อีจัน อยากเจอ Exclusive “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร”

อีจัน เกาะสนามเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ คุยกับ “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ถามเเรง! กรุงเทพฯ ขาดคนเก่งหรือขาดผู้นำที่กล้า

มาถึงคนสุดท้าย … วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 1 ให้สัมภาษณ์กับ อีจัน ใน อีจันอยากเจอ Exclusive ล้วงลึกความเป็น วิโรจน์ ในขณะที่สัมภาษณ์เขามีเเววตาที่ดุดัน พูดเสียงดังฟังชัด เห็นถึงความตั้งใจ เข้าใจที่จะเเก้ปัญหา ไปฟังสิ่งที่เขาจะเปลี่ยนเเปลง กทม. หากได้รับเลือกเป็นผู้ว่าฯ กทม. กันค่ะ

อีจัน : ทุกครั้งที่คุณวิโรจน์พูดหาเสียง เหมือนได้ดูอภิปรายในสภา ซึ่งอารมณ์แทบจะไม่ต่างกันเลย ?


“มันมาจากอินเนอร์จริงๆ เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากให้คนฟัง เชื่อในสิ่งที่เราพูด เราต้องเชื่อในสิ่งที่เราพูดก่อน เราต้องเชื่อตัวเองก่อน ถ้าเกิดเรา ตะกุกตะกัก หรือไม่เชื่อ เราจะทำให้คนอื่นเชื่อได้ยังไง ผมเป็นคนเสียงดังฟังชัด ตั้งแต่ไหนแต่ไร เวลาที่เราคุยกับประชาชน เราก็จะยิ้มแย้มแจ่มใส มันก็เป็นเรื่องปกตินะครับ ก็มีคนถามว่า ทำไมคุณอารมณ์ดีจังเลย ฮาจังเลย ผมก็บอก เวลาเราเจอประชาชน เราก็ยิ้มแย้มแจ่มใส เราก็เฮฮาใช่ไหมครับ แต่เวลาเราเจอความอยุติธรรม ความไม่ถูกต้อง จะให้เราเฮฮา หรือมีความสุข มันก็ไม่ใช่”

อีจัน : จากการลงพื้นที่ คุณวิโรจน์บอกว่า ทำให้มีมุมมองเปลี่ยนไป ที่เปลี่ยนไปมันคืออะไร 12 นโยบายที่จะทำให้คนเท่ากัน มันยังได้อยู่ไหม หลังจากที่เห็นปัญหาจริง ?


“หนักใช้ได้เลย แต่เดิมผมไม่คิดว่าความเหลื่อมล้ำ มันจะหนักข้อขนาดนี้ เเต่เราเจอความเหลื่อมล้ำในทุกที่ เราพบกติกาบางอย่างที่ไม่เป็นธรรม หรือว่า ข้อสันนิษฐานบางอย่างว่า เมืองนี้มันมีความอยุติธรรม หรือมีการเอารัดเอาเปรียบเกิดขึ้น แต่ว่าตลอดเวลา 2 – 3 เดือนที่เราได้ไปสำรวจ เราพบว่าปัญหามันหนักกว่าที่เราคาดเอาไว้ อย่างเช่น ใกล้ตัวที่สุด การเข้าถึงสาธารณูปโภค ไม่น่าเชื่อใช่ไหม คนในคลองสามวา เข้าไม่ถึงน้ำประปา ด้วยเหตุผลที่ว่า เขาอยู่ในผังเมืองเกษตรกรรม แล้วบ้านแต่ละหลังอยู่ห่างกัน 200 เมตร ก็ไม่คุ้มที่จะเดินท่อประปา แล้วเขาก็ต้องใช้น้ำจากคลอง ซึ่งคุณภาพน้ำจากคลอง เราก็รู้อยู่แล้วว่า มีปัญหาพอสมควร เราก็ตั้งคำถามว่า ประชาชนที่เขาอยู่ในผังเมืองเกษตรกรรม เขาต้องถูกตัดขาดสาธารณูปโภค ขั้นพื้นฐานด้วยเหรอ แล้วคำว่าไม่คุ้มคืออะไร คุณต้องเอากำไรเหรอ หรือคุณเอาคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนไปเป็นตัวตั้งล่ะ อันนี้คือเรื่องที่ 1

เราเห็นแบบนี้ก็มีคำถามว่า แล้วเมืองนี้มันจะมีความเป็นธรรมได้ยังไง ที่หนักที่สุด คือ ภาษีป้าย เรารู้มาว่า บิลบอร์ดเราก็รู้กันอยู่แล้ว ว่ามูลค่าทางธุรกิจปีหนึ่งประมาณ หมื่นล้าน แต่ปรากฏว่า ที่เข้าระบบจ่ายค่าภาษีป้ายอย่างถูกต้อง แค่ 30 เปอร์เซ็นต์แค่นั้นเอง ภาษีป้ายใน กทม. เก็บได้ 500 ล้าน เพิ่งจะมาเก็บได้เป็น 1 พันล้าน และ 1 พันล้าน ที่เก็บเพิ่มขึ้น เก็บจากค่าธรรมเนียมที่ปรับใหม่ และเก็บจากคนตัวเล็กตัวน้อย จากตึกแถว แต่นายทุนบิลบอร์ดกลับหลบเลี่ยงได้อย่างนี้ มันคืออะไร ?”

อีจัน : ที่ผ่านมา คุณวิโรจน์พุ่งเป้าไปใน 2 3 เรื่อง ที่เห็นคือ ต่อสู้กับนายทุนเลย สู้กับระบบอุปถัมภ์ สู้กับโยงใยต่างๆ มันจะเป็นแรงต้าน ทำให้เขาเตะสกัดเราไหม ?


“ผมว่าแม้กระทั่งกลุ่มนายทุนด้วยกันเอง หลายคนก็สนับสนุนผมนะ เหตุผลเพราะอะไรรู้ไหม นายทุนที่มีความแข็งแรง นายทุนที่เขามีความทะเยอทะยานที่จะเติบโต แล้วเขาก็รับผิดชอบต่อสังคม เขาก็อยากแข่งขันอย่างเป็นธรรม เคยรู้สึกไหมครับว่า ทำไมนายทุน ในประเทศไทยมันไม่มีธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้น เพราะคุณไม่ได้แข่งขันอย่างเป็นธรรมไง คุณใช้วิธี สร้างเครือข่ายอุปถัมภ์ แล้วใช้คอนเน็กชั่นในการล็อกผลประโยชน์ ล็อกงบประมาณ สุดท้ายมันทำให้อุตสาหกรรมเเละแวดวงธุรกิจที่มันควรจะพัฒนา มันไม่เกิด สุดท้ายมันก็เป็นภัยคุกคามกับนายทุนเอง ถ้าพูดตรงไปตรงมา คือคนที่ไม่ชอบผม ก็คือ นายทุนที่ไม่คิดจะพัฒนาตนเอง นายทุนที่พยายามใช้เครือข่ายอุปถัมภ์ของตนค้ำยัน ทรัพยากรในการกินรวบของตัวเอง แล้วก็บล็อกไม่ให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม ซึ่งผู้ว่าก็ต้องพร้อมที่จะถูกเกลียดถูกไหม โดยเฉพาะนายทุนที่เอาเปรียบสังคม ผมคิดว่า ประชาชนคงไม่ต้องการผู้ว่าแบบนั้นหรอก”

อีจัน : ถ้าคุณวิโรจน์ได้เป็นผู้ว่าฯ มันจะเห็นการเปลี่ยนแปลงทันทีเลยไหม ดุเดือดเลือดพล่านไหม ?


“ผมว่ามันไม่ได้ดุเดือดนะ ผมเรียนตรงๆ นะ คือ เราเป็นอะไรกันนักกันหนากับความขัดแย้ง กับความที่มันเป็นเรื่องอยุติธรรม เราอยากให้เกิดการสมยอม กับสิ่งที่มันไม่แฟร์แบบนั้น ต่อไปเรื่อยๆเหรอ คุณอยากเห็นผู้ว่าฯ ที่ รู้ทั้งรู้ น้ำท่วมปาก แต่ไม่พูดอะไรเลย หลับตาข้างเดียว เหลียวมองไปทางอื่น ไม่มองทางนี้ แล้วก็ปล่อยให้คนกลุ่มนั้น หาผลประโยชน์แบบเดิม ตีตั๋วเด็กแบบเดิม ได้รับการยกเว้นแบบเดิม เอางบประมาณที่เป็นภาษีของเรา ไปประเคนให้คนเหล่านั้น เหมือนเดิมอย่างนั้นเหรอ แล้วก็บอกประชาชนว่า สวัสดิการเราทำให้ไม่ได้นะ เราทำดีกว่านี้ไม่ได้ เพราะเค้กมันก้อนเล็ก ไม่หรอก เพราะคุณแอบให้คนกลุ่มหนึ่งเอาช้อนตักเค้กที่สวยที่สุด ก้อนที่ใหญ่ที่สุดไปก่อน แล้วเหลือเค้กก้อนเล็ก แล้วให้ประชาชนไปแย่งกัน ถูกไหม


ผมคิดว่า เราอย่าไปกังวลเลยครับกับความไม่สยบยอม กับอำนาจความอยุติธรรม ความไม่ยอมจำนน กับการเอารัดเอาเปรียบประชาชน แต่สิ่งที่เราต้องการต่อสู้ เราไม่ได้ต่อสู้กับนักลงทุนหรือว่านายทุนทุกคนนะ แต่เราต้องการต่อสู้กับความอยุติธรรม กับการเอารัดเอาเปรียบต่างหาก ข้อมูลทั้งหมดที่ผมได้มา เชื่อไหมว่า ถ้าผมเล่าให้ฟัง จะตกใจนะ มาจากใครบ้าง ส่วนใหญ่เลยนะ ร้อยละ 80 ร้อยละ 90 มาจากข้าราชการ”

อีจัน : ซึ่งเขาทนไม่ไหวแล้ว ?


“เขาทนไม่ไหว กับระบบที่มันไม่มีธรรมภิบาลกับหน่วยงานเอกชน หรือแม้กระทั่งหน่วยงานรัฐบางหน่วย ที่ทำงานกับกรุงเทพมหานคร นี่คือความไม่เป็นธรรม อยากให้คุณวิโรจน์ แก้ให้ได้นะ และเป็นกำลังใจให้ ผมเลยมีความมั่นใจมากขึ้นว่า ข้าราชการกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 90 ต้องการผู้ว่าที่เป็นผนังทองแดง กำแพงเหล็กให้กับเขา ในการทำสิ่งที่ถูกต้องและไม่โอนอ่อนผ่อนตามกับสิ่งที่เขาตะขิดตะขวงใจ ถ้าเกิดผู้ว่ายืนหยัดในสิ่งที่ถูกต้อง เขาก็กล้าทำสิ่งที่ถูกต้อง ข้าราชการหลายคน ที่เขาเป็นข้าราชการน้ำดี เขารู้ทั้งรู้ครับ แต่เขาแค่รอผู้ว่าที่กล้าหาญ ที่จะแบ็กอัพเขาเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นผมเลยไม่กลัวเลย”

อีจัน : ข้อแตกต่างระหว่างคุณวิโรจน์กับผู้ว่าหลายๆ ท่าน ส่วนใหญ่เขาจะโชว์ออฟ จบนั่นจบนี่ มีความรู้ในเรื่องเทคนิค ผมอยากรู้ว่า คุณวิโรจน์ชูอีกเรื่องหนึ่ง เรื่องความไม่เท่าเทียม กับเรื่องที่ว่าปัญหาต่างๆ มันแก้ไขได้ แล้วก็พร้อมชนทุกสิ่ง ตรงนี้มันจะทำให้เราได้คะแนนน้อยกว่าคนอื่นไหม ?


“ไม่หรอก คุณคิดว่าคนกรุงเทพฯ ไม่มีความรู้เหรอ คนกรุงเทพฯไม่มีคนเก่งเหรอ ถ้าพูดถึงเรื่องขยะ ผมไปคุยกับอาจารย์ อยู่คณะวิศวกรรมศาสตร์หลายแห่ง ทุกคนมีองค์ความรู้เต็มไปหมดเลย กรุงเทพฯขาดคนเก่งไหม ไม่เลย กรุงเทพฯขาดเทคโนโลยีเหรอ ไม่เลย ตกลงกรุงเทพฯ ขาดองค์ความรู้ หรือความกล้าที่จะจัดการกับโครงสร้างกับใจกลางของปัญหาล่ะ ผมว่ามันสำคัญที่ตรงนี้นะ”


“คือเมืองที่ดี มันควรเอาปัญหาประชาชนเป็นที่ตั้งถูกไหม ข้าราชการที่ดี ต้องคิดที่จะทลายข้อจำกัดนี้ เพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชน เรื่องนี้เกี่ยวกับ ระบบธรรมภิบาลด้วย ขัดกันไปขัดกันมา เพราะกลัวระบบธรรมภิบาลที่แย่ อาจจะถูกแทงข้างหลัง ถูกเลื่อยขาเก้าอี้ ถูกใส่ร้าย สุดท้าย ไม่ทำอะไรเลยดีกว่า”

อีจัน : ตอนนี้ภาพคุณวิโรจน์กับคุณธนาธรแยกกันออกถูกไหม ถ้าคุณวิโรจน์ได้เป็นผู้ว่าฯ แล้วจะเป็นร่างทรงของคุณธนาธรไหม ?

ถ้าให้บอกตรงๆ ผมกับคุณธนาธร มีอุดมการณ์อนาคตใหม่เหมือนกัน ผมก็คิดว่าคนในประเทศนี้ก็น่าจะเป็นหลาย 10 ล้านคน ที่มีอุดมการณ์อนาคตใหม่เหมือนกัน ที่อยากเห็นประเทศเราเปลี่ยนแปลง อยากเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างมันถูกแก้ไขเสียที เราถึงย้ำมาโดยตลอด ว่า ลำพังการบริหารอย่างเดียวมันแก้ปัญหาไม่ได้หรอกครับ ถ้าเรายังจัดสรรงบประมาณไม่เป็นธรรม จัดเก็บรายได้และกติกาต่างๆ ไม่เป็นธรรมแบบนี้ แล้วเราต้องน้ำท่วมปาก เว้นวรรค หรือยกเว้น ให้เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้น แล้วก็บริหารภายใต้ข้อจำกัดที่กระอักกระอ่วนไปเรื่อยๆ คุณเชื่อไหมว่าเครือข่ายอุปถัมภ์อะไรก็ตามที่มันได้มาแบบเอารัดเอาเปรียบ ผมได้ คุณได้ เพื่อนคุณได้ เพื่อนผมได้ เพื่อนของเพื่อนคุณก็จะได้ด้วย ข้อยกเว้นแบบนี้ มันเป็นเครือข่ายนะ สุดท้ายการรั่วไหลของการจัดเก็บรายได้จะมากขึ้น ความเอารัดเอาเปรียบจะเกิดขึ้นมากขึ้น ความเหลื่อมล้ำก็จะเกิดขึ้นมากขึ้น แล้วคุณคิดว่าผู้ว่าฯ ที่ปล่อยวางเรื่องอยุติธรรมแบบนี้ คุณจะบริหารจัดการเมืองแบบนี้จะไปรอดเหรอ คำว่ายั่งยืนของคุณ พูดไปงั้นๆเหรอ หรือจอมปลอม”

อีจัน : ถ้าคราวนี้อกหัก จะไปทำอะไรต่อ เล่นการเมืองต่อ หรือทำอะไร ?


“ผมก็คงอยู่กับพรรคก้าวไกลต่อไป มีภารกิจเยอะแยะไปหมดที่เราจะต้องทำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกระจายอำนาจ เรื่องของเศรษฐกิจที่ดี ที่จะมาทำงานเศรษฐกิจนี้ต้องทำงานภายใต้เศรษฐกิจ ในแนวคิดรัฐสวัสดิการด้วยนะ คือเราเชื่อว่าถ้าเราทำสวัสดิการที่ดี สวัสดิการนี้มันจะไปกระตุ้นทำให้เศรษฐกิจดี คือเกิดการกระจายเม็ดเงินอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่ว่าให้คนตัวใหญ่นายทุนสูบเอาเม็ดเงินเอาไปทั้งหมด”

อีจัน : มันก็จะกลับกันไหมเศรษฐกิจดี สวัสดิการถึงดี ?

“จริงๆ มันจะต้องทำควบคู่กัน คือถ้าเกิดกติกาของเมืองมันไม่เป็นธรรมนะ แล้วเราหลอกตัวเอง เชื่อในมายาคติผิดๆ ว่าต้องรอให้เศรษฐกิจดี ถึงจะจัดสวัสดิการที่ดีให้กับประชาชนได้ คุณจะไม่มีทางได้สวัสดิการที่ดี เพราะเศรษฐกิจที่ดีภายใต้กติกาที่ไม่เป็นธรรม ถ้าเกิดคุณไม่แก้นะสุดท้ายมันจะเป็นเมืองที่คนที่มีความฝันก็หนีไปต่างประเทศ คนที่มีเงินก็ไปลงทุนต่างประเทศ คนที่อยู่ ก็จะเป็นคนที่ยอมจำนนต่อโชคชะตา กลายเป็นคนสูงอายุที่ไม่มีเงินออม กลายเป็นเมืองที่สิ้นหวัง

อีจัน : สุดท้ายสั้นๆ จะพูดอะไรกับลูกเพจอีจัน ทำไมเขาจะต้องเลือกคุณวิโรจน์มาเป็นผู้ว่าฯ กทม. ?

“ ย้ำอย่างนี้ว่า กรุงเทพมหานคร ถ้าเราจะคิดแค่การบริหารอย่างเดียว โดยที่เราไม่แก้ปัญหาที่โครงสร้างเลย ลอยตัวเหนือปัญหา ยอมที่จะให้น้ำท่วมปาก หลับตาข้างเดียวกับกติกาที่ไม่เป็นธรรม การจัดสรรงบประมาณที่ไม่เป็นธรรม การที่มีเครือข่ายอุปถัมภ์หรืออภิสิทธิ์ชนกลุ่มหนึ่ง ได้สิทธิพิเศษเอารัดเอาเปรียบจากเงินภาษีของพวกเรา การบริหารภายใต้ข้อจำกัดเหล่านั้น มันจะไม่มีทางแก้ปัญหาที่รากได้เลย และปัญหากรุงเทพมหานคร 20 ปีก่อน 10 ปีก่อน หรือตอนนี้มันก็จะเหมือนเดิมๆ อีก 10 ปีข้างหน้า 20 ปีข้างหน้าก็จะวนลูปอยู่กับเรื่องเดิมๆ ถ้าอยากให้กรุงเทพฯ เปลี่ยนแล้วเปลี่ยนเลย เปลี่ยนไปตลอดกาล มันต้องแก้ปัญหาที่โครงสร้าง ควบคู่กับการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี กับการบริหารงบประมาณประจำวันประจำปีไปด้วย นี่คือเหตุผลที่ต้องเลือกวิโรจน์เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครครับ”

นี่เป็นเพียงช่วงหนึ่งของการสนทนาที่เรานำมาให้อ่านกัน

ชมคลิปสัมภาษณ์เต็มๆ ใน อีจันอยากเจอ Exclusive ได้ที่นี่ค่ะ : https://bit.ly/3G2ofal

คลิปอีจันแนะนำ
อีจันอยากเจอ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร