องค์การอนามัยโลก เผย วัคซีนแอสตราเซเนกา ใช้ได้ แม้ โควิด กลายพันธุ์

องค์การอนามัยโลก เผย วัคซีนแอสตราเซเนกา ใช้ได้ แม้ในประเทศที่พบ โควิด กลายพันธุ์

องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ตัดสินว่าประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น จากวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่พัฒนาโดยแอสตราเซเนกา (AstraZeneca) และมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (Oxford University) นั้น มีมากกว่าความเสี่ยง ที่ทุกคนทราบ หรือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนในการป้องกันโรคโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ที่พบในแอฟริกาใต้

โดยคณะที่ปรึกษายุทธศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภูมิคุ้มกัน (SAGE) ขององค์การฯ กล่าวว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนแอสตราเซเนกา จำนวน 2 โดส มีแนวโน้มสูงขึ้น หากช่วงเวลาในการฉีดวัคซีนสองเข็มนั้น ห่างกันภายใน 4-12 สัปดาห์

แม้การวิเคราะห์เบื้องต้น จากกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็กในแอฟริกาใต้ จะบ่งชี้ว่าประสิทธิภาพของวัคซีน ในการป้องกันอาการป่วยที่ไม่รุนแรง และอาการป่วยปานกลางนั้น ลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ยังไม่ได้อนุมัติให้มีการประเมินแบบเฉพาะเจาะจงต่อประสิทธิภาพของวัคซีน ในการป้องกันอาการป่วยรุนแรง

ขณะที่หลักฐานทางอ้อมบ่งชี้ว่าวัคซีนตัวดังกล่าวสามารถป้องกันโรคโควิด-19 ที่รุนแรงได้ โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการทดลองทางคลินิกและการประเมินหลังการดำเนินงาน

ด้วยเหตุนี้ องค์การฯ จึงแนะนำให้ใช้วัคซีนแอสตราเซเนกา แม้ว่าโรคโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ต่างๆ จะแพร่ระบาดอยู่ในประเทศนั้นๆ ก็ตาม อีกทั้งประเทศต่างๆ ควรดำเนินการประเมินทั้งประโยชน์ และความเสี่ยงตามสถานการณ์ทางระบาดวิทยาในพื้นที่ รวมถึงขอบเขตของการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสกลายพันธุ์

อเลฮานโดร กราวิโอโต ประธานคณะที่ปรึกษาฯ กล่าวสรุปว่า
“เราได้ให้คำแนะนำว่า แม้จะมีความเป็นไปได้ที่วัคซีนแอสตราเซเนกา จะมีประสิทธิผลลดลงในการป้องกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่ออาการป่วยขั้นรุนแรง แต่ไม่มีเหตุผลใดที่จะไม่แนะนำให้ใช้วัคซีนตัวนี้ แม้ในประเทศที่พบการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ ”

ขณะเดียวกัน คณะที่ปรึกษาฯ เตือนว่า เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลด้านประสิทธิภาพ หรือความปลอดภัยของวัคซีนต่อเด็ก หรือวัยรุ่นที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ดังนั้นจึงไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีนแก่บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี จนกว่าจะมีข้อมูลดังกล่าวออกมา

อย่างไรก็ดี แอฟริกาใต้ ประกาศระงับการฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกาในประเทศชั่วคราว เมื่อไม่นานนี้ จนกว่าจะมี “ข้อมูลประสิทธิภาพทางคลินิก” เพิ่มเติมว่าสามารถป้องกันโรคโควิด-19 ชนิดกลายพันธุ์ได้ โดยการตัดสินใจครั้งนี้เกิดขึ้นหลังการศึกษาพบว่าวัคซีนดังกล่าวด้อยประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ที่พบในประเทศ