รวมความเคลื่อนไหว ว่าที่ผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม. หลังการ ประกาศเลือกตั้ง

รวมความเคลื่อนไหว ว่าที่ผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม. หลัง กกต. ประกาศเลือกตั้ง อย่างเป็นทางการ

ภายหลังจากที่ ราชกิจจานุเบกษา ได้ออกประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการจัดการเลือกตั้ง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพฯ อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 65 ที่ผ่านมา

ราชกิจจาฯ ประกาศ กำหนดให้มี การเลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม.

จนถึงวันนี้ (29 มี.ค. 65)เหล่าบรรดาว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม. ก็เริ่มทยอยเคลื่อนไหว เดินหน้าเก็บข้อมูลปัญหาต่างๆ ในหลายๆพื้นที่ รวมทั้งหาเสียง ก่อนจะถึงวันรับสมัครอย่างเป็นทางการ

เริ่มกันที่ นายสกลธี ภัททิยกุล ว่าที่ผู้สมัครในนาม อิสระ กับสโลแกน “กรุงเทพดีกว่านี้ได้” ซึ่งในวันนี้ ได้ลงพื้นที่เพื่อพบปะพูดคุยกับประธานและกรรมการของ 3 หมู่บ้านในพื้นที่เขตหลักสี่ เพื่อเป็นตัวแทนนำเสนอนโยบายสำหรับหมู่บ้านจัดสรรและพื้นที่เอกชน ซึ่งพบว่าหมู่บ้านจัดสรรจะมีปัญหาเหมือนๆ กัน คือการยกที่ให้เป็นสาธารณะ เพื่อให้งบประมาณของ กทม. เข้ามาดูแล ในเรื่องสาธารณูปโภค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องถนนหรือท่อระบายน้ำเป็นไปได้ยาก รวมถึง ถ้าไม่ยินยอมยกให้เป็นทางสาธารณะ งบประมาณของ กทม.จะลงมาดูแลไม่ได้ สร้างความเดือดร้อนและขาดการพัฒนา ทั้งๆ ที่ทุกคนได้เสียภาษีให้กับทางรัฐบาลเหมือนๆ กัน

ขณะที่นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ผู้สมัคร ในนามพรรคก้าวไกล กับสโลแกน “กรุงเทพฯ เมืองที่คนเท่ากัน” ได้โพสต์เรื่องราวถึงปัญหาของฝุ่น PM 2.5 และมลพิษทางอากาศต่างๆ ส่วนใหญ่มาจากโรงงาน และรถบรรทุก ดังนั้นการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในกรุงเทพฯ เช่น ฝุ่น PM2.5 และมลพิษอื่นๆ จะต้องเริ่มต้นที่โดมิโนแรก คือ “นายทุน” รวมทั้ง เรื่องกลิ่นขยะ ที่เกิดจากโรงกำจัดขยะ และปัญหารถควันดำ พร้อมยืนยันตามนโยบายของตัวเองว่า คนกรุงเทพทุกคนที่มีปอด มีลมหายใจ ควรได้รับอากาศที่ดีอย่างเท่าเทียมกัน

ปิดท้ายกันที่ว่าที่ผู้สมัครหน้าเก่า ซึ่งเพิ่งจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่เพิ่งจะลงจากตำแหน่ง และเตรียมที่จะลงสมัครรับเลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม.ในครั้งนี้ โดยชูสโลแกน “กรุงเทพฯต้องไปต่อ” พร้อมทั้งเปิดตัว ทีมอัศวิน ทีมที่รวมคนรุ่นใหญ่ และ คนรุ่นใหม่ มาร่วมพัฒนากรุงเทพฯ และแถลงนโยบายมัดใจคนกรุง ที่มุ่งแก้ไขปัญหา ผลักดันการพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นจริงได้

และในวันนี้ ได้โพสต์ข้อความ ถึงหลักการในการติดป้ายหาเสียง ตามข้อกำหนดของ กกต. โดยจะต้องไม่กีดขวางทางเท้า ไม่บดบังทัศนวิสัย รวมถึงไม่กระทบการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน โดยได้กำชับทีมงาน และเร่งตรวจสอบ แก้ไข

หลังจากนี้ เชื่อว่า จะยังคงมีผู้ที่เปิดตัว ว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้ ทยอยประกาศตัวกันออกมามากขึ้น จนถึงวันที่ 4 เมษายน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรับสมัคร และอีจันจะติดตามความเคลื่อนไหว ในการเลือกตั้ง ผู้ว่ากทม.ครั้งนี้ มารายงานอย่างใกล้ชิดต่อไป

คลิปแนะนำอีจัน
สะท้อน…ปัญหาชุมชนเขตจตุจักร