หมอธีระ แนะ การสุ่มตรวจและสื่อสาร คือเรื่องสำคัญในการคุมโควิด

หมอธีระ โพสต์แนะ การสุ่มตรวจและสื่อสาร คือเรื่องสำคัญในการคุมโควิด จับตาการฉีดวัคซีน

วัคซีนโควิด-19 พร้อมทั้งการควบคุมการระบาดระลอกใหม่ เป็นสิ่งที่ประชาชนให้ความใจอย่างมากในตอนนี้ เนื่องจากได้รับผลกระทบหลายด้านโดยเฉพาะเศรษฐกิจ

ล่าสุดวันนี้ (20 ม.ค. 64) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมามีหลายประเทศเล็งเห็นว่า ปริมาณการผลิตวัคซีน “ จะไม่เพียงพอแก่ความต้องการของโลก ” จึงมีแนวคิดที่จะวางแผนฉีดวัคซีนในลักษณะที่ให้วัคซีนเข็มแรกแก่คนในประเทศให้มากที่สุดไปก่อน เพื่อหวังผลป้องกันในระยะสั้นแต่ได้จำนวนคนเยอะไว้ก่อน แล้วค่อยฉีดเข็มที่สองโดยอาจช้ากว่าที่ระบุไว้ในคำแนะนำวิธีฉีดของบริษัทวัคซีน หรือที่เรียกว่า delayed second dose

โดยประเทศที่คิดและพูดคุยแนวนี้มีทั้งสหราชอาณาจักร อเมริกา และอื่นๆ แต่ถือว่าเป็นเรื่องที่ถกเถียงทางการแพทย์อย่างมาก เพราะมาตรฐานวิธีการฉีดนั้นควรได้รับการกำหนดจากการศึกษาวิจัยอย่างเป็นขั้นเป็นตอน วัคซีนแต่ละชนิดล้วนถูกพิสูจน์สรรพคุณมาตามรูปแบบการฉีด ระยะห่างระหว่างแต่ละเข็มที่แน่นอนตายตัว แต่หากไปปรับเอาเองก็จะไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะการันตีได้ว่าสรรพคุณจะเปลี่ยนไปอย่างไร และมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตามคงต้องติดตามดูความเคลื่อนไหวของแต่ละประเทศต่อไปว่าจะตัดสินใจมุ่งเป้าใด ระหว่างระยะสั้นกับระยะยาว

นอกจากนี้ รศ.นพ.ธีระ ยังได้วิเคราะห์สถานการณ์ระบาดโควิดระลอกใหม่ว่า สำหรับสถานการณ์ของไทยเรานั้น หากวิเคราะห์ตามหลักวิชาการแล้ว ธรรมชาติของการระบาดซ้ำของทั่วโลกชี้ให้เห็นว่า “คุมได้ยาก” ใช้เวลานาน เพราะกระจายไปทั่ว ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มเสี่ยง แต่ไปถึงคนทั่วไปในสังคมที่สามารถติดเชื้อจากการดำรงชีวิตประจำวันได้ และเราก็เห็นได้ว่าเคสติดเชื้อต่างๆ ตั้งแต่เริ่มระบาดซ้ำในช่วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันเป็นเช่นนั้นจริงๆ

สิ่งที่เป็นข้อสังเกต และพึงระวังคือ การ"สุ่ม"ตรวจในกลุ่มเสี่ยง คงได้ประโยชน์เหมือนถ่ายภาพแบบไกลๆ เพื่อดูว่ามีอะไรผิดสังเกตไหม แต่ต้องไม่ลืมว่ามีโอกาสพลาดที่จะตรวจไม่เจออะไร เพราะเรา"สุ่ม"ตรวจแค่บางคนจากทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่น การสุ่มตรวจ 50 คนจากโรงงานแต่ละแห่ง ซึ่งแต่ละแห่งอาจมีคนงานจำนวนมาก ยิ่งหากเป็นพื้นที่จังหวัดที่มีการระบาดหนักมาก่อน โอกาสแพร่กระจายติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง รวมถึงคนทั่วไปในจังหวัดย่อมมีสูง แม้สุ่มตรวจจนครบทุกโรงงาน ก็ไม่สามารถการันตีความปลอดภัยได้ และเสี่ยงจะระบาดปะทุซ้ำแล้วซ้ำเล่าในระยะเวลาต่อมา

การ"สื่อสาร"ให้สาธารณะได้ทราบสถานการณ์ระบาดนั้นสำคัญอย่างยิ่ง ข้อมูลที่ทำการสื่อสารควรครบถ้วนสมบูรณ์เพียงพอ ไม่ใช่เพียงพรรณนาตัวเลขบางตัว เช่น จำนวนการติดเชื้อในภาพรวม แต่ไม่เอื้อนเอ่ยถึงข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนการตรวจในแต่ละวัน จำแนกตามพื้นที่ กลุ่มประชากร หรือกิจการ/กิจกรรม ซึ่งล้วนเป็นข้อมูลสำคัญที่จะกระตุ้นเตือนให้คนได้คิดวิเคราะห์ และวางแผนปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

เอาแค่เรื่องสุ่ม กับเรื่องสื่อสาร ก็ถือเป็นสองเรื่องสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อชะตาการระบาดอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก จะชนะศึกนี้ได้ ต้องทำให้ประชาชนเข้มแข็ง และรู้เท่าทันครับ

ภาพจากFB : thira woratanarat