วิจัยชี้ อย่ามองข้าม ความเสี่ยงที่โควิด-19 แพร่ในอากาศได้

นักวิจัยออสเตรเลีย-จีน ย้ำไม่ควรมองข้าม ความเป็นไปได้ที่โควิด-19 ‘สามารถแพร่เชื้อในอากาศ’ ได้ ลั่นเราอาจประเมินการแพร่เชื้อทางอากาศของโรคต่ำไป

วานนี้ (16 เม.ย.2563) สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นักวิจัยจากออสเตรเลียและจีนเผยแพร่บทความร่วมกันในวารสารเอนไวรอนเมนต์ อินเตอร์เนชันนัล (Environment International) โดยอ้างว่าเราอาจประเมินการแพร่เชื้อทางอากาศของโรคต่ำไป

ศาสตราจารย์ลิเดีย โมราฟสกา (Lidia Morawska) ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีควีนส์แลนด์ (QUT) ในออสเตรเลีย และศาสตราจารย์เฉาจวินจี้ของสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีนกล่าวว่า หน่วยงานสาธารณสุขควรให้ความสนใจใกล้ชิดต่อหลักฐานที่แสดงการแพร่เชื้อทางอากาศของโรคโควิด-19

ภาพจากอีจัน

ผู้เขียนงานวิจัยแยกกันศึกษาในฮ่องกงและแคนาดา พบว่าการระบาดของโรคซาร์ส (SARS.CoV-1) ซึ่งเป็น “บรรพบุรุษ” ของโรคโควิด-19 ในช่วงปี 2003 มีการแพร่กระจายในอากาศ

“ตอนนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมในการทำวิจัยว่าไวรัสสามารถเดินทางไปในกระแสอากาศได้อย่างไร เนื่องจากมีความคล้ายคลึงกันหลายอย่างระหว่างเชื้อไวรัสโคโรนาที่ก่อให้เกิดโรคซาร์สและไวรัสโคโรนาที่ก่อให้เกิดโรคโควิด-19 ดังนั้นจึงมีโอกาสสูงที่โควิด-19 จะแพร่กระจายทางอากาศด้วย” โมราฟสกากล่าว

ศาสตราจารย์ไรนา แมกอินไทร์ (Raina MacIntyre) ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยทางชีวภาพจากมหาวิทยาลัยนิวเซาธ์เวลส์ (UNSW) เห็นพ้องว่าการเชื่อมโยงที่ว่านี้ควรได้รับความสนใจมากกว่าที่เคยเป็น

ภาพจากอีจัน

แมกอินไทร์กล่าวกับสำนักข่าวซินหัวในการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า “หลักฐานที่ตีพิมพ์ในวารสารเดอะ แลนเคต (The Lancet) แสดงให้เห็นว่ามีไวรัสในปอดของผู้ป่วยมากกว่าบริเวณลำคอ ซึ่งสนับสนุนทฤษฎีการแพร่เชื้อทางอากาศ (ของโรคโควิด-19)”

โมราฟสกาชี้ว่าการระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มคนจำนวนมากบนเรือสำราญหลายลำ สามารถอธิบายด้วยหลักการแพร่เชื้อไวรัสทางอากาศ

“มีผู้ติดเชื้อในเรือสำราญหลายลำรวมหลักพันคน การติดเชื้อในหลายกรณีเกิดขึ้นหลังจากผู้โดยสารแยกกักกันในห้องโดยสารของตน แม้ว่ามีการล้างมือฆ่าเชื้อโรคแล้วก็ตาม ฉะนั้นระบบระบายอากาศอาจเป็นสาเหตุในการแพร่เชื้อไวรัสทางอากาศระหว่างห้องโดยสาร”

เนื่องจากเรื่องนี้เป็นประเด็นเร่งด่วน โมราฟสกาจึงแนะว่าหน่วยงานด้านสุขภาพควรสันนิษฐานเรื่องการแพร่เชื้อทางอากาศด้วยความระมัดระวังทันที

“ควรดำเนินการวิจัยเรื่องการแพร่เชื้อทางอากาศทันที และควรป้องกันอย่างจริงจังโดยด่วนหากมีความเป็นไปได้ที่จะมีการแพร่เชื้อทางอากาศ” โมราฟสกากล่าว

“เราเสียเวลาอันมีค่าในการเพิกเฉยต่อวิธีการแพร่กระจายนี้ เราควรดำเนินมาตรการตามข้อสันนิษฐานที่ว่าโควิด-19 กำลังแพร่กระจายอยู่ในอากาศ”

ศาสตราจารย์ยังแนะนำให้เพิ่มการระบายอากาศในที่ร่ม หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่สัมผัสอากาศโดยตรงร่วมกับบุคคลอื่น และลดจำนวนผู้ที่อยู่ในพื้นที่เดียวกัน

อนึ่ง งานวิจัยเรื่อง “การแพร่เชื้อทางอากาศของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) : โลกควรเผชิญความจริง” มีกำหนดเผยแพร่ในวารสารเอนไวรอนเมนต์ อินเตอร์เนชันนัล เดือนมิถุนายน