ดีอีเอสเตือน อย่าเเชร์ข่าวปลอม เบอร์ดูดเงิน เเฮ็กเฟซ ไม่มีจริง

ดีอีเอสยืนยันเเล้ว! เบอร์อันตราย อ้างว่ารับเเล้วดูดเงิน เเฮ็กเฟซบุ๊ก ไม่ใช่ความจริง วอนหยุดเเชร์ต่อ

ก่อนหน้านี้ ชาวโซเชียลแห่เเชร์กันว่อน เตือนภัยมิจฉาชีพ เบอร์นี้โทรมาอย่ารับ เมมไว้เลย

พร้อมกับบอกว่า ระวังเบอร์โทรนี้โทรมาหลอกแฮกเฟซบุ๊ก จะมาเอาข้อมูลส่วนตัวแฮ็กเฟซบุ๊ก และแฟนเพจของเราด้วย เสียงโทรมาเป็นผู้หญิงมีเสียงคุยเจี้ยวจ้าวเหมือนไม่ใช่เบอร์โทร Official

อีจันพยายามตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อต่อไปยังเบอร์ต้นทาง เเต่ไม่สามารถติดต่อได้ เเละพยายามหาข้อมูลพบว่า มีคนออกมาโพสต์ลักษณะเดียวกันจำนวนมาก ขณะเดียวกันมีการตั้งกระทู้ถามเครือข่ายมือถือถึงเบอร์ดังกล่าว เเละทุกข่าย ออกมายืนยันว่า เบอร์ที่ถูกเเชร์ ไม่ใช่เบอร์จากคอลเซนเตอร์ หรือหน่วยงานตัวเอง

ผวา! เบอร์อันตราย ทุกเครือข่ายยัน ไม่ใช่เบอร์คอลเซนเตอร์

ล่าสุดวันนี้ 1 ก.ย.2564 โฆษกดีอีเอสเตือน อย่าหลงเชื่อข่าวปลอมเบอร์อันตรายห้ามรับสาย หากรับสายเงินหายหมดทั้งบัญชีขอประชาชนระมัดระวัง อย่าให้ข้อมูลสำคัญของตัวเอง ข้อมูลทางธนาคารกับใครง่ายๆ

โดยนางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวว่าตามที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์เรื่อง เบอร์อันตรายห้ามรับสาย หากรับสายเงินหายหมดทั้งบัญชี ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

กรณีการแชร์ข้อความแจ้งเตือนระบุเบอร์ที่ห้ามรับสายเด็ดขาด เพราะเงินจะถูกขโมยจนหมดบัญชีนั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ตรวจสอบและชี้แจงข้อเท็จจริงว่า จากการตรวจสอบกับฝ่ายเทคนิคของผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่พบว่า ยังไม่มีการยืนยันว่าถ้ารับสายจากหมายเลขโทรศัพท์ที่โทรเข้ามาแล้วจะสามารถดึงเอาเงินในบัญชีของผู้รับสายไปจากบัญชีได้ ขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวัง อย่าให้ข้อมูลสำคัญของตัวเอง ข้อมูลทางธนาคารกับใครง่ายๆ เพราะอาจถูกมิจฉาชีพนำข้อมูลเหล่านั้น ไปใช้ในการเข้าถึงบัญชีธนาคารหลอกให้ทำธุรกรรม จนต้องสูญเสียเงินได้

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากกสทช. สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.nbtc.go.th หรือโทร. 02 6708888

นอกจากนี้ ประชาชนสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอมต่างๆ ได้ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ดังนี้ ไลน์ @antifakenewscenter เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/ ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 ได้ตลอด24ชั่วโมง

เเต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หากยังหาต้นต่อของเบอร์ไม่ได้ ระวังการให้ข้อมูลส่วนตัว ไม่ว่าจะทางการพูดคุยหรือโต้ตอบทาง sms ด้วยนะคะ กันไว้ดีกว่าเเก้ค่ะ

คลิปอีจันแนะนำ
“SME ไทย” ตีตลาดระดับโลกได้ เพราะ “Thai Wara”
{“src”: “8318e5ba-c793-4338-b422-d0bc581e63de”}