ผลวิจัยโควิด-19 พบ วิวัฒนาการสูง ระบาดกว้างกว่าที่คาด

รายงานอย่างน้อย 4 ฉบับ เกี่ยวกับ ผลวิจัยโควิด-19 พบ วิวัฒนาการสูง ตามธรรมชาติ และมีอัตราการแพร่ ระบาดกว้างกว่าที่คาด

หนังสือพิมพ์สหรัฐฯ รายงานผลการศึกษาวิจัย ระบุว่าโควิด-19 มีวิวัฒนาการตามธรรมชาติ และมีอัตราการแพร่ระบาดสูงกว่าที่คาดเป็นอย่างมาก

“ผลการศึกษาล่าสุดอย่างน้อย 4 ฉบับ ระบุว่าเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัสที่ระบาดในค้างคาวและตัวนิ่ม ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และญี่ปุ่น บ่งชี้ว่าเชื้อโรคเหล่านี้แพร่ระบาดในวงกว้างกว่าที่คาด และโอกาสวิวัฒนาการสูง”
เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล (WSJ) จันทร์ ที่ 1 มีนาคม 2564

ขณะที่ ผลการศึกษาวิจัยอีกฉบับ พบการเปลี่ยนแปลงของกรดอะมิโน ซึ่งเป็นสารประกอบของโปรตีน ในหนามของเชื้อไวรัสโควิด ทำให้เชื้อไวรัสฯ สามารถแพร่เชื้อสู่เซลล์มนุษย์ได้

“งานวิจัยล่าสุดเป็นหลักฐานเพิ่มเติม ที่ยืนยันว่าเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) มีต้นกำเนิดมาจากค้างคาว และมีวิวัฒนาการตามธรรมชาติก่อนจะแพร่ระบาดสู่มนุษย์ โดยคาดว่ามีการแพร่เชื้อผ่านสัตว์ตัวกลางอีกชนิด”

หนังสือพิมพ์สหรัฐฯ ระบุว่า ผลการศึกษาเหล่านี้เป็นเหตุผลที่คณะผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งนำโดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ค้นหาข้อมูลและหลักฐานเพิ่มเติมในประเทศอื่นๆ หลังลงพื้นที่ตรวจสอบในนครอู่ฮั่น เมืองเอกของมณฑลหูเป่ยทางตอนกลางของจีน เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา

คณะผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลก ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากออสเตรเลีย เดนมาร์ก เยอรมนี ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ กาตาร์ รัสเซีย สหราชอาณาจักร สหรัฐฯ และเวียดนาม เดินทางถึงเมืองอู่ฮั่นเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 เพื่อร่วมงานกับคณะนักวิทยาศาสตร์จีนในการสืบหาต้นตอของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

หลังจากผ่านไปหนึ่งเดือน คณะผู้เชี่ยวชาญทำการวิจัยเสร็จสิ้นช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ และแสดงผลการศึกษาเบื้องต้นระหว่างงานแถลงข่าวที่จัดขึ้นในจีน ตัดความเป็นไปได้ของข้อสมมติฐานที่ว่าเชื้อไวรัสฯ หลุดออกมาจากห้องทดลอง พร้อมเรียกร้องทุกฝ่ายดำเนินการโดยยึดหลักทางวิทยาศาสตร์