
กลายเป็นประเด็นร้อนแรง! สำหรับ การปรับเปลี่ยนเกณฑ์เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ภายใต้รัฐบาลรักษาการ ของพลเอกประยุทธ์ จันโอชา ซึ่งมีประกาศในราชกิจกานุเบกษาออกมาแล้ว โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 12 ส.ค. 66 เป็นต้นไป ภายหลังการประกาศดังกล่าว ก็มี สส.หลายท่าน ไม่พอใจ และออกมาเรียกร้องและคัดค้าน สำหรับเกณฑ์ใหม่นี้
ทั้งนี้อีจันจะพาไปดูหลักเกณฑ์เดิม ในการรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ว่ามีขั้นตอนหรือหลักใดบ้าง
โดยล่าสุด 15 ส.ค. 66 บรรดาเหล่า สส.ของแต่ละพรรค ไม่ว่าจะเป็นพรรคก้าวไกล หรือ รวมไทยสร้างไทย
ต่างก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ และ คัดค้านต่อกฏเกณฑ์ใหม่นี้ เริ่มตั้งแต่คุณวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่ออกตัวแรง โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ฉะถึงเรื่องนี้ โดยคุณวิโรจน์บอกว่า
ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุ (60+ ปี) อยู่ 11 ล้านคน ทราบข่าวมาว่า จะมีการใช้ฐานข้อมูลบัตรคนจน ในการพิจารณาจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งจะทำให้มีผู้สูงอายุได้รับเบี้ยยังชีพเพียงแค่ 5 ล้านคนเท่านั้น โดยผู้สูงอายุอีก 6 ล้านคน จะถูกรัฐลอยแพ
.
ที่สำคัญ คือ เราก็รู้อยู่แล้วว่าฐานข้อมูลของบัตรคนจน นั้นมีความมั่วอยู่พอสมควร มีคนจนถึง 46% ที่ไม่ได้รับบัตร ในขณะที่ 78% ของคนที่ถือบัตร เป็นคนที่ไม่ยากจนแต่อยากจน ข้อมูลตกหล่นมากมายแบบนี้ แล้วจะเอามาใช้เป็นเกณฑ์ในการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้อย่างไร
พร้อมทั้งทิ้งคำพูดคมๆไว้ดังนี้
“บีบให้จน แล้วแจก กดให้โง่ แล้วปกครอง ปล่อยให้ป่วย แล้วรักษา ใช้ภาษีที่รีดมา สร้างบุญคุณ”
ต่อมาทางด้านของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ก็ออกมาโพสต์แสดงความเห็นผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวเช่นกัน โดยระบุว่า
"ไทยสร้างไทย ขอคัดค้านการปรับเกณฑ์รับ #เบี้ยผู้สูงอายุ รัฐบาลต้องเลิกทำให้คนไทย กลายเป็นคนอนาถา หยุดรัฐสงเคราะห์ ต้องเริ่มรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า เพิ่มศักดิ์ศรีความเป็นคน รัฐต้องดูแลพลเมืองอย่างทั่วถึงเสมอหน้า ไม่เอางบประมาณมาสร้างบุญคุณ หรือแบ่งแยกคนรวยกับคนจน"
ทั้งนี้ยังมีบรรดา สส.อีกมากมาย ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงเกณฑ์ใหม่นี้ ตัวอย่างเช่น คุณกายณัฐชา สส.ก้าวไกล ที่ออกมาโพสต์ผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัว โดยบอกว่า #เงินผู้สูงอายุ อย่าให้เกมส์การเมือง มาเหนือความเป็นมนุษย์ วันนี้ทุกชีวิตที่รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นเพียงเงินที่ใช้เพื่อยังชีพ คือใช้ได้แค่พอผ่านชีวิตไปวันๆอยู่แล้ว ไม่เพิ่มเติม แถมยังมา ลิดรอนสิทธิ์ขั้นพื้นฐานเพียงน้อยนิดอีกหรือ ?
อย่างไรก็ดี ณ ตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุปหรือ ข้อตกลงใดๆ การปรับเกณฑ์นี้ ยังอยู่ในช่วงพิจารณาของ คณะกรรมการผู้สูงอายุ (กผส.) ต้องติดตามกันต่อไปครับ