อาจารย์ ม.ดัง วิเคราะห์ความปัง ปรากฏการณ์ พระมหาไพรวัลย์

เกินต้าน! อาจารย์ ม.ดัง วิเคราะห์ความปัง ปรากฏการณ์ พระมหาไพรวัลย์ ควงคู่ พระมหาสมปอง ไลฟ์สดคนดูกว่า 2 แสนคน

กลายเป็น ปรากฏการณ์ แบบใหม่ แบบสับ เมื่อคืนนี้ 3 ก.ย. 64 พระมหาไพรวัลย์ ไลฟ์สด คนดูกว่า 2 เเสนคน กระแสแรงเกินต้าน จนติดเทรนทวิตเตอร์ อันดับ 2

ไม่น่าเชื่อว่า ไลฟ์สดเมื่อวานนี้ จะรวบรวมเพจดังๆ ทั่วฟ้าเมืองไทย มาคอมเมนต์ได้มากที่สุด

จันเชื่อว่า ปรากฎการณ์นี้ กลายเป็นไวรัลชั่วข้ามคืน ไม่ใช่เพราะโชคช่วย!!!

จากการวิเคราะห์ของจัน มีเหตุผลที่ว่า

1. ประเทศไทยมันมีโมเดล เเผนผัง แพทเทิร์นวางไว้เเละส่งต่อกันว่า “เน็ตไอดอล หรือ Influencer” พอมีชื่อเสียงโด่งดัง สินค้า เเบรนด์ สื่อ แย่งตัวกันรีวิวสินค้า เเย่งตัวกันออกสื่อเพื่อโกยเรทติ้ง

เเต่พระมหาไพรวัลย์ ไม่ได้อยู่ในฐานะ “เน็ตไอดอล หรือ Influencer” เเต่อยู่ในชุดผ้าเหลืองภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ ต้องรักษาศีล 227 ข้อ ถ้าจะท่านรีวิวสินค้า มันเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมเเน่ๆ

จึงทำให้เกิดเป็น ปรากฏการณ์ที่ สื่อและแบรนด์ต่างๆ มารวมตัวคอมเมนต์ โดยไม่ได้นัดหมาย เพราะเป็นอีกหนึ่งช่องทาง ที่เพจต่างๆ จะใช้โอกาสนี้ แสดงตัวตน หรือเรียกได้ว่า โปรโมทตัวเอง ให้คนดูกว่า 2 แสนคน ในช่วงเวลานั้นได้เห็น

“คนดูอยู่ที่ไหน…สื่อเเละเเบรนด์ย่อมอยู่นั้น”

2. การสร้างตัวตน “สื่อออนไลน์ไทย” ถ้าจะดังชั่วข้ามคืน ต้องมาสายตลก ยกตัวอย่างเช่น “แจ็คกี้ ชาเคอลีน น้องบอง”

ยุคนี้คนชอบดูอะไรบันเทิง สายสวย สายมั่น สายรวย ก็ต้องก็ต้องเหนื่อยหน่อย ยิ่งสถานการณ์ตอนนี้ ที่มันตึงเครียด คนจึงโหยหาความผ่อนคลาย เเละต้องการอยู่ในเทรนด์ ที่ทันสมัย

จึงไม่แปลกว่า พระมหาไพรวัลย์ จะเป็นที่รู้จักในช่วงเวลานี้

3. “พฤติกรรมการเลียนเเบบ คัดลอกซ้ำ ทำตาม” พอเริ่มมีเพจดังมาคอมเมนต์ ก็ทำให้อีกหลายเพจที่เห็น แห่มาคอมเมนต์ตามกัน เพื่อให้เกิดความสนุก

และใช้โอกาสนี้ tie-in สินค้าตัวเอง แบบเนียนๆ จากปรากฎการณ์นี้ มันก็ทำให้รู้ได้ว่า ทฤษฎีปากต่อปาก มันก็ไม่ได้ล้มหายตายจาก ไปจากนักสื่อมวลชน

4. พระมหาไพรวัลย์ เป็นที่รู้จัก ต้องยอมรับว่า ส่วนหนึ่ง กลุ่ม LGBTQ หรือ กลุ่มเพศทางเลือก ถูกใจสิ่งที่ท่านทำ

ประเด็นนี้น่าสนใจที่ว่า หลายครั้งกลุ่มคนเหล่านี้ ชื่นชอบ พูดถึง หรือเเชร์โพสต์อะไร ไม่นานเรื่องนั้น จะกลายเป็นไวรัล ขยายวงกว้างไปสู่หลายๆเพศ

เเล้วพระมหาไพรวัลย์ ท่านก็จับทางถูก ใช้คำศัพท์เฉพาะทาง กลุ่ม LGBTQ หรือ กลุ่มเพศทางเลือก มาพูดคุย จึงกลายเป็นมิติใหม่ ที่ไม่เคยมีพระท่านไหนทำ

ทั้ง 4 ข้อ ที่จันวิเคราะห์มา เป็นมุมของจันนะคะ คราวนี้ เราลองไปอ่านการวิเคราะห์ ของอาจารย์ ในมหาวิทยาลัย กันบ้างค่ะ

อาจารย์พรรณวดี ประยงค์ รองคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร เเละอาจารย์ประจำกลุ่มวิชาสื่อสารองค์กรคณะวารสารศาสตร์ และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ปรากฏการณ์นี้ ว่า…

1.เป็นปรากฏการณ์ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จึงได้รับความสนใจ พระสงฆ์มาไลฟ์ พูดคุยแบบเป็นกันเอง ใช้ภาษาวัยรุ่น ดูแล้วบันเทิง สนุกสนาน เข้าถึงคนรุ่นใหม่ สอดแทรกเรื่องธรรมะที่จับต้องได้

ซึ่งไม่เหมือนกับการสนทนาธรรม แบบที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกัน

ดังนั้น รูปแบบอาจจะตอบโจทย์ กับพฤติกรรมของผู้รับสาร และคนรุ่นใหม่ ที่ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่บนโลกออนไลน์

โควิดยิ่งทำให้คนไม่ได้ออกไปที่ไหน ห่างไกลจากวัด

นอกจากนี้ การไลฟ์ยังช่วยให้ผู้ชมรู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งและสามารถมีส่วนร่วมได้ตลอดเวลา

2.ในเชิงของการสื่อสารบนโลกออนไลน์ ถือว่าก็สร้างกระแส ให้คนหันมาสนใจได้จริง ถึงขนาดที่หลายคนพูดถึง และรอคอยดูไลฟ์ รวมถึงมีคนดูพร้อมกัน กว่า 2 แสนคน

ถือว่าน้อยเพจที่จะทำได้แบบนี้ ยังไม่นับรวมที่คนแชร์และพูดถึงกัน ตามหน้าฟีดเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์

ซึ่งในมุมของการสร้างกระแส ก็ต้องยอมรับว่าประสบความสำเร็จ สามารถช่วงชิงพื้นที่บนสื่อสังคมออนไลน์ได้ ทำให้หลายเพจดัง หลายสื่อ หลายแบรนด์ เข้ามาแสดงตัว

3.จะเห็นว่าเพจแบรนด์ดัง ก็เข้ามาคอมเมนต์ โต้ตอบ ในไลฟ์จำนวนมาก นี่ก็เป็นปรากฏการณ์ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ในช่วงนั้น แบรนด์อาจพยายามช่วงชิง เข้าไปเกาะกระแส แต่ผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่เป็นอย่างหวัง หรือยังไม่สามารถวัดผลได้ เพราะมีแบรนด์เข้าไปคอมเมนต์ จำนวนมาก อาจไม่ได้ช่วยให้ ได้รับการจดจำมากเท่าไร

นอกจากแบรนด์นั้น จะนำการมีส่วนร่วมนี้ ไปคิดต่อยอดผลิตคอนเทนต์ หรือทำ realtime content ของตัวเอง ที่เชื่อมโยงกับกระแสที่เกิดขึ้น

ส่วน ผู้ช่วยศาสตราจารย์วรวุฒิ อ่อนน่วม อาจารย์ประจำวิทยาลัยนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาการสร้างสรรค์คอนเทนต์ดิจิทัล (Digital Content Creation) วิเคราะห์ไว้ว่า..

“ปรากฏการณ์นี้ สะท้อนมุมมองได้หลากหลาย แต่ขอพิจารณา ในมิติด้านการสร้างตัวตน บนโลกออนไลน์ และมิติการสร้างคอนเทนต์

ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าไลฟ์สด พระมหาไพรวัลย์และพระมหาสมปอง เป็นกระแสที่แรงมากๆ ก่อนหน้านี้เราจะเห็นข้อความ หรือวิดีโอแบบสั้นๆ จากไลฟ์ บนหน้าเพจพระมหาไพรวัลย์”

“ที่ท่านตอบคอมเมนต์กลุ่ม LGBT อย่างสนุกสนานน่ารัก มีการหยิบยืมคำศัพท์กลุ่ม LGBT เป็นคอนเทนต์ลักษณะหยอกล้อ

จนเป็นกระแสไวรัลอย่างถล่มทลายมาระยะหนึ่ง และจนถึงวันที่การไลฟ์ปะทะ ระหว่างพระมหาไพรวัลย์ และ พระมหาสมปอง ก็เป็นที่พูดถึงและติดตามกันอยู่

คำถามคือ อะไรทำให้ คอนเทนต์ไลฟ์ของพระ น่าสนใจขนาดนั้น?

1.พระทั้งสองรูป ถือว่ามีจุดยืนในการทำหน้าที่เผยแผ่ธรรมะ ในรูปแบบที่สนุกสนาน ผ่านช่องทางต่างๆ จนมีผู้ติดตามมาระยะหนึ่ง

แต่เมื่อพระมหาไพรวัลย์ จับคอนเทนต์และกลุ่มเป้าหมายกลุ่ม LGBT ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายใหญ่ ที่ขับเคลื่อนกระแสต่างๆ บนโลกออนไลน์ และด้วยการนำศัพท์ต่างๆ ที่เหล่า LGBT ได้บัญญัติกับเอง นำมาเป็นจุดขายในการสร้างคอนเทนต์

ยิ่งทำให้มีผู้ติดตามเพจมากขึ้นไปเรื่อยๆ เช่น พส. = พระสงฆ์ , ตีให้ตายก็ไม่โป๊ะ , จึ้ง , แกง และอีกมากมาย

โดยศัพท์เหล่านี้ มีการอัปเดท และผันแปรตลอดเวลาบนโลกโซเชียล แต่การที่พระมหาไพรวัลย์ นำมาใช้ พร้อมกับบูรณาธรรมะใส่ลงไปด้วย

ยิ่งทำให้ตัวตนบนโลกออนไลน์ ของพระนักเทศน์กลายเป็นกระแสสังคม และเป็นภาพจำที่ทุกคนอยากติดตาม ตอบโจทย์หลักการที่ว่า “Experience is king” คือการสร้างสรรค์คอนเทนต์ และสร้างความน่าสนใจบนโลกออนไลน์ด้วยการมีประสบการณ์ หรือบริบทร่วมกันระหว่างผู้สื่อสาร

2.การโต้ตอบ มีปฏิสัมพันธ์กับแฟนเพจ หรือ แฟนคลับ โดยปกติแล้วการเทศนาธรรมะเรามักจะคุ้นชิน ส่วนใหญ่จะเป็นการสื่อสารทางเดียว และมีลักษณะภาษาที่เป็นทางการ มีศัพท์เฉพาะที่กลุ่มเป้าหมายวัยรุ่นเข้าถึงได้ยาก

แต่การไลฟ์ หรือการสร้างคอนเทนต์ สไตล์พระมหาไพรวัลย์ เน้นการมีส่วนร่วมหยอกล้อ ทีเล่นทีจริง และสร้างเสียงหัวเราะ ทั้งการโพสต์ การคอมเมนต์ตอบ หรือการตอบคอมเมนต์ในไลฟ์

ยิ่งทำให้เชิญชวนให้ คนในโลกโซเชียล อยากเข้าไปมีส่วนร่วมและติดตาม

3.การเปลี่ยนภาพลักษณ์ของพระสงฆ์ ในฐานะผู้เผยแผ่ธรรมะ ให้เข้าถึงได้ง่าย เป็นมิตร และมอบความสนุกสนาน สบายใจ ในเวลาที่ทุกคนต่างเคร่งเครียด กังวลใจภายใต้สถานการณ์เช่นนี้

ซึ่งเหตุผลนี้ อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่ส่งให้ไลฟ์ประวัติศาสตร์ของพระนักเทศน์ เป็นที่ติดตามกันอย่างล้นหลาม บนโลกออนไลน์

พร้อมกับสร้างปรากฏการณ์ เพจดัง สื่อ แบรนด์สินค้า มารวมตัวกันโดยมิได้นัดหมาย ต่างก็โต้ตอบอย่างสนุกสนาน ในไลฟ์สด

คลิปอีจันแนะนำ
แม่ครับ เอา หรือ ไม่เอา?