
วันนี้ (13 พ.ค.68) สำนักข่าวซินหัว รายงานว่า การประชุมระดับสูงด้านกิจการเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ณ นครเจนีวาของสวิตเซอร์แลนด์เมื่อไม่นานนี้ จีนและสหรัฐฯ ได้พูดคุยสื่อสารประเด็นต่างๆ กันอย่างตรงไปตรงมา เจาะลึก และสร้างสรรค์ นำสู่การบรรลุฉันทามติสำคัญหลายประการและสร้างความก้าวหน้าอันมีสาระสำคัญ ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญสู่การจัดการความแตกต่างผ่านการเจรจาหารือกันอย่างเท่าเทียม วางรากฐานและสร้างเงื่อนไขสำหรับการอุดช่องโหว่และกระชับความร่วมมือให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น
ความสัมพันธ์ทางการค้าจีน-สหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจโลก เนื่องจากมีผลผลิตทางเศรษฐกิจโดยรวมคิดเป็นกว่า 1 ใน 3 ของผลผลิตโดยรวมทั่วโลก และปริมาณการค้าทวิภาคีคิดเป็นราว 1 ใน 5 ของการค้าทั่วโลก โดยท่ามกลางการฟื้นตัวของโลกที่เฉื่อยชาและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น การเปิดกว้างช่องทางสื่อสารระหว่างสองฝ่ายอย่างต่อเนื่องนั้นเป็นสิ่งสำคัญชัดเจน ขณะการสร้างความก้าวหน้าอันมีสาระสำคัญสะท้อนความพยายามร่วมในการสงวนจุดต่างแสวงจุดร่วมในสภาพแวดล้อมโลกอันซับซ้อน

จีนนั้นดำเนินแนวทางอันคงเส้นคงวาและสร้างสรรค์ในการจัดการความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ มาตลอด และมุ่งแสวงหาการนำพาความสัมพันธ์ทวิภาคีกลับสู่วิถีทางที่มีเสถียรภาพอันดีผ่านการเจรจาหารือ จึงเป็นเรื่องน่าชื่นชมที่สหรัฐฯ แสดงความตั้งใจในกระบวนการดังกล่าวด้วยเช่นกัน แต่ย่อมมิอาจละเลยความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว โดยการกำหนดภาษีศุลกากรฝ่ายเดียวของสหรัฐฯ ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน-สหรัฐฯ เศรษฐกิจโลก รวมถึงธุรกิจและผู้บริโภคในสหรัฐฯ
ขณะผลกระทบระดับโลกเป็นเรื่องน่ากังวลยิ่งกว่า เนื่องจากภาษีศุลกากรเหล่านี้ปั่นป่วนเสถียรภาพของห่วงโซ่อุปทานและห่วงโซ่อุตสาหกรรมระดับโลก และบ่อนทำลายระบบการค้าพหุภาคีที่อิงกฎระเบียบ โดยสถาบันระหว่างประเทศอย่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารโลกเตือนหลายครั้งว่าการกีดกันทางการค้าเป็นภัยคุกคามใหญ่ต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก ซึ่งการหารือระหว่างจีนกับสหรัฐฯ รอบล่าสุดได้ส่งสัญญาณแห่งเสถียรภาพและความแน่นอนที่ทั่วโลกต้องการอย่างยิ่ง
ผลลัพธ์เชิงบวกจากการหารือครั้งล่าสุดตอกย้ำว่าการเจรจาอย่างเท่าเทียมและสร้างสรรค์ มิใช่การปะทะคะคาน เป็นวิถีทางอันมีประสิทธิภาพเพียงหนึ่งเดียวที่ประเทศใหญ่สามารถใช้จัดการความแตกต่าง โดยบริบทและพันธกิจของชาติที่แตกต่างกัน ย่อมทำให้ความเห็นต่างเป็นสิ่งที่มิอาจหลีกเลี่ยง แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือความแตกต่างเหล่านั้นต้องถูกจัดการภายใต้ความเคารพซึ่งกันและกันต่อผลประโยชน์หลักของอีกฝ่ายและผ่านการเจรจาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ไม่มีประเทศใดจะยอมสละสิทธิการพัฒนาอันชอบธรรมของตนเองให้ข้อเรียกร้องอันไม่สมเหตุสมผล ทั้งสองฝ่ายสามารถแจกแจงข้อวิตกกังวล อธิบายความเข้าใจผิด และค้นหารากเหง้าของความขัดแย้งผ่านการเจรจาหารืออย่างเท่าเทียม
การรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่มั่นคง ยั่งยืน และเป็นประโยชน์ร่วมกันกับจีนนั้นเป็นผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เอง โดยช่วงเวลาหลายทศวรรษของความร่วมมือทางการค้า การบริการ และการลงทุนแบบสองทาง ได้เอื้อประโยชน์อันเป็นรูปธรรมแก่ธุรกิจและประชาชนของทั้งสองฝ่าย ซึ่งแม้เกิดความตึงเครียดในช่วงระยะนี้ แต่รากฐานของผลประโยชน์ร่วมกันยังคงแข็งแกร่ง
จีนยืนกรานเสมอมาว่าข้อพิพาททางเศรษฐกิจและการค้าควรแก้ไขผ่านการเจรจาที่มีเหตุผลและเคารพซึ่งกันและกันมากกว่าการกดดันหรือข่มขู่ โดยการบีบบังคับอยู่ฝ่ายเดียวไม่ได้แก้ไขปัญหา รังแต่ทวีคูณความตึงเครียด พอกพูนความเสี่ยง และบั่นทอนผลประโยชน์ระยะยาวของทั้งสองฝ่าย
การประชุมระดับสูงด้านกิจการเศรษฐกิจและการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ณ นครเจนีวา จึงเป็นก้าวบวกในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าทวิภาคี ช่วยวางรากฐานสำหรับการเจรจาอย่างต่อเนื่องในอนาคต ทว่าแม้การกลับมาเจรจาหารือจะเป็นเรื่องน่ายินดี แต่ต้องเตรียมพร้อมสำหรับการแก้ไขข้อแตกต่างระหว่างสองประเทศที่ใช้เวลายาวนาน มีความซับซ้อน และเต็มไปด้วยความท้าทาย โดยทั้งสองฝ่ายต้องรักษาแรงขับเคลื่อนของการเจรจา ควบคุมความแตกต่าง สั่งสมฉันทามติ และเสริมสร้างความไว้วางใจผ่านการหารืออย่างเท่าเทียม
นอกจากนั้นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าคือทั้งสองฝ่ายควรดำเนินความสัมพันธ์ทวิภาคีอันสำคัญที่สุดนี้ด้วยมุมมองระยะยาวและวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลยิ่งขึ้น คำนึงถึงความเป็นอยู่ที่ดีขั้นพื้นฐานของประชาชน ตลอดจนภาพรวมสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองของโลก โดยการเสริมสร้างความร่วมมือบนพื้นฐานผลประโยชน์ร่วมและการจัดการความแตกต่างด้วยความเคารพซึ่งกันและกันไม่ใช่เพียงความรับผิดชอบของจีนและสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังเป็นความคาดหวังของประชาคมระหว่างประเทศอีกด้วย