ศาลแพ่งยกฟ้องคดีวิสามัญ ชัยภูมิ ป่าแส ทบ. ไม่ต้องชดใช้

ศาลแพ่งยกฟ้องกองทัพบก คดีวิสามัญ ชัยภูมิ ป่าแส – ครอบครัว เตรียมหารือยื่นอุทธรณ์

วันนี้ (26 ต.ค. 63) ที่ห้องพิจารณา 503 ศาลแพ่ง ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีที่นางนาปอย ป่าแส มารดาของ ชัยภูมิ ป่าแส เป็นโจทก์ฟ้อง กองทัพบก เป็นจำเลย ให้ชดใช้ทางละเมิด กรณีเจ้าหน้าที่ทหาร สังกัดกองทัพบก ได้วิสามัญฆาตกรรม ชัยภูมิ ที่บริเวณ ด่านรินหลวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่

ภาพจากอีจัน



ในวันนี้ นางนาปอย ได้เดินทางมายังศาลแพ่ง พร้อมกับนายไมตรี จำเริญสุขสกุล ผู้ก่อตั้งกลุ่มกิจกรรมเพื่อสังคมรักษ์ลาหู่ ผู้ดูแลชัยภูมิ, นายปรีดา นาคผิว ทนายความจากมูลนิธิ ผสานวัฒนธรรม และ ผู้เกี่ยวข้อง

นายไมตรี เปิดเผยความรู้สึกก่อนขึ้นฟังคำพิพากษาว่า ที่ผ่านมา กลุ่มตนเองได้พยายามเรียกร้องขอความเป็นธรรมหลัง ชัยภูมิ เสียชีวิต มาโดยตลอด เพราะทางครอบครัวอยากรู้ความจริงว่า สาเหตุที่ ชัยภูมิ เสียชีวิตไปนั้นเกิดจากอะไร เนื่องจากที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ระบุว่า สาเหตุที่ ชัยภูมิ เสียชีวิต มาจากเรื่องของยาเสพติด แต่ไม่เคยเปิดเผยข้อมูลภาพ จากกล้องวงจรปิดที่ติดอยู่ในจุดเกิดเหตุให้สาธารณชนรับทราบ

ภาพจากอีจัน



ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ทางกลุ่มฯ ต้องต่อสู้ แม้ว่าการต่อสู้จะเป็นในด้านของการเรียกค่าเสียหาย แต่นั่นก็เป็นแค่เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นเพราะสิ่งที่ต้องการจริง ๆ คือ ความยุติธรรมต่อเด็กคนหนึ่งซึ่งเป็นเด็กชนเผ่าและไม่มีสัญชาติไทย ทุกคนควรจะมองเขาคือมนุษย์คนหนึ่ง ประกอบกับเมื่อเขาเสียชีวิตไปแล้ว ผู้ที่กระทำกลับไม่ได้รับการลงโทษใด ๆ และยังไม่มีการชี้แจงข้อเท็จจริงจากทางเจ้าหน้าที่รัฐ

เบื้องต้นยอมรับว่าที่ผ่านมามีความรู้สึกกลัว แต่การฟ้องร้องก็เป็นกระบวนการเดียวที่จะสามารถเรียกร้องความยุติธรรมให้กับนายชัยภูมิได้

นายปรีดา กล่าวว่า คดีนี้ได้มีการฟ้องร้องกันที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่เพื่อพิสูจน์ว่าการเสียชีวิตของ นายชัยภูมิ เกิดจากอะไรแต่ไม่ใช่การชี้ถูกชี้ผิดว่าใครเป็นฝ่ายผิด ซึ่งศาลก็ได้ระบุชัดว่าใครเป็นคนยิงนายชัยภูมิ

ส่วนการฟ้องคดีแพ่งก็เป็นการใช้สิทธิ์ในฐานะญาติของผู้ตายมาฟ้องเรียกร้องค่าเสียหาย เพราะเจ้าหน้าที่ได้กระทำในหน้าที่ เมื่อกระทำในหน้าที่ก็เป็นอำนาจของประชาชนในการที่จะฟ้องร้อง ด้วยการฟ้องเรียกค่าเสียหาย จากหน่วยงานของรัฐ ในที่นี้ก็คือ กองทัพบก ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และจะเป็นส่วนที่ทำให้ไปพิสูจน์ความจริงต่อว่าการกระทำในหน้าที่เกินกว่าเหตุ สมควรที่หน่วยงานรัฐจะต้องรับผิดชอบหรือไม่

ภาพจากอีจัน


ซึ่งทางหน่วยงานก็มีหน้าที่ที่จะต้องไปแก้ไขปรับปรุง ในการพัฒนาบุคลากรเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้อีก และนี่ก็คือเป้าหมายที่ต้องการจะให้เกิดการปรับปรุงเพราะเหตุที่เกิดลักษณะนี้ก่อนหน้าคดีของ นายชัยภูมิ ระยะเวลาห่างกันไม่นาน ก็เคยเกิดมาแล้วกับ นายอะเบ แซ่หมู่ ชาวไทยภูเขาเผ่าลีซู ซึ่งคดีของ นายอะเบ ทางศาลแพ่งก็ได้พิพากษาให้ กองทัพบก ชดใช้ค่าเสียหาย โดยทาง กองทัพบก ก็ไม่ได้อุทธรณ์ และปัจจุบันคดีก็ได้ดำเนินการถึงที่สุดแล้ว กองทัพบก ได้นำเงินมาวางไว้ที่ศาลแพ่งเพื่อที่จะโอนเงินให้กับแม่ของนายอะเบต่อไป


ทั้งนี้ คดีดังกล่าว ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์จำเลยแล้ว พยานโจทก์นำสืบในทำนองเดียวกัน นายชัยภูมิ ผู้ตายมีผลการเรียนดี เป็นนักกิจกรรมจิตอาสา เคยเป็นประธานนักเรียน ชอบช่วยเหลือครูและเพื่อน มีความกตัญญู ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด

ส่วนจำเลยไม่รู้จักผู้ตาย โดยทหารพยานจำเลยเบิกความขณะเกิดเหตุตรวจค้นรถ ผู้ตายไม่ยินยอมให้เปิดฝาหม้อไส้กรองอากาศ เมื่อเปิดพบยาบ้า 2,800 เม็ด ผู้ตายหลบหนี ใช้ระเบิดขว้าง ทหารจึงหยิบปืน M16 ยิงที่แขนซ้ายเพื่อหยุดการกระทำกับเจ้าหน้าที่ พยานจำเลยแจ้งพบบัญชีผู้ตายมีการเคลื่อนไหวเชื่อมโยงเรื่องยาเสพติด บันทึกการโทรศัพท์เกี่ยวกับผู้ต้องหาคดียาเสพติด พยานจำเลยที่เป็นเพื่อนนักเรียนเชื่อว่า จำเลยน่าจะรู้เรื่องยาเสพติด ประจักษ์พยานไม่พบพิรุธสงสัย พลทหารยิงผู้ตายเป็นการกระทำเพื่อป้องกันตัวสมควรแก่เหตุ จึงไม่ถือว่าเป็นการละเมิดต่อโจทก์ พิพากษายกฟ้อง

ภายหลังพิพากษา โจทก์พร้อมญาติและเพื่อนที่เดินทางมาให้กำลังใจ ต่างรู้สึกเสียใจกับคำพิพากษา และต้องการที่จะยื่นอุทธรณ์คดีต่อไป