ปูติน ต่อสาย ผู้นำ ฝรั่งเศส และ เยอรมัน ปม สถานการณ์ ยูเครน

ปูติน ต่อสาย หารือ ผู้นำ ฝรั่งเศส และ เยอรมัน ปม สถานการณ์ ยูเครน หวัง หยุด กองทัพชาตินิยมยูเครน ขณะที่เยอรมัน เรียกร้อง หยุดยิงทันที

วันนี้ (13 มี.ค. 65) สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า ได้มีแถลงการณ์จากทำเนียบเครมลินเผยว่า นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ได้สนทนาทางโทรศัพท์กับเอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส และโอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี เมื่อวันเสาร์ที่ 12 มี.ค. พร้อมกระตุ้นเตือนพวกเขาให้โน้มน้าวทางการยูเครน เพื่อให้หยุด “การกระทำผิดทางอาญา” ของ “กองทัพชาตินิยมยูเครน”

ด้านรัฐบาลเยอรมนีระบุว่า มาครงและชอลซ์ เรียกร้องให้มีการหยุดยิงทันที และหาทางออกทางการทูต กรณีความขัดแย้งในยูเครน โดยการเจรจาครั้งนี้ใช้เวลา 75 นาที นับเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของนานาชาติ เพื่อยุติความขัดแย้งในปัจจุบัน

โดยแถลงการณ์จากทำเนียบเครมลินกล่าวว่า ปูตินได้เปิดเผยรายละเอียดการเจรจาหลายครั้ง ผ่านระบบวิดีโอ ระหว่างตัวแทนรัสเซียและยูเครน ในช่วงวันที่ผ่านมา และผู้นำทั้งสามได้ทบทวนประเด็นข้อตกลงเกี่ยวกับการดำเนินการ ตามข้อเรียกร้องของรัสเซียก่อนหน้านี้

ปูติน แจ้ง มาครงและชอลซ์ถึง “สถานการณ์จริงในพื้นที่” เพื่อตอบรับประเด็นที่พวกเขาหยิบยกขึ้นมา “กรณีสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในอาณาเขตของปฏิบัติการทางทหารเพื่อปกป้องภูมิภาคดอนบาสส์”

ปูตินอ้างว่า

“มีข้อเท็จจริงหลายประการเกี่ยวกับการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศโดยกองทัพและตำรวจยูเครน อาทิ การวิสามัญฆาตกรรมผู้เห็นต่าง การจับตัวประกัน และการใช้พลเรือนเป็นเกราะกำบังมนุษย์ การติดตั้งอาวุธหนักในพื้นที่ที่อยู่อาศัย ใกล้โรงพยาบาล โรงเรียน หรือโรงเรียนอนุบาล”

รายงานจากทำเนียบเครมลิน เผยว่า บ่อยครั้งที่กองทัพชาตินิยมข้างต้นขัดขวางปฏิบัติการกู้ภัยและคุกคามพลเรือน ขณะพวกเขาพยายามอพยพ พร้อมเสริมว่า ปูตินได้กระตุ้นเตือนมาครงและชอลซ์ ในการโน้มน้าวทางการยูเครนให้ยุติ “การกระทำผิดทางอาญา” รูปแบบนี้ด้วย และผู้นำทั้งสามตกลงที่จะคงการติดต่อสื่อสารในประเด็นยูเครนกันต่อไป

นอกจากนั้นแถลงการณ์จากรัฐบาลเยอรมนีระบุว่า ชอลซ์ได้พูดคุยกับโวโลดีเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน เมื่อช่วงเช้าวันเสาร์ (12 มี.ค.) และรับทราบการประเมินสถานการณ์ปัจจุบันของเซเลนสกี โดยทั้งสองตกลงที่จะรักษาการติดต่อสื่อสารเช่นกัน

คลิปอีจันแนะนำ
ช่วยเด็กชาย โดนลักไปขอทาน