
สถานการณ์การสู้รบระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดทหารอิสราเอลได้เดินหน้าบุกยึดฉนวนกาซา พร้อมส่งกำลังทางภาคพื้นดิน และทางอากาศเข้าโจมตี เพื่อหวังปราบกลุ่มฮามาสให้สิ้นซาก
ล่าสุด ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกริก ได้วิเคราะห์สถานการณ์ที่อิสราเอลตัดสินใจบุกยึดฉนวนกาซา ผ่านรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ออกอากาศทางช่อง 9 MCOT ว่า "การบุกยึดฉนวนกาซาในครั้งนี้ อิสราเอลเคยมีประสบการณ์พ่ายแพ้ให้กับกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ หลังเคยรบกันบริเวณพื้นที่ของเลบานอนเมื่อสมัยก่อน ส่วนครั้งนี้มีประเด็นน่าสนใจคืออิสราเอลเคยประกาศว่าจะทำให้ปาเลสไตน์ และฮามาสราบเป็นหน้ากลองก็ยังน่าสนใจ เพราะการบุกยึดฉนวนกาซาของอิสราเอลนั้นความแตกต่างของพื้นที่ก็มีผล เนื่องจากพื้นที่ฉนวนกาซานั้นมีความจำกัดด้านหนึ่งถูกปิดล้อมทั้งหมด อีกด้านหนึ่งเป็นทะเล แต่โอกาสที่อิสราเอลจะบุกยึดได้นั้นก็มีความเป็นไปได้ แต่ก็อาจจะไม่ง่ายเนื่องจากกลุ่มฮามาสก็มีศักยภาพระดับหนึ่ง สังเกตจากการที่ยังยืนหยัดสู้รบกับกองทัพอิสราเอลได้นานขนาดนี้
ส่วนประเด็นเรื่องอาวุธของกลุ่มฮามาสนั้นมาจากไหนทั้งที่พื้นที่ถูกปิดล้อมมาโดยตลอดนั้น ศ.ดร.จรัญ กล่าวว่า แม้อิหร่านจะสนับสนุนการสู้รบครั้งนี้เพื่อปลดปล่อยพื้นที่ของตัวเอง แต่อิหร่านไม่ได้มีส่วนร่วมในด้านอาวุธ อีกมุมนึงการจะติดต่อโลกภายนอกของฉนวนกาซานั้นทำได้ยากเพราะถูกปิดกั้นทุกทาง จึงเป็นไปได้เช่นเดียวกับกรณีที่อิหร่านเคยถูกปิดกั้นทางเศรษฐกิจโดยสหรัฐฯ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ในประเทศต้องคิดค้นผลิตอาวุธขึ้นมาเอง เช่นเดียวกับกลุ่มฮามาสที่อาจจะคิดค้นอาวุธขึ้นมาเองโดยได้รับการช่วยเหลือทางความคิดแทน
และการตัดสินใจบุกโจมตีอิสราเอลของกลุ่มฮามาสนั้น บ่งบอกว่ามีการเตรียมการวางแผนมาอย่างดี รวมถึงฮามาสเองก็รู้อยู่แล้วว่าจะถูกตอบโต้แบบนี้ แต่เขาก็ยินดีตามที่มีคนกล่าวว่าการอยู่โดยไร้ศักดิ์ศรีกับการสู้จนตัวตายก็มีค่าเท่ากัน นอกจากนี้ชาวปาเลสไตน์ก็มีการเสียชีวิตทุกวันตลอดช่วงที่ผ่านมา จึงเกิดเป็นความสะสมมาอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ยังมีอีกประเด็นสำคัญที่หลายฝ่ายทั่วโลกเริ่มแสดงความเป็นห่วงก็คือ ความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ ความยากลำบาก เพราะถูกตัดน้ำ ตัดไฟ รวมถึงเรื่องเชลยศึกถ้ากลุ่มฮามาสทำจริง เช่นถ้ายังบุกโจมตีโดยไม่แจ้งเตือนให้ประชาชนได้หลบหนีทัน
ตอนนี้มีความพยายามที่จะเจรจากันระหว่างสหรัฐฯ และ กาตาร์ ซึ่ง กาตาร์ นั้นถือว่าเป็นส่วนสำคัญมากเพราะผู้นำของกลุ่มฮามาสและผู้นำกลุ่มกองกำลังอื่นๆอยู่ที่นั่น นอกจากนี้ กาตาร์ ยังให้ความช่วยเหลือกลุ่มฮามาสในด้านการเงินจำนวนมาก ทั้งยังเคยมีบทบาทในการเจรจาเพื่อยุติสงคราม เช่น ตอนที่สหรัฐฯ ถอนทหารออกหลังการโจมตีกลุ่มตาลีบันก็เจรจากันที่นั่น ส่วนในตอนนี้ ทั้ง กาตาร์ อิยิปต์ สหรัฐฯ รวมถึงบางประเทศในยุโรป และบางประเทศในอาหรับ ต่างก็ต้องการให้สงครามนี้ยุติโดยเร็ว สถานการณ์ยังคงยันๆกันอยู่ทั้งเจรจาไปด้วย และรบไปด้วย ทำให้สงครามมีสิทธิ์ที่จะยืดเยื้อหรือไม่ยืดเยื้อก็ได้
อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม ได้ตั้งข้อสังเกตว่า เนทันยาฮู ผู้นำของอิสราเอล เป็นคนที่เคยมีความคิดจะยึดประเทศอาหรับบางประเทศมาเป็นของตัวเองด้วยซ้ำไป แต่ทำไม่สำเร็จเขาจึงลดขนาดลง ส่วนตอนนี้เขามีความสุขมาก เพราะเขาตกที่นั่งลำบากจากปัญหาแรงกดดันหลายด้าน ทั้งเรื่องคอรัปชั่น การเปลี่ยนแปลง ศาล และการประท้วง การมีเรื่องสงครามมาจึงช่วยเบี่ยงเบนความสนใจเรื่องดังกล่าวได้นั่นเอง