ทร.ยืนยัน เรือดำน้ำจำเป็นต่อไทย ย้ำ ใช้เงินทุกบาทอย่างคุ้มค่า

กองทัพเรือจัดโต๊ะแถลง ชี้แจง ความจำเป็นในการซื้อเรือดำน้ำเพื่อชาติ และการจัดสรร งบ 22,500 ล้านบาท ไม่ได้จ่ายรวดเดียว แต่ทยอยจ่าย 7 ปี !

วันนี้ (24 ส.ค.63) กองทัพเรือจัดโต๊ะแถลงข่าวนานกว่า 2 ชั่วโมง ที่วังนันทอุทยาน กองบัญชาการกองทัพเรือ เกี่ยวกับกรณีการจัดซื้อเรือดำน้ำ
โดย พล.ร.ท.ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ รองเสนาธิการทหารเรือ สายงานกิจการพลเรือน ในฐานะโฆษกกองทัพเรือ ได้กล่าวถึงกรณีนี้ว่า เป็นการซื้อเรือดำน้ำด้วยเหตุผลและความจำเป็น มีความโปร่งใส และเป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล หลังจากที่ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้นำประเด็นการประชุมในคณะอนุกรรมาธิการครุภัณฑ์ไอซีที รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียน ออกมาพูดโดยบิดเบือนไปจากความเป็นจริง
กองทัพเรือ ขอกล่าวว่า สิ่งที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย พูดไปนั้นได้สร้างความเสียหายในสังคมและส่วนรวม นำมาซึ่งความแตกแยกและความเกลียดชังต่อกองทัพเรือ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควร ส่วนเรื่อง จีทูจี ก็ทำอย่างถูกต้อง โปร่งใส การจัดสรรงบประมาณ 22,500 ล้านบาท ก็ไม่ได้จัดซื้อภายในปี 2564 ก้อนเดียว แต่เป็นการทยอยจ่าย ส่วนการการจัดหายุทโธปกรณ์ ไม่ใช่เรื่องที่จะเอามาเปิดเผยได้ในหน้าหนังสือพิมพ์ แต่เป็นความลับของชาติ
ด้าน พล.ร.อ.สิทธิพร มาศเกษม เสนาธิการทหารเรือ กล่าวว่า เรือดำน้ำเป็นอาวุธยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญในทางทหารในการคุ้มครองรักษาผลประโยชน์ของชาติ กองทัพเรือเล็งเห็นความสำคัญในเรื่องนี้มาโดยตลอด ซึ่งสมัยก่อนสงครามอินโดจีนกองทัพเรือก็มีเรือดำน้ำอยู่ 4 ลำ กองทัพเรือได้จัดหาเรือดำน้ำโดยเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ ป้องกันประเทศ และหลายครั้งที่ประเด็นเรื่องการจัดหาเรือดำน้ำมักจะถูกโยงไปในประเด็นของทางการเมืองอยู่เสมอ

ภาพจากอีจัน
เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2560 ก็ได้มีการแถลงข่าวเพื่อชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นในการจัดหาเรือดำน้ำให้ทุกฝ่ายได้รับทราบและเข้าใจว่ากองทัพเรือจำต้องมีเรือดำน้ำ 3 ลำ จึงนำมาสู่กระบวนการจัดหาเรือดำน้ำลำแรก โดยวิธีรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือจีทูจี สำหรับประเทศไทยได้จัดหาเรือดำน้ำลำแรกในปีงบประมาณ 2560 และจะเข้าประจำการปี 2566 ด้าน พล.ร.ท.เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ เจ้ากรมยุทธการทหารเรือ ได้นำคลิปวิดิทัศน์ความยาว 3 นาที เกี่ยวกับงบประมาณเรื่องความจำเป็นเรือดำน้ำ ที่เคยเปิดให้คณะอนุกรรมการชมไปแล้ว โดยมีใจความดังนี้ ประเทศไทยเคยมีเรือดำน้ำ 4 ลำ ต่อจากประเทศญี่ปุ่น เข้าประจำการเมื่อ 19 ก.ค.2481 โดยก่อนหน้านี้มีการรบที่เกาะช้าง เมื่อ 17 ม.ค.2484 ไทยมีเรือดำน้ำข่มขวัญฝรั่งเศสให้ถอนกำลังไปได้ ซึ่งเรือดำน้ำชุดแรกของไทยปลดประจำการทั้ง 4 ลำ เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2494 หรือ 69 ปีมาแล้ว ที่ไทยไม่มีเรือดำน้ำประจำการ ผลประโยชน์ของชาติทางทะเล 24 ล้านล้านบาท/ปี ไทยพึ่งพาการส่งออกทางทะเลร้อยละ 95 โดยมีเรือสินค้าเข้าออกอ่าวไทยปีละ 15,000 ลำต่อปี ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านมีเรือดำน้ำ ได้แก่ เวียดนาม 6 ลำ อินโดนีเซีย 5 ลำ กำลังจัดหาอีก 4 ลำ มาเลเซีย 2 ลำ สิงคโปร์ 4 ลำ กำลังจัดหาอีก 4 ลำ เมียนมา 1 ลำ กำลังจัดหาอีก 4 ลำ รวมเรือดำน้ำในอาเซียนทั้งหมด 18 ลำ ซึ่งกำลังทางทหารเรือยังคงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญต่อการเจรจาปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิ เรือดำน้ำสั่งต่อวันนี้ อีก 6 ปีถึงจะได้ใช้ โดยกองทัพเรือคืนงบประมาณจำนวน 4,130 ล้านบาท เนื่องจากภาวะโควิด-19 พล.ร.ท.เถลิงศักดิ์ เจ้ากรมยุทธการทหารเรือ กล่าวต่อว่า แม้ว่าสงครามจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆนี้ แต่ในทะเลจีนใต้ จีน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซียและอื่นๆ มีการก่อสร้างต่างๆ สิ่งเหล่านี้อาจเกิดการปะทะกันได้ ซึ่งหากเกิดการปะทะกันในพื้นที่ทะเลจีนใต้ ซึ่งเป็นเส้นเลือดใหญ่ของประเทศไทย หากเราไม่มีกำลังที่เข้มแข็งเพียงพอ ย่อมส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของชาติ 24 ล้านล้านบาท แน่นอน การจัดซื้อเรือดำน้ำในวันนี้ กว่าจะได้รับเรือคือปี พ.ศ. 2570 ขอยืนยันว่ากองทัพเรือได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว
ภาพจากอีจัน
ด้าน พล.ร.ท.ธีรกุล กาญจนะ ปลัดบัญชีทหารเรือ กล่าวถึง งบประมาณการจัดหาเรือดำน้ำจำนวน 2 ลำ (ลำ 2 และ 3) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการจัดหาเรือดำน้ำจำนวน 3 ลำ มูลค่า 36,000 ล้านบาท ซึ่งมีการจัดหาลำที่ 1 ไปแล้ว ในปีงบประมาณ 2560 มูลค่า 13,500 ล้านบาท ทยอยจ่าย 7 ปี ระหว่าง ปี 2560 – 2566 ส่วนการจัดซื้อเรือดำน้ำอีก 2 ลำ เป็นการจัดหาต่อเนื่องให้ครบ 3 ลำตามโครงการที่ได้รับอนุมัติไว้ ไม่ใช่โครงการผูกพันงบประมาณเริ่มใหม่ ในปี 2564 แต่เป็นรายการในโครงการเสริมสร้างกำลังกองทัพในปีงบประมาณ 2563 -2569 เป็นการทยอยสร้างงบประมาณรายปี ที่กองทัพเรือได้รับตามปกติ ไม่ได้ขอรับงบประมาณเพิ่มเติม และรายการนี้อยู่ใน พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ ระยะเวลา 7 ปี (2563-2569) งบประมาณปี 2563 กำหนดไว้ 3,375 ล้านบาท งบประมาณปี 2564 กำหนดไว้ 3,925 ล้านบาท งบประมาณปี 2565 กำหนดไว้ 2,640 ล้านบาท งบประมาณปี 2566 กำหนดไว้ 2,500 ล้านบาท งบประมาณปี 2567 กำหนดไว้ 3,060 ล้านบาท งบประมาณปี 2568 กำหนดไว้ 3,500 ล้านบาท งบประมาณปี 2569 กำหนดไว้ 3,500 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 22,500 ล้านบาท ซึ่งการชำระเงิน จัดซื้อเรือดำน้ำ ลำที่ 2 และ 3 ตามเดิมต้องจ่ายทุกปี เริ่มต้นแต่ ปี 2563 – 2569 รวมเป็นเงิน 22,500 ล้านบาท แต่ดันมาเกิดโควิด-19 จึงทำให้กองทัพเรือต้องคืนเงินปี 2563 จำนวน 3,375 ล้านบาท ให้รัฐบาล รวมกับงบประมาณอื่นๆ เป็นเงิน 4,130 ล้านบาท เพื่อนำไปแก้ปัญหาโควิด-19 จากเหตุนี้ กองทัพเรือจึงต้องปรับปรุงเนื้อหาของข้อตกลงการจัดหาใหม่ และมีกำหนดที่จะลงนามในข้อตกลง จีทูจี ภายในเดือนกันยายนนี้ ทำให้งบประมาณปี 2563 ที่ได้คืนรัฐบาลไป จะกลายมาเป็นงบประมาณในปี 2570 เป็นจำนวน 3,375 ล้านบาท
ภาพจากอีจัน
ด้าน พล.ร.ต.อรรถพล เพชรฉาย ผอ.สำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือ และเลขานุการคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ได้กล่าวถึง 2 ประเด็นหลัก คือ ประเด็นแรก การลงนามในการสร้างเรือดำน้ำลำที่ 1 เป็นการลงนามโดยไม่มีกฎหมายรองรับ ซึ่งทุกอย่างมีเอกสารหลักฐานรองรับได้ ประเด็นที่ 2 การจัดหาเรือดำน้ำลำที่ 2-3 ซึ่งอันที่จริงควรจะเริ่มตั้งแต่ปี 2563 แต่ยอมที่จะเสียสละเพื่อประเทศชาติ ซึ่งในปี 2564 เรามีแผนรองรับอยู่แล้วไม่น่าจะมีปัญหาอะไร และได้ให้ น.อ.ธาดาวุธ ทัตพิทักษ์กุล รองผอ.สำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือ ในฐานะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ ได้ชี้แจง กรณีการจักซื้อเรือดำน้ำลำที่ 1 ที่มีกระแสข่าวว่าเป็นการลงนามโดยไม่มีกฎหมายรองรับนั้น ขอยืนยันว่า กองทัพไม่ได้ซื้อสุ่มสี่สุ่มห้า แต่มียุทธศาสตร์ระยะยาวและนักวิชาการ พบว่าเรือดำน้ำเป็นสิ่งที่สำคัญและมีความจำเป็นกับประเทศไทย และได้เสนอรัฐบาลจนมี มติครม. เห็นชอบให้จัดซื้อเรือดำน้ำจำนวน 3 ลำ เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2558
ภาพจากอีจัน
จากนั้น กองทัพเรือได้พิจารณาอย่างรอบคอบจนพบว่าอู่ต่อเรือดำน้ำที่มีศักยภาพในระดับโลก มีอยู่ 6 อู่ และพบว่าข้อเสนอที่เป็นประโยชน์และคุ้มค่าที่สุด คือข้อเสนอของประเทศจีน เมื่อปี 2558-2559 จากนั้น กระทรวงกลาโหม ได้อนุมัติการจัดหาเรือดำน้ำจำนวน 3 ลำ ตามยุทธศาสตร์ ที่กองทัพเรือได้เสนอขอความเห็นชอบและเหตุผลความจำเป็น ในเดือน ก.ค. ปี 2559 หลังจากนั้นก็ได้มีการประสานงานเจรจา จนนำมาซึ่งการดำเนินการในการจัดซื้อเรือดำน้ำลำแรก เมื่อเดือน พ.ค. ปี 2560 ซึ่งรัฐบาลเห็นว่าการจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพเรือเป็นไปด้วยความเหมาะสม กองทัพเรือเสนอตามขั้นตอนโดยผ่านความเห็นชอบของกระทรวงการต่างประเทศและสำนักงานอัยการสูงสุดในการตรวจความเรียบร้อยในข้อตกลงสัญญาจีทูจี และผ่านสำนักงานกฤษฎีกา สำนักงบประมาณกระทรวงการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จนนำมาซึ่ง ครม.อนุมัติให้ ผบ.ทร.เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยในการลงนามกับประเทศจีน เมื่อวันที่ 18 เม.ย.2560 จนวันที่ 1 พ.ค.2560 ผบ.ทร.อนุมัติให้ เสธ.ทร และ ประธานกรรมการบริหารโครงการจัดหาเรือดำน้ำ คือ พล.ร.อ.ลือชัย เสนาธิการทหารเรือในตอนนั้น เป็นผู้แทนกองทัพเรือไปลงนาม ซึ่งมีการมอบอำนาจชัดเจน ส่วนรัฐบาลจีนมีหน่วยงานซัสติน หรือ องค์การบริหารงานของรัฐด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศของจีน และได้มอบอำนาจให้อู่เรือ บริษัท ซีเอสโอซี (CSOC) เป็นผู้แทนรัฐบาลมาลงนามร่วมกับทางการไทยอย่างชัดเจน อันนี้คือ จีทูจีของจริง ไม่ใช่จีทูจีปลอม ขอยืนยัน กองทัพเรือไม่เคยพูดเท็จกับประชาชน การที่ไทยและจีนลงนามในสัญญาจีทูจี ซึ่งหมายถึงความเอื้อเฟื้อต่อกันระหว่างรัฐบาลและรัฐบาล เป็นการช่วยเหลือกันอย่างมิตรภาพระหว่างไทย-จีน ฉะนั้น เราจึงไม่ใช้คำว่าสัญญา แต่ใช้คำว่า "ข้อตกลง" ซึ่งไม่ใช่ MOU และจากการเจรจาตกลง ไทยได้รับการประกัน 2 ปี นอกจากนี้ยังได้การฝึกอบรมให้ทำการรบได้จริงสำหรับเรือดำน้ำ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการป้องกันตนเอง ด้าน พล.ร.ท.ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ โฆษกกองทัพเรือ ขอย้ำว่ากองทัพเรือเป็นของประชาชน ซึ่งไม่อยากให้นักการเมืองหยิบเอาเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำไปเป็นเครื่องมือทางการเมือง ถ้าหมดมุขแล้ว สู้รัฐบาลไม่ได้ ขอให้ไปหามุขอื่น อย่าเอามุขนี้มาใช้ มาสร้างความเกลียดชังให้กองทัพเรือ เพราะ กองทัพเรือทำงานตามหน้าที่ อย่าปล่อยให้สังคมตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองแบบเก่าเช่นนี้อีก พร้อมขอวิงวอนว่าให้ทำการเมืองอย่างสร้างสรรค์ เห็นแก่ความสงบของชาติเป็นหลัก และขอย้ำว่าการใช้เงินเพียงเล็กน้อยแค่ 0.01 % ในการจัดหาเรือดำน้ำนี้เพื่อดูแลผลประโยชน์อันยิ่งใหญ่ของชาติ ด้าน พล.ร.ต.อรรถพล เพชรฉาย ผอ.สำนักงานจัดหายุทโธปกรณ์ทหารเรือ ได้กล่าวอีกว่า ไทยได้ข้อเสนอจากจีน (CSOC) ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ดีที่สุดสำหรับเรือดำน้ำ 3 ลำ เนื่องจากสภาพงบประมาณเลยจัดหาลำที่ 1 ไปก่อน ซึ่งจีนรับทราบว่าไทยจะจัดหาเรือดำน้ำเป็นระยะๆ การเจรจาของไทยอยู่บนพื้นฐานของเรือดำน้ำ 3 ลำมาโดยตลอด สำหรับเรือดำน้ำ ลำที่ 2 และ 3 กองทัพเรือก็ได้กำหนดงบประมาณไว้แล้ว และได้เจรจากับ CSOC จนได้ข้อยุติแล้ว ซึ่งไทยจะได้ราคาของเรือลำที่ 2-3 ถูกกว่าเรือลำที่ 1 และได้รับอุปกรณ์ต่างๆ เพิ่มขึ้น ประกอบด้วย แผ่นยางลดเสียงสะท้อน ระบบสื่อสารดาวเทียม ระบบสื่อสารข้อมูลทางยุทธวิธีและอาวุธ (จรวดนำวิถี ทุ่นระเบิด ตอร์ปิโด) ดังนั้น หากไม่ดำเนินการตามที่เจรจาไว้ทั้งหมดตามสัญญาจีทูจี จะทำให้ประเทศไทยขาดความน่าเชื่อถือในการทำการค้าขายกับประเทศจีนและอาจส่งผลกระทบอย่างอื่นอีกด้วย ก่อนที่กองทัพเรือจะให้สื่อมวลชนตั้งคำถามในประเด็นสงสัยต่างๆ อาทิ กองทัพเรือจะมีการดำเนินการทางกฎหมาย ฟ้อง ส.ส.พรรคเพื่อไทย และพรรคเพื่อไทย หรือไม่อย่างไร ? คำตอบ คือ อันดับแรกต้องชี้แจงให้ประชาชนและสื่อมวลชนเข้าใจก่อนว่า สัญญาจีทูจี ไม่ใช่สัญญาเก๊ตามคำกล่าวอ้าง สิ่งเหล่านี้ถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนประเด็นอื่น กองทัพเรือต้องพิจารณาว่ามีผลกระทบความเสียหายต่อกองทัพเรือหรือไม่ ซึ่งกองทัพเรือมีหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลเรื่องนี้อยู่ คำถามต่อไป คือ หากการจัดซื้อเรือดำน้ำลำที่ 2 และ 3 ไม่ผ่านในการพิจารณางบประมาณ กองทัพเรือจะต้องเสียค่าปรับหรือไม่ ? จะต้องเจรจาใหม่หรือไม่ ? และประชาชนได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับปากท้องและความมั่นคง เรือดำน้ำก็อยากได้ ปากท้องก็ต้องอิ่ม กองทัพเรือจะจัดการอย่างไร ? คำตอบ ในประเด็นแรก คือ ไม่ต้องเสียค่าปรับแต่อย่างใด เพราะว่าทำสัญญาจีทูจีไปลำเดียว แต่ในการเจรจาโครงการมี 3 ลำ ทางการจีนก็รับทราบแล้ว ซึ่งหากไม่ได้จัดการ เจรจาย่อมเป็น 0 ทั้งหมด ราคาก็อาจสูงขึ้น และต้องเริ่มต้นการเจรจาใหม่ทั้งหมดอีกครั้ง
ภาพจากอีจัน

ด้าน นายพิจารณ์ เชาวพัฒนาวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และกรรมาธิการงบประมาณประจำปี 2564 ได้แสดงความคิดเห็นว่า หลังจากที่ได้ฟังคำชี้แจงของกองทัพเรือ เกี่ยวกับกรณีที่พรรคการเมืองหนึ่งออกมาชี้แจงเรื่องเรือดำน้ำซึ่งจะเป็นความจริงหรือไม่ถูกต้องอย่างไร กองทัพเรือก็มีหน้าที่ต้องออกมาชี้แจงถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวให้ประชาชนทราบ
ในมุมที่ตนได้อยู่ในห้องอนุกรรมธิการครุภัณฑ์ ต้องขอเรียนว่า นักการเมืองที่ออกมาแถลงข่าว ก็ได้แถลงข่าวบนเนื้อหาที่ได้รับการนำเสนอ ซึ่งจากสไลด์ของกองทัพเรือก็มีบางสไลด์ที่ไม่ปรากฏในชั้นอนุกรรมาธิการครูภัณฑ์ ก็เป็นไปได้ที่จะทำให้พรรคการเมืองนั้นๆ ได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน คลาดเคลื่อนและไม่ถูกต้อง และคำชี้แจงหลายๆส่วนก็ไม่ได้ปรากฏในชั้นของอนุกรรมาธิการ เหนือสิ่งอื่นใด ท่าทีของกองทัพเรือควรทำตัวเป็นกลาง ควรชี้แจงถึงข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา ไม่ควรมีลักษณะการพูดที่เหน็บแนมลดทอนความน่าเชื่อถือของตัวบุคคล ซึ่งพฤติกรรมนี้ ไม่ได้ทำให้กองทัพเรือได้รับความนิยมจากประชาชนมากขึ้น นอกจากนี้ จากการฟังแถลงของกองทัพเรือ ก็มีการพูดถึงเพียงโควิด-19 แต่ไม่มีการพูดถึงวิกฤตเศรษฐกิจแต่อย่างใด ซึ่งทุกวันนี้สังคมกำลังถกเถียงกันถึงลำดับความสำคัญของการจัดสรรงบประมาณ

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีข่าวเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำถูกนำเสนอให้เป็นที่ทราบโดยทั่วกัน สังคมก็เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ถึงความเหมาะสมและความจำเป็น ที่ตอนนี้ประชาชนกำลังเดือดร้อนทั้งกับโรคระบาดและเศรษฐกิจ แต่ทางรัฐบาลกลับจัดงบไปซื้อเรือดำน้ำราคาแสนแพงว่ามันใช่เวลาที่จะซื้อตอนนี้ไหม? แม้ทางกองทัพเรือจะออกมาชี้แจงถึงปมข้อสงสัยต่างๆแล้วก็ตาม 

ขอขอบคุณไลฟ์สดจาก Thai PBS