รู้จัก’กกต.’ รวมวีรกรรม ก่อนประชาชนเกินล้านคน ลงชื่อถอดถอน

รวมวีรกรรม ‘กกต.’ ดัน #กกต.ต้องติดคุก #กกต.มีไว้ทำไม ติดเทรนด์ทวิตเตอร์ สู่ประชาชนเกินล้านคน ลงชื่อถอดถอน

เมื่อวันที่ 7 พ.ค.66 ตั้งแต่เวลา 08.00-17.00 น. สำนักคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กตต.) กำหนดให้เป็นวันออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้ง (เลือกตั้งล่วงหน้า) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ใหม่ในรอบ 4 ปี

ใต้ความหวังของประชาชนที่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง ทำให้ถนนหลายสายที่มุ่งหน้าไปยังหน่วยเลือกตั้งต่างๆ การจราจรติดขัด ประกอบกับอุณหภูมิวันหยุดสุดสัปดาห์ของหลายพื้นที่ทะลุ 40 องศาเซลเซียส ยิ่งกระตุ้นให้ไฟแห่งความหวังนี้โชติช่วงขึ้น

แต่แล้วก็ใกล้จะมอดดับ เพราะระหว่างที่การเลือกตั้งล่วงหน้ากำลังดำเนินไป ประชาชนกลับพบข้อผิดพลาดของ กตต. หลายอย่าง กลายเป็นที่มา ของแฮชแท็ก #กกต.ต้องติดคุก และ #กกต.มีไว้ทำไม ที่ติดอันดับเทรนด์ทวิตเตอร์ข้ามวันข้ามคืน และประชาชนเกิน 1 ล้านคน ก็ได้ร่วมใจลงชื่อถอดถอน กกต. ผ่านเว็บไซต์ Change.org

ทำความรู้จัก ‘กกต.’

ก่อนจะร่วมลงชื่อ หรือกระทำการอย่างใดอยากหนึ่ง เรามาทำความรู้จัก ‘กกต.’ กันก่อน 

คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือย่อว่า กกต. เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มีหน้าที่หลักเป็นผู้ควบคุมและดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งหรือการสรรหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น แล้วแต่กรณี รวมทั้งการออกเสียงประชามติ ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

โดย กกต. มีทั้งหมด 7 คน มาจากกระบวนการคัดเลือกของคณะรักษาความสงบหางชาติ (คสช.) มีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี ดังนั้น ชุดปัจจุบัน จึงเป็นชุดเดียวกันกับการเลือกตั้งปี 2562 เว้น พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา ที่ลาออกจากตำแหน่ง เลขาธิการ กกต. เนื่องจากไปดำรงตำแหน่งสมาชอิกวุฒิสภา (ส.ว.) จึงมีการแต่งตั้ง นายแสวง บุญมี เป็นเลขาธิการ กกต.และนายทะเบียนพรรคการเมือง เมื่อวันที่ 31 มี.ค.65 ถึงปัจจุบัน

ตัวอย่างวีรกรรมสุดแซ่บ

1.พิมพ์บัตรเลือกตั้งเกิน 7 ล้านใบ

จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งปีนี้อยู่ที่ 52,287,045 คน แต่ กกต. จัดพิมพ์บัตรเลือกตั้ง 57 ล้านใบ และยังพิมพ์เพิ่มสำรองอีก 5% หรือราว 2.6 ล้านใบ ซึ่งหมายความว่า มีบัตรเลือกตั้งเกินกว่าจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งราว 7.3 ล้านใบ ทำให้ประชาชนและแกนนำพรรคการเมืองต่างๆ เช่น นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ตั้งคำถามว่า “พิมพ์บัตรเลือกตั้งสูงกว่าความเป็นจริงหรือไม่” 

ซึ่ง เลขาธิการ กกต. ได้ชี้แจงต่อนี้ว่า “ทำลักษณะนี้ทุกครั้ง ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ นี่คือเรื่องการบริหารจัดการเพื่อไม่ให้การเลือกตั้งมีปัญหาและอุปสรรค” 

2.ใช้บัตรไร้ชื่อ-โลโก้พรรค

การเลือกตั้งครั้งนี้ หมายเลขพรรคและเบอร์ปาร์ตี้ลิสต์ไม่ตรงกัน หรือก็คือ ‘บัตร 2 ใบ ต่างเบอร์’ ดังนั้น บัตรเลือกตั้ง จึงเป็นตัวช่วยสำคัญ ที่จะช่วยลดความสับสน ให้แก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

แต่ขณะที่ เลขาธิการ กกต. เผยว่า บัตรเลือกตั้ง ส.ส.เขต มีเพียงเบอร์ผู้สมัคร ไม่มีโลโก้พรรค และชื่อพรรค เรียกง่ายๆ ก็คือ บัตรโหล พร้อมยืนยันว่า เป็นรูปแบบบัตรมาตรฐานที่ใช้จัดการเลือกตั้งในไทยทุกครั้งที่ผ่านมา (ยกเว้นในปี 2562 ที่ใช้บัตรเลือกตั้งแบบเฉพาะ)

และเชื่อว่าการนำบัตรดังกล่าวมาใช้จะช่วยประหยัดงบประมาณ และเป็นการป้องกันบัตรเสียอันเกิดจากความสับสน เพราะรูปแบบแจกต่างจากบัตรแบบบัญชีรายชื่อ ที่มีหมายเลขผู้สมัคร, สัญลักษณ์/เครื่องหมายพรรค และชื่อพรรค นี่จึงเป็นอีกหนึ่งเรื่อง ที่หลายพรรคการเมืองและประชาชนต่างวิพากษ์วิจารณ์

3.เว็บลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า ล่ม

ในวันสุดท้ายของการเปิดให้ลงทะเบียนเพื่อขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า-นอกเขตเลือกตั้ง (9 เม.ย.66) มีประชาชนจำนวนมากไม่สามารถลงทะเบียนให้ทัน เนื่องจากเว็บไซต์สำหรับการลงทะเบียนเกิดเหตุขัดข้องตั้งแต่เวลาราว 21.00 น.

ทั้งโหลดหน้าเว็บช้า เปิดใช้งานไม่ได้ ก่อนกลับมาใช้งานได้ในเวลาอีก 10 นาทีก่อนเที่ยง ทั้งนี้ผู้ใช้งานทวิตเตอร์บางส่วนได้วิจารณ์ระบบและการทำงานของ กกต. ผ่านแฮชแท็ก #เลือกตั้งล่วงหน้า

ถัดมา วันที่ 10 เม.ย.66 เลขาธิการ กกต. ได้ชี้แจงสาเหตุที่เว็บล่มว่า เป็นเพราะมีประชาชนเข้าไปลงทะเบียนจำนวนมาก ขณะที่ศักยภาพของระบบสามารถรองรับคนละลงทะเบียนได้ 4,000 คน/วินาที (ต่อมา เอกสารชี้แจงของ กกต. ระบุถึงศักยภาพไว้ที่ 5,000 คน/วินาที)

แต่อย่างไรก็ตาม แม้เลขาธิการ กกต. จะกล่าวคำขอโทษประชาชน แต่ก็ไม่ได้ขยายเวลาการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า โดยให้เหตุผลว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว ระบบสามารถบันทึกข้อมูลผู้ประสงค์จะลงทะเบียน แต่แสดงผลว่าลงทะเบียนไม่สำเร็จไว้ ซึ่งระบบสามารถดึงข้อมูลผู้ประสงค์ลงทะเบียนมาจัดทำเป็นบัญชีรายชื่อผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าได้เกือบทั้งหมด

ปัญหาวันเลือกตั้งล่วงหน้า

1.ลงทะเบียนแล้วแต่ไม่มีชื่อในบัญชี

โดยข้อมูลจาก iLaw ระบุว่า เมื่อเวลา 08.29 น. ประชาชนที่จังหวัดนนทบุรีรายงานว่า ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าแล้วแต่เมื่อไปถึงหน้าหน่วยเลือกตั้งกลับไม่มีรายชื่อ เขาเล่าว่า ประมาณวันที่ 8 เมษายน 2566 เขาลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าบนเว็บไซต์และพิมพ์เอกสารเรียบร้อย โดยในเอกสารดังกล่าวมีคิวอาร์โค้ด ซึ่งเมื่อสแกนทีแรกก็ยังให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าได้อยู่ 

แต่เมื่อถึงวันจริงไปสแกนอีกครั้งปรากฏว่า ข้อมูลในเอกสารเปลี่ยนไปเป็นการขอยกเลิกไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ซึี่งเขายืนยันว่า ไม่ได้เป็นผู้ยกเลิก ทำให้เขาไม่สามารถออกเสียงล่วงหน้าได้ แต่ยังมีสิทธิออกเสียงในภูมิลำเนาเดิมอยู่ เขาระบุว่า วันจริง ‘อาจจะ’ ไปเลือกตั้งที่ภูมิลำเนา เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งได้บันทึกเหตุการณ์ไว้ในรายงาน แต่ไม่สามารถทำอะไรได้เนื่องจากไม่มีรายชื่อในทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่ผ่านมาเขาเคยลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าแล้ว และไม่เคยมีปัญหา

ถัดมา เวลา 09.39 น. ประชาชนรายงานว่า ที่หน่วยเลือกตั้งโรงเรียนสมุทรสาครวิทยาลัย แฟนของเขาลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าแล้ว ตรวจสอบสิทธิบนเว็บไซต์ของกรมการปกครองยังคงมีสิทธิในการเลือกตั้งล่วงหน้า แต่เมื่อไปที่หน่วยตรวจสอบที่กระดานรายชื่อกลับไม่พบรายชื่อในทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้งหน้าหน่วย

จึงตรวจสอบสิทธิและยืนยันกับกับเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง จนสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งได้ เมื่อถามว่า หลังจากโต้แย้งกับเจ้าหน้าที่แล้ว เจ้าหน้าที่เขียนชื่อต่อท้ายทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใช่หรือไม่ เขาบอกว่า ไม่ เพราะทะเบียนรายชื่ออีกชุดหนึ่งที่อยู่เจ้าหน้าที่นั้นมีชื่อของแฟนของเขาอยู่ (รายชื่อสองชุดไม่ตรงกัน)

2.เขียนเขต/รหัสหน้าซองบัตรเลือกตั้งผิด

ที่สำนักงานเขตบางเขน เวลาประมาณ 15.00 น. ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจังหวัดนครสวรรค์เขต 2 ได้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าไว้ ปรากฎรายชื่อในชุดที่ 31 ของสำนักงานเขต(ชุดที่ 31 เป็นหน่วยของนครสวรรค์เขต 1-6) พบว่า เจ้าหน้าที่จ่าหน้าซองเป็นนครสวรรค์ เขต 9 จึงทำการทักท้วง เจ้าหน้าที่ยืนยันว่า ถูกต้อง เธอจึงโทรหาเพื่อนอาสาจับตาเลือกตั้ง เพื่อนยืนยันว่าผิด และส่งระเบียบกกต.ให้ จึงยืนยันกับเจ้าหน้าที่ต่อไป เจ้าหน้าที่แจ้งว่าเขต 9 คือหน่วยเลือกตั้งที่นี่ทุกซองเขียนแบบนั้น 

จากนั้นเจ้าหน้าที่อีกคนมาดูและพยายามอธิบายว่า ที่เขียนเขต 9 นั้นถูกต้องพร้อมนำบัตรประชาชนของเธอไปตรวจสอบพบว่า อยู่เขต 2 จังหวัดนครสวรรค์ เมื่อมาดูเทียบหน้าซองจึงเข้าใจว่า ที่ผ่านมาเขียนผิดต้องเขียนเลข 2 จึงเปลี่ยนซองใหม่ และแจ้งว่าซองอื่นๆ(เต็มกล่อง)จะแก้ไขตอนปิดหีบแล้ว

ขณะเดียวกัน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแจ้งว่า มีสิทธิเลือกตั้งเขต 19 แต่เจ้าหน้าที่กลับเขียนเขตเลือกตั้ง เป็นเขตเลือกตั้งที่ 9 อย่างไรก็ดี รหัสเขตเลือกตั้ง ระบุว่า 10019 ซึ่งถูกต้อง

ทั้งนี้ ที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) ดินแดง เจ้าหน้าที่เขียนหน้าซองบัตรเลือกตั้งให้ผิดเขต พอทักท้วง แจ้งว่า คนก่อนหน้าเขียนมาผิด และแก้ไขให้

และเขตเลือกตั้งที่ 26 พระราม 2 ฮอลล์ ชั้น 4 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า พระราม 2 ประชาชนรายงานว่า เจ้าหน้าเขียนเขตหน้าซองสำหรับใส่บัตรเลือกตั้งผิดเขต ต้องทักท้วงให้แก้ไข

3.ไม่ให้ถ่ายภาพสังเกตการณ์

เวลาประมาณ 12.20 น. เจ้าหน้าที่ประจำเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยที่เลือกตั้งกลางนอกเขตเลือกตั้งเขตเลือกตั้งที่ 32 ชุดที่ 2 ลำดับที่ 522-1022 กรุงเทพมหานคร (เขตเลือกตั้งที่ 27-33) ไม่ให้ถ่ายรูปการลงคะแนนเสียงแม้ว่าจะเป็นการรายงานที่ห่างออกมาจากเส้นเหลืองและไม่เห็นถึงข้อมูลส่วนบุคคล มีการสอบถามย้ำไปแล้วว่ามีการถ่ายที่ไม่ได้เข้ามาในเขตเส้นเหลืองก็ตามเจ้าหน้าที่ก็ไม่อนุญาตให้ถ่ายพร้อมกับเชิญออกจากหน่วยเลือกตั้ง

ขณะที่ เขตเลือกตั้ง​ที่​ 10 อ.บ้านผือ​ อุดรธานี​ หอประชุม​บริบาล​ภูมิ​เขตต์ เจ้าหน้าที่พยายาม​กันผู้​สังเกต​การณ์​และไม่ให้ความร่วมมือ​ระหว่าง​การจับตาเลือกตั้ง​ของอาสาสมัคร​ ป้าย 5/5 มีการติดไว้ข้างในหอประชุม​หน่วยเลือกตั้ง​ พอมีการทักท้วงจึง​นำมาติดที่บอร์ด​ข้างนอก

และเขตเลือกตั้งที่ 1 อาคารโรงอาหารมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตลำปาง ตอนแรกเจ้าหน้าที่ไม่ยินยอมให้ผู้สังเกตการณ์จาก We Watch เข้าพื้นที่สังเกตการณ์ แต่เมื่อแจ้งว่า สังกัด We Watch ก็ยอมให้เข้ามาสังเกตการณ์

4.ข้อมูลผู้สมัครและพรรคไม่ครบหรือสร้างความสับสน

ที่สำนักงานเขตหนองแขม ประชาชนรายงานว่า รายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งของเขต 5 จังหวัดนครศรีธรรมราชไม่ครบ โดยรายชื่อที่หายไปคือ นายเอกชัย ควรศิริ เบอร์ 6 จากพรรคก้าวไกล

ที่เขตเลือกตั้งที่ 1 ศูนย์ประชุมนานาชาติเชียงใหม่ ผู้สังเกตการรตรวจสอบรายชื่อผู้สมัครหน้าหน่วยพบกว่าในหนึ่งหน่วยเลือกตั้งมี 2 เขต 2 จังหวัด แต่มีชื่อรายชื่อผู้สมัครบนกระดานหน้าหน่วยแค่เขตเดียว ทำให้บางคนที่มาใช้สิทธิไม่พบรายชื่อผู้สมัครเขตของตนเอง

5.ปิดผนึกซองไม่ถูกต้อง

เขตเลือกตั้งที่ 29 สำนักงานเขตบางแค เจ้าหน้าที่ไม่ให้ผู้ออกเสียงลอกกาวเพื่อปิดซองบัตรเลือกตั้งเอง นำซองไปแปะสก็อตเทปเองและไม่เซ็นชื่อบริเวณกรอบที่กำหนดทับลายเซ็น

ส่วนเขตเลือกต้้งที่ 7 เทศบาลเมืองพิมลราช ตำบลพิมลราช จังหวัดนนทบุรี ประชาชนรายงานว่า เจ้าหน้าที่เซ็นชื่อปิดซองโดยไม่คร่อมบริเวณผนึกซอง

​ขณะที่ ที่จังหวัดภูเก็ต ประชาชนรายงานว่า เจ้าหน้าที่เซ็นชื่อไม่คร่อมบริเวณผนึกซอง

เช่นเดียวกับ เขตเลือกตั้งที่ 6 อาคารอเนกประสงค์กรมประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร ประชาชนรายงานว่า เจ้าหน้าที่ติดเทปใสปิดซองแต่ไม่เซ็นชื่อกำกับที่ผนึกจดหมาย

และเขตเลือกตั้งที่ 32 สำนักงานเขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่เซ็นชื่อบนซองไม่คร่อมบริเวณผนึกซอง

ปัญหาอื่นๆ

เซ็นชื่อผิดช่อง โดเกิดขึ้นที่เซ็นทรัลโคราช ประชาชนรายงานว่า เขาเดินเข้าคิวไปรับบัตรเลือกตั้งและเมื่อจะลงชื่อพบว่า ช่องลงชื่อของเขามีผู้ลงแทนไปแล้ว เจ้าหน้าที่จึงเรียก กกต.ในหน่วยเลือกตั้งมาทำบันทึกเหตุการณ์ไว้ โดยความผิดพลาดสืบเนื่องจากผู้ที่มีชื่อติดกับเขาและคล้ายกันเซ็นไปก่อน เจ้าหน้าที่จึงโยงลูกศรชี้ชื่อไปยังชื่อที่ถูกต้องไว้ 

เจ้าหน้าที่พยายามติดตามผู้ที่เซ็นชื่อผิด ประกาศเรียกตัวแต่ไม่สามารถติดตามได้ ประธานประจำหน่วยจึงจัดประชุมสรุปคือ ทำบันทึกเหตุการณ์ไว้และขอให้เขาเซ็นกำกับไว้ เจ้าหน้าที่ประหน่วยเลือกตั้งขอโทษเขา ยอมรับว่า เป็นความผิดของเจ้าหน้าที่เองไม่ใช่เรื่องที่มีการสวมสิทธิเลือกตั้งแต่อย่างใด ทั้งนี้เขาได้ใช้สิทธิเลือกตั้งเรียบร้อย

ขณะเดียวกัน ใส่ลำดับผู้มีสิทธิเป็นรหัสเขต ที่เขตเลือกตั้งที่ 12 ระยอง-ปราจีนบุรี บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดชลบุรี อำเภอเมืองชลบุรี เจ้าหน้าที่ไม่ได้จ่าหน้าซองเป็นรหัสเขต แต่เขียนเป็นเลขลำดับที่ของผู้ใช้สิทธิ เธอเล่าตอนที่เข้าไปใช้สิทธิเจ้าหน้าที่บอกให้จำลำดับที่เอาไว้ ตอนที่รับบัตรก็บอกลำดับไปและเพิ่งสังเกตว่า ตอนที่จะหย่อนบัตรลงหีบว่า รหัสเขตเป็นเลขลำดับที่ในบัญชีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เมื่อออกมาจึงสอบถามกับเพื่อนที่ไปด้วยกัน ปรากฏว่า เพื่อนก็พบปัญหาเดียวกัน

4 ปี จะเลือกตั้งใหญ่สักครั้ง ดูเหมือนจะมีแต่ปัญหามารุมมาตุ้ม ระหว่างนี้จนถึงวันเลือกตั้งใหญ่ 14 พ.ค.66  ขอให้ กกต. ทำงานอย่างหนัก เพื่อป้องกันความผิดพลาดซ้ำอีก  และเชิญชวนประชาชนร่วมจับตาดูการตรวจนับบัตรเลือกตั้ง เพื่อป้องกันการทุจริตไปพร้อมกัน