสถานะ “เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด” จัดหนักทุกดอกแล้วบอกรักกัน ทำให้คอการเมืองมั่นใจว่าหลังการอภิปรายงบประมาณวาระแรกน่าจะมีการปรับ ครม. และ มีการจับตาว่าอาจจะมีความพยายามยึดบางกระทรวงคืน เพื่อเปิดทางสู่การเลือกตั้ง โดยมีเครื่องมือหลักคือ จำนวน สส. ที่กำลังจะเพิ่มขึ้นของรัฐบาล
ขณะที่สถานการณ์ของสภาสูงที่เป็นเหมือนเนื้อเดียวกับพรรคภูมิใจไทยเองก็ตุ๊มต่อมๆ เมื่อ ดีเอสไอ เดินหน้าสอบกรณี “ฮั้วเลือก สว.” และคาดว่าจะมีการเรียก สว. บางคนเข้าให้การในคดีนี้ จึงยิ่งทำให้การเมืองทวีความร้อนแรงมากขึ้น
หากเปรียบการเมืองช่วงนี้เป็นภาพยนตร์ เดือน พ.ค. ก็ยังอาจจะยังไม่ใช่ไคลแม็กซ์ แต่นี่คือช่วงปูเรื่องและจุดหักเหสำคัญต่างๆ จะอยู่ในช่วงนี้ ที่หากพลาดรายละเอียดไป อาจทำให้ไม่เข้าใจหรือมองภาพจุดจบพลาดไปได้