โควิด เป็นเหตุ! ลาตินอเมริกา เข้าสู่ภาวะยากจน อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจลาตินอเมริกาและแคริบเบียน (ECLAC) แห่งสหประชาชาติ ระบุ โควิด เป็นสาเหตุใหญ่ ทำให้ ลาตินอเมริกา เข้าสู่ภาวะยากจน อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจลาตินอเมริกาและแคริบเบียน (ECLAC) แห่งสหประชาชาติ เปิดเผยว่า ในปี 2563 ทวีปลาตินอเมริกาต้องเผชิญกับภาวะยากจน และภาวะยากจนขั้นรุนแรง อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในหลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

อลิเซีย บาร์เซนา เลขาธิการบริหารของคณะกรรมาธิการฯ ได้นำเสนอรายงานประจำปีฉบับแก้ไขใหม่ที่มีชื่อว่า ทัศนียภาพทางสังคมของลาตินอเมริกา 2020 (Social Panorama of Latin America 2020) ผ่านทางออนไลน์ พร้อมเผยว่า

“การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 ตอกย้ำและซ้ำเติมให้ความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างที่สำคัญของภูมิภาครุนแรงยิ่งขึ้น โดยในปัจจุบันภูมิภาคกำลังเผชิญช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอน ซึ่งไม่มีทั้งการกำหนดหนทางหรือความเร็วในการแก้วิกฤตนี้”

คณะกรรมาธิการฯ ระบุว่า อัตราการจ้างงานและการมีส่วนร่วมของแรงงานในภูมิภาคลดลงเมื่อปี 2563 โดยเฉพาะในหมู่ประชากรเพศหญิง เนื่องมาจากภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขและข้อจำกัดที่ใช้เพื่อป้องกันโรคระบาด พร้อมเน้นย้ำถึงความเร่งด่วนของ การลงทุนในภาคส่วนนี้เพื่อเผชิญหน้ากับวิกฤต รับประกันสิทธิในการให้และรับการดูแล ตลอดจนการฟื้นฟูเศรษฐกิจอีกครั้ง ผ่านมุมมองของความเท่าเทียมและการพัฒนาที่ยั่งยืน

คณะกรรมาธิการฯ คาดการณ์ไว้ในรายงานว่าลาตินอเมริกา มีประชากรยากจนรวม 209 ล้านคน เมื่อนับถึงสิ้นปี 2563 ตัวเลขนี้มากกว่าปีก่อนหน้าถึง 22 ล้านคน พร้อมชี้ให้เห็นว่ายังคงมีช่องว่างระหว่างกลุ่มประชากร

โดยความยากจนปรากฎให้เห็นในกลุ่มเด็กและเยาวชนตามพื้นที่ชนบทมากขึ้น รวมไปถึงชาวพื้นเมือง ลูกหลานชาวแอฟโฟร และผู้ที่มีระดับการศึกษาต่ำ

ขณะเดียวกัน รายงานยังเรียกร้องให้รับรองการคุ้มครองทางสังคมแบบถ้วนหน้าในฐานะเสาหลักของ “รัฐสวัสดิการ” รวมทั้งเรียกร้องให้ดำเนินการเกี่ยวกับเงินช่วยเหลือฉุกเฉิน อาทิ รายได้พื้นฐานฉุกเฉิน บัตรกำนัดช่วยเหลือผู้อดอยาก และกองทุนสตรี ในระยะสั้นๆ หรืออย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ในระยะกลางและระยะยาว ลาตินอเมริกาควรสร้างความก้าวหน้าด้านรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า โดยให้ความสำคัญกับครอบครัวที่มีเด็กและวัยรุ่น ตลอดจนความมุ่งสร้างระบบการคุ้มครองทางสังคมแบบถ้วนหน้าที่ครอบคลุมและยั่งยืน