นักวิจัยส่งยาต้านซาร์ส ให้จีน หวังยับยั้งไวรัสโคโรนา

นักวิจัยเยอรมัน เตรียมพัฒนายาต้านโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ชี้คล้ายกับโรคซาร์ส

วานนี้ (27 ม.ค. 63) สำนักงานข่าวซินหัวรายงานว่า ไชน่ามีเดีย กรุ๊ป (CMG) สถานีวิทยุและโทรทัศน์ของจีน เผยว่า รอล์ฟ ฮิลเกนเฟลด์ (Rolf Hilgenfeld) ผู้เชี่ยวชาญการวิจัยด้านไวรัสโคโรนา ชาวเยอรมัน และศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยลูเบค (Lubeck University) นำตัวยับยั้ง (Inhibitor) จำนวน 2 ตัว ซึ่งได้รับการพัฒนาสำหรับไวรัสโคโรนาโรคซาร์ส (SARS-CoV) มายังประเทศจีน เพื่อทดสอบประสิทธิภาพกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (2019-nCoV)

โดยฮิลเกนเฟลด์ และคณะ ได้ทุ่มเทการทำวิจัยตัวยับยั้งไวรัสโคโรนา โรคซาร์ส มานานหลายปี ซึ่งตัวยับยั้งดังกล่าวจะใช้เอนไซม์โปรตีเอส (protease) ในไวรัส โดยป้องกันไม่ให้โปรตีนของไวรัสแบ่งตัวและสามารถยับยั้งไม่ให้ไวรัสเติบโตเป็นไวรัสที่เจริญเต็มที่ (mature virus) ที่นำโรคได้ในที่สุด

ภาพจากอีจัน

ปัจจุบัน การเตรียมยาจากตัวยับยั้งนี้ ได้รับการพัฒนาโดยคณะวิจัยดังกล่าว ได้ผลดีในหนูที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาโรคซาร์ส (SARS-CoV) และได้ผลค่อนข้างคงตัวในการทดลองกับการเพาะเลี้ยงเซลล์มนุษย์ (Human cell culture experiment)

นักวิทยาศาสตร์ พบว่า ไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ มีความคล้ายคลึงกับไวรัสโรคซาร์ส ถึงร้อยละ 80 ส่วนความคล้ายคลึงกันระหว่างเอนไซม์โปรตีเอสของไวรัส 2 ตัวนี้ สูงถึงร้อยละ 96

ภาพจากอีจัน

ฮิลเกนเฟลด์หวังว่าตัวยับยั้งดังกล่าวจะช่วยในการวิจัยยาสำหรับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้ เขาอธิบายระหว่างให้สัมภาษณ์กับสถานีว่า การทดลองกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ จะใช้หนูเป็นตัวทดลอง และจะมีการทดลองด้านพิษวิทยาเพื่อกำจัดผลข้างเคียงอื่นๆ ที่อาจเกิดจากยาด้วย

ภาพจากอีจัน

และสุดท้ายการผลิตยาในปริมาณมากจะทำได้โดยผ่านการวิจัยทางคลินิกเท่านั้น ซึ่งธรรมชาติของเชื้อไวรัสโคโรนาเป็นเชื้อที่สามารถหายเองได้ โดยหลังจากเวลาผ่านไประยะหนึ่ง เมื่อร่างกายของมนุษย์ผลิตแอนติบอดีหรือโปรตีนภูมิคุ้มกันได้ การแพร่ของไวรัสจะยุติการแพร่ระบาดได้ในที่สุด

อ่านข่าวเพิ่มเติม