หมอหมู เตือน! เช็กให้ชัวร์ก่อนสักคิ้ว ถ้าไม่อยากเกิดคีลอยด์

หมอหมู ชี้ ทุกคนมีสิทธิเกิดคีลอยด์ นอกจากเลือกร้านมีมาตรฐานแล้ว ต้องตัวเองด้วย เชื้อชาติ สีผิว พันธุกรรม ก็มีผล พร้อมแนะวิธีรักษา

วงการสักคิ้วต้องสะเทือน เกิดกระแสฮือฮาไม่น้อยเลยค่ะหลังจาก หมออั้ม อิราวัต อารีกิจ ออกมาโพสต์เตือนว่า ใครที่จะสักคิ้วควรเลือกร้านให้ดี เพราะมีคนสักคิ้วมาไม่ดีแล้วแก้ ลบรอยสัก จนเป็นคีลอยด์นูนเหมือนหมูกรอบ  



ล่าสุดวันนี้ (23 ม.ค.67) หมอหมู รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวช มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ก็ได้โพสต์เฟซบุ๊กเตือน ระบุว่า 

“เตือน! ใครจะสักคิ้วสวยงาม อ่านข้อมูลนี้ก่อนจะเสียใจ ใครจะสักหรือเจาะเพื่อความสวยงาม นอกจากต้องศึกษาหาข้อมูลหาร้านที่มีมาตรฐานความสะอาด มีการป้องกันการติดเชื้อเป็นอย่างดีแล้ว ยังต้องศึกษาหาข้อมูลด้วยว่าตัวเองมีความเสี่ยงอะไรบ้างในการสักหรือเจาะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลข้างเคียงที่ทำให้เกิดก้อนเนื้อคีลอยด์ ก่อนที่จะตัดสินใจทำนะครับ 

สาเหตุของการเกิดคีลอยด์ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากการตอบสนองที่ผิดปกติของร่างกายต่อกระบวนการซ่อมแซมบาดแผล โดยมีการเพิ่มขึ้นของเซลล์ที่สร้างคอลลาเจน จำนวนเส้นเลือดที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึงมีการสะสมของคอลลาเจนชนิดที่มีความผิดปกติ จนทำให้มีลักษณะของก้อนเนื้อคีลอยด์ในที่สุด 

ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดคีลอยด์ ได้แก่ 

1. เชื้อชาติ คนผิวสีมีความเสี่ยงในการเกิดคีลอยด์มากกว่าคนผิวขาว 

2. ประวัติทางพันธุกรรม หากคนในครอบครัวมีประวัติการเป็นแผลคีลอยด์ได้ง่าย หรือบางคน เกิดแผลคีลอยด์ตั้งแต่วัยเด็ก จะมีแนวโน้มการเกิดแผลคีลอยด์ง่ายในอนาคต ควรระวังเป็นพิเศษ 

3. ตำแหน่งของแผล บริเวณที่ผิวหนังมีความตึงรั้ง เช่น บริเวณหัวไหล่ หน้าอก และหลังส่วนบน มีโอกาสเกิดแผลคีลอยด์มากขึ้น 

4. ลักษณะของแผล บาดแผลที่ลึก กว้าง หรือมีเลือดออกมาก มีโอกาสเกิดแผลคีลอยด์มากขึ้น 

5. การติดเชื้อของแผล แผลติดเชื้ออาจทำให้กระบวนการซ่อมแซมบาดแผลผิดปกติ และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดคีลอยด์ 

การรักษาคีลอยด์มีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับขนาด ตำแหน่ง และความรุนแรงของคีลอยด์ โดยทั่วไป แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยาทาหรือยารับประทานเพื่อลดการอักเสบและยับยั้งการสร้างคอลลาเจน นอกจากนี้ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยทำการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เช่น 

1. การฉีดสเตียรอยด์เข้าบริเวณแผลคีลอยด์ 

2. การฉายรังสี 

3. การศัลยกรรมตกแต่ง เพื่อตัดเอาคีลอยด์ออก 

การรักษาคีลอยด์อาจใช้เวลานาน และอาจไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกวิธีรักษาที่เหมาะสมนะครับ” 

ใครที่คิดจะสักคิ้วหรือเจาะร่างกาย ควรเลือกร้านที่มีมาตรฐาน และเช็กตัวเองให้ดีนะคะ ว่ามีความเสี่ยงในการเกิดคีลอยด์มากน้อยแค่ไหน เพื่อที่จะได้เตรียมตัว เตรียมใจ ป้องกัน และรักษาได้ทัน 


คลิปอีจันแนะนำ

พีอาร์สาวสวย พิการเพราะ หมูกระทะ