ยอดตัวเลขผู้เสียชีวิต ชุมนุมต้านรัฐประหารเมียนมา พุ่ง 236 ศพ

การชุมนุมต้าน รัฐประหารเมียนมา ยอดตายจากการสลายการชุมนุม พุ่งสูง 236 ราย ย่างกุ้ง – มัณฑะเลย์ สูญเสียมากที่สุด

สถานการณ์การต่อต้านคณะรัฐประหารของเมียนมา ยังไม่มีท่าทีที่จะเห็นแสงสว่างแห่งสันติวิธี โดยสำนักข่าวต่างประเทศ ได้รายงานว่า สถานการณ์ปัจจุบัน รัฐบาลภายใต้คณะรัฐประหาร หรือ SAC ได้มีคำสั่งปิดการใช้อินเทอร์เน็ต ทางสายไฟเบอร์, ซิมมือถือ และไวไฟ ทั่วประเทศแล้ว ด้านชายแดน ท่าขี้เหล็กและเมียวดี ที่ใช้ไฟเบอร์จากฝั่งไทย ก็ถูกตัดสายด้วย แต่ผู้ที่ใช้ซิมมือถือไทยยังใช้อินเทอร์เน็ต หรือไวไฟ จาก Hotspot ได้ตามปกติ

ขณะเดียวกัน คณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพ หรือ CRPH ซึ่งเป็นเสมือนรัฐบาลคู่ขนาน ของฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร ได้ออกมามีบทบาทในการเคลื่อนไหวทางการเมืองขณะนี้ และหนึ่งในท่าทีที่ได้รับการจับตา คือ การประกาศให้กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มในเมียนมา ไม่เป็นองค์การก่อการร้ายหรือองค์การนอกกฎหมาย และชักชวนให้ร่วมกับ CRPH ต่อต้านรัฐบาลทหาร และสร้างสหภาพสหพันธรัฐประชาธิปไตย ต่อไป

อย่างไรก็ดี ต่อการดำเนินคดี นาง อองซาน ซูจี ที่ยังมีการตั้งข้อหาอย่างต่อเนื่อง โดย การรายงานข่าวล่าสุด โทรทัศน์รัฐบาลทหารเมียนมา เสนอข่าว อูหม่องวิต เจ้าของบริษัท Say Paing Construction Company อ้างว่าเคยมอบเงินให้นางอองซานซูจี 4 ครั้ง รวม 550,000 ดอลลาร์สหรัฐ แต่อย่างไรก็ดี เป็นการนำเสนอที่เป็นเพียงการกล่าวอ้างเท่านั้น เนื่องจากรายงานข่าวดังกล่าว ไม่ได้ระบุถึงพยานหลักฐาน

ในส่วนของการชุมนุมในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ หลังจากมีความสูญเสียอย่างต่อเนื่อง จากการสลายการชุมนุม จึงมีการเปลี่ยนวิธีการ ใช้ป้ายระบุข้อความประท้วง ไปปักไว้กลางถนนสายต่าง ๆ ที่มีการนัดการชุมนุม

สำหรับการรายงานถึงผู้เสียชีวิตนั้น ทาง ทวิตเตอร์ The Insights ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนที่มีความสนใจวิทยาศาสตร์ ได้ใช้พื้นที่ออนไลน์อัปเดตสถานการณ์การชุมนุม และได้มีการรวบรวมสถิติการเสียชีวิตของประชาชน จากการชุมนุม 46 วัน นับถึงวันที่ 18 มี.ค. ช่วงเช้า โดยระบุว่า มีผู้เสียชีวิต จำนวน 236 ราย ผู้เสียชีวิตส่วนมากอยู่ในกลุ่มอายุ 16-35 ปี เพศชาย สำหรับพื้นที่ที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด ได้แก่ ย่างกุ้ง และ มัณฑะเลย์ และตลอดการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง 46 วัน เฉลี่ยแล้วมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อยวันละ 11 คน