
อีกหนึ่ง ยืนยัน “พิธา” ยังไม่ปิดสวิตช์ เสนอชื่อเป็นนายก
ล่าสุดวันนี้ 20 ก.ค. 66 นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ ตามที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 66 มีมติว่า ญัตติการเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาให้ความเห็นชอบ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นการเสนอญัตติซ้ำ ต้องห้ามตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41 นั้น
สมาคมทนายความแห่งประเทศไทย เห็นว่ามติดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ดังนี้
1. ตามพจนานุกรม และข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรข้อ 44 ญัตติหมายถึงข้อเสนอใดๆ ที่มีความมุ่งหมายให้สภาลงมติหรือชี้ขาดว่า จะให้ปฏิบัติหรือดำเนินการอย่างไรต่อไป การเสนอญัตติอาจเสนอด้วยปากเปล่า หรือทำเป็นหนังสือก็ได้ ดังนั้น
การเสนอชื่อนายพิธา เพื่อให้รัฐสภาลงมติให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี จึงถือเป็นการเสนอญัตติตามรัฐธรรมนูญ
2. อย่างไรก็ตาม ญัตติที่เสนอต่อสภา มี 2 ประเภท คือ ญัตติทั่วไป เช่น ญัตติขอให้สภาแต่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาหรือศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และญัตติตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้โดยเฉพาะ เช่น ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 และ 152 เป็นต้น
3. สำหรับการเสนอญัตติทั่วไปของรัฐสภา จะต้องเป็นไปตามข้อบังคับข้อ 41 กล่าวคือ ญัตติใดตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกัน ขึ้นเสนออีกในที่ประชุมเดียวกัน หรือที่เรียกว่าเป็นญัตติซ้ำ
ส่วนการเสนอญัตติที่รัฐธรรมนูญ บัญญัติไว้โดยเฉพาะ รัฐธรรมนูญจะบัญญัติ ถึงวิธีการยื่นและข้อจำกัดในการยื่นไว้ ซึ่งจะต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด เช่น
1. ญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 151 และ 152 รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ต้องมี สส. ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 เข้าชื่อขอเปิดอภิปรายและจะยื่นได้ปีละ 1 ครั้งเท่านั้น ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 154
2. ญัตติการเสนอชื่อนายพิธาอันเป็นญัตติเฉพาะ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ประกอบมาตรา 159 นั้น รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ จะต้องอยู่ในบัญชีรายชื่อตามมาตรา 88 ของพรรคการเมืองที่มี สส. ไม่น้อยกว่า 25 คน และการเสนอชื่อต้องมี สส. รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 หรือ 50 คน ซึ่งญัตตินี้ รัฐธรรมนูญมิได้มีข้อจำกัดจำนวนครั้ง ในการยื่นเหมือนกับกรณีญัตติตามมาตรา 151 และ 15
ดังนั้น ญัตติการเสนอชื่อนายพิธาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงเสนอได้โดยไม่มีข้อจำกัด เพราะรัฐธรรมนูญมิได้จำกัดไว้ และไม่อาจใช้ข้อบังคับข้อ 41 ซึ่งใช้กับการยื่นญัตติทั่วไปมาใช้บังคับได้
สมาชิกรัฐสภาที่เสนอชื่อนายพิธา รวมทั้งสมาชิกที่รับรองการเสนอชื่อ จึงเป็นบุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ สมาชิกดังกล่าวจึงมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อมีคำวินิจฉัยว่า คำวินิจฉัยของประธานรัฐสภา และการลงมติของสมาชิกรัฐสภาจำนวน 394 คน ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 หรือไม่