
กำลังเป็นประเด็นร้อนกับ ตำแหน่งประธานสภา ที่เรียกว่าเดือด!
เพราะตอนนี้ทั้งโลกออนไลน์และออฟไลน์ถกเถียงกันอย่างหนักว่า...
ตำแหน่งประธานสภา ควรเป็นของพรรคไหน ระหว่าง “พรรคก้าวไกล” ที่ได้คะแนนเสียงมากเป็นอันดับ 1 ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ว่าพรรคอันดับ 1 ต้องได้ตำแหน่งประธานสภา
หรือ เหมาะที่จะเป็นของ “พรรคเพื่อไทย” พรรคที่ได้คะแนนเสียงอันดับ 2 ซึ่งมีบุคลลที่คว่ำหวอดอยู่ในวงการเมืองมานานและมีลูกล่อลูกชน มีความน่านับถือที่สามารถควบคุมสภาได้ ทั้งระหว่างการอภิปรายที่อาจมีบรรยากาศตรึงเครียด
ประเด็นประธานสภานี้ เริ่มถูกหยิบยกขึ้นมา ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค.66 นายปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุ พรรคก้าวไกลจะเสียตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ไม่ได้ หากหวังผลักดันนโยบายของพรรค โดยใจความคือ “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” ตำแหน่งที่พรรคก้าวไกลเสียไปไม่ได้เป็นอันขาด หลังจากพรรคก้าวไกลยอมเซ็น MOU โดยลดข้อความต่างๆ ลงไป เช่น ไม่มีเรื่อง ม.112 ใน MOU
หลังโพสต์ของปิยบุตรแพร่ออกไป ทำให้เกิดการพูดถึงประเด็นนี้อย่างมาก ทั้งสื่อและนักวิชาการการเมืองถกเถียงกันในประเด็นนี้
วานนี้ 24 พ.ค.66 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายปิยบุตร แสงกนกกุล โพสต์เฟซบุ๊กส่งสัญญาณว่าตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรควรเป็นของพรรคก้าวไกล ว่า เป็นการแสดงความคิดเห็นของคนที่เรียกได้ว่าเป็นคนทั่วไป ซึ่งเรื่องนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยกันถึงตำแหน่งต่างๆ ในมุมที่เรามองขณะนี้ในบรรยากาศการจะทำงานร่วมกันทั้งในการเจรจาเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
ส่วนที่มีชื่อตัวบุคคลที่พรรคก้าวไกลวางตัวไว้ให้เป็นประธานสภา นพ.ชลน่าน กล่าวว่าไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ เพราะจะเป็นมุมที่ไม่เหมาะสม และเชื่อว่าบุคคลที่ได้รับเลือกจากประชาชนมาเขาย่อมมีความรู้ ความสามารถ และมีวุฒิภาวะ ส่วนจะทำงานเหมาะสมหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติงานของเขา
ขณะที่ประเด็นนี้ผู้สื่อข่าวถามถึงคนของพรรคเพื่อไทยกับตำแหน่งประธานสภา นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เราเป็นพรรคการเมืองที่อยู่มา 22 ปี มีบุคลากรที่ผ่านการทำงานมาเยอะ จะไม่บอกว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม แต่เรามีบุคลากรพร้อม โดยเรื่องนี้ต้องรอคุยกันก่อน
วันเดียวกัน (24 พ.ค.66) เพจเฟซบุ๊ก พรรคก้าวไกล ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับตำแหน่งประธานสภา ว่า 3 วาระที่พรรคก้าวไกลต้องการผลักดันในฐานะ “ประธานสภาผู้แทนราษฎร”
วาระแรก: เพื่อผลักดันกฎหมายที่ก้าวหน้า
วาระที่สอง: เพื่อผลักดันให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยเดินหน้าอย่างราบรื่น
วาระที่สาม: ก้าวไกลจะผลักดันหลักการ “รัฐสภาโปร่งใส” และ “ประชาชนมีส่วนร่วม” ให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย
หากสรุปความสำคัญของ “ประธานสภา” เปรียบเสมือนประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ที่ต้องดูแลควบคุมการทำงานในสภา มีความสำคัญไม่ต่างจากตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ซึ่งเป็นประมุขฝ่ายบริหารค่อยดูแลการบริหาร
ตามไทม์ไลน์การจัดตั้งรัฐบาล 2566 ต้องเลือกประธานสภาก่อน ถึงจะเปิดประชุมสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ได้
จากนี้ยังต้องจับตาดูการจัดตั้งรัฐบาลว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร