ถนนไทย พังพินาศ ปานหลุมอุกกาบาต จาก ‘ส่วยรถบรรทุก’

อดีตนายกสมาคมวิศวกรรม โวย รถบรรทุกน้ำหนักเกิน ทำถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ ชาวเน็ต คอมเมนต์สาเหตุรัวๆ ส่วนหนึ่งเกิดจาก ‘ส่วยรถบรรทุก’

ด้วยข้อกฎหมายที่ตึงเกินไป อาจกลายเป็นช่องโหว่ ช่องว่างหนึ่งที่สนับสนุนให้เกิดการเรียกรับสินบน หรือเก็บส่วย จากเจ้าหน้าที่ ผู้รักษากฎหมายบางคน ดูอย่างกรณีล่าสุด ‘ส่วยรถบรรทุก’ ที่คนในวงการต่างรู้ดีว่า เรื่องนี้มีมาแล้วนานนม จากเหตุผลบางประการ 

อย่างถ้ารถบรรทุกขนข้าว ขนของ จนมีน้ำหนักเกินกว่ากฎหมายกำหนด โทษหนักถึงขั้นยึดรถ แต่ถ้าไม่อยากเสียเวล่ำ เวลา หรือเจอโทษหนักทั้งจำทั้งปรับ ยอมจ่ายส่วยนี้ เพื่อหวังจบปัญหา ลดโทษหนักเป็นเบาได้ อีกทั้ง เรื่องนี้ยังเป็นบ่อเกิดในหลายปัญหาของสังคมไทย ที่เห็นได้ชัดอย่างหนึ่ง คือ ถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ

โดยล่าสุด วันนี้ (5 มิ.ย.66) นายต่อตระกูล ยมนาค อดีตนายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ต่อตระกูล ยมนาค เกี่ยวกับปัญหาถนนเป็นหลุมเป็นบ่อของสังคมไทย ระบุว่า

ถนนหลวง ของประเทศไทยพัง วิศวกรขออธิบาย

วิศวกรโยธา มีสาขาวิชาการแยกออกไปอีกไม่น้อยกว่า 8 สาขา หนึ่งในสาขาที่สำคัญมากแต่คนไม่ค่อยทราบ คือ วิศวกรรมขนส่ง (Transportation Engineering) ซึ่งศึกษา เรียนรู้วิชาการการออกแบบถนนตามมาตรฐานสากล สำหรับประเทศไทย

โดยใช้มาตรฐานถนนของสหรัฐอเมริกาเป็นหลักในระดับความมั่นคงแข็งแรงของตัวถนน ด้วยการออกแบบแนวถนน และจัดวางระบบ อุปกรณ์ให้ความปลอดภัยแก่ผู้ใช้ถนน

ตั้งแต่เมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมา มีปัญหารถบรรทุก 10 ล้อ บรรทุกเกิน 21 ตัน ที่กฏหมายกำหนด เจ้าหน้าที่ไม่สามารถควบคุมได้ นักการเมืองประเภทเจ้าพ่อ ที่มีตำแหน่งระดับรัฐมนตรีมหาดไทย ก็ร่วมกับฝ่ายรถบรรทุกให้ทางวิศวกรผู้รับผิดชอบดูแลซ่อมบำรุงถนนให้เพิ่มน้ำหนักขึ้น

แต่เมื่อเพิ่มขึ้นเป็น 30 ตันแล้ว ก็ยังแข่งกันบรรทุกน้ำหนักเกินขึ้นต่อไปอีกหลายสิบตัน โดยไม่เกรงกลัวกฏหมาย และเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย

ตามหลักวิชาการออกแบบถนน หากบรรทุกน้ำหนักเกินพิกัด เกินมาตรฐาน ทางหลวงจะไม่ถึงกับพังเสียหายในทันที แต่จะบอบช้ำและทำให้อายุการใช้งานสั้นลง เพราะอำนาจการทำลายทางหลวงจะมากกว่าเกณฑ์มาตรฐาน โดยอำนาจการทำลายนี้จะเพิ่มเป็นยกกำลัง 2 ของจำนวนเท่าของน้ำหนักบรรทุกที่เพิ่มขึ้นจากมาตรฐาน

ตัวอย่างเช่น ถ้าบรรทุกเกิน 2 เท่า อำนาจการทำลายจะเป็น 4 เท่า อายุใช้งานลดลงเหลือเพียง 1/4 ของมาตรฐาน ผลออกมาเป็นเช่นนี้มาตลอดเมื่อถนนพังประชาชนก็โทษว่า วิศวกรออกแบบถนนไม่ดี ต้องปิดถนนซ่อมกันเป็นประจำ

บัดนี้ ความจริงก็ได้ปรากฏแล้วว่า ถนนนี้ถึงจะเพิ่มให้บรรทุกมากขึ้นแล้ว ก็จะละเมิดกฎหมายเพิ่มขึ้นไปอีก  ตราบใดที่เจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งหลายไม่ควบคุมการบรรทุกน้ำหนักอย่างจริงจัง

ขอเสนอว่าให้เลิกใช้คนไปคอยเฝ้าตรวจรถเกินน้ำหนักอีกต่อไป แล้วให้ใช้หุ่นยนต์มาเฝ้าแทน ที่เรียกว่า WIM (Weight in Motion  system) เป็นระบบล่าสุดที่รถบรรทุกวิ่งผ่านแล้วรู้น้ำหนักทันที รู้แล้วแจ้งได้ทันที

หลังจากโพสต์ดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไป ได้มีชาวเน็ตมาร่วมแสดงความคิดเห็นถึงปัญหานี้เป็นอย่างมาก เช่น เจ้าของรถบรรทุกส่วนใหญ่ระดับเจ้าพ่อในพื้นที่ทั้งนั้นใครกล้าไปยุ่ง ผมเคยเป็นเจ้าหน้าที่ที่ดูแลถนนของ อปท.เจอรถบรรทุกทรายแบกมาเต็มเอี๊ยดของกำนันในพื้นที่ วิ่งวันหนึ่งไม่รู้กี่เที่ยวแล้ว ถนนมันจะไปเหลือเหรอ ยิ่งเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำท่วมถึงพื้นดินเดิมเป็นดินเหนียวโครงสร้างทำมาตรฐานยังไงก็เอาไม่อยู่เมื่อถูกบดทับด้วยน้ำหนักที่เกินมาตรฐานทุกวันๆ 

ด้านมืดเมืองไทยมีจริงแต่ห้ามพูด คนเกี่ยวข้องเยอะ รู้กันหมด แต่ตามๆ กันไป สังคมคงเป็นแบบนี้ไปอีกนาน , รถบรรทุกน้ำหนักเกินโทษหนักถึงขั้นยึดรถ ราคารถบรรทุก รถพ่วงไม่ใช่แสนสองแสน ราคาเป็นล้านๆ  ผู้ประกอบการขนส่งใครมันจะไปอยากถูกยึด ก็ต้องเคลียร์จ่ายกันไป ผู้รักษากฎหมายก็เห็นช่อง ว่าโทษมันหนัก ก็ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือหาประโยชน์ซะ

ทั้งนี้ ต้องรอดูว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการจัดการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร หากพบเห็นหรือสงสัยว่ามีการบรรทุกน้ำหนักเกิน สามารถโทรแจ้งที่สายด่วนกรมทางหลวง 1586 เพื่อร่วมกันช่วยยืดอายุการใช้งานของถนน ช่วยประหยัดงบประมาณซ่อมบำรุงถนนของประเทศ และลดความเสี่ยงต่ออันตรายที่เกิดกับโครงสร้างสะพานและทางลอด รวมถึงลดการเกิดอุบัติเหตุบนทางหลวง

คลิปอีจัน แนะนำ