องค์การอนามัยโลก ถอดบทเรียน โควิด ถึงบรรดา ประเทศสมาชิก และ สหประชาชาติ

ผู้อำนวยการใหญ่ องค์การอนามัยโลก ถอดบทเรียน โควิด มอบแก่บรรดากลุ่ม ประเทศสมาชิก และ สหประชาชาติ ให้พร้อมเรียนรู้ เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง และเติบโต

นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ระบุว่า การระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 สามารถถอดบทเรียน ออกได้เป็น 3 ส่วนสำคัญ ที่ประเทศสมาชิกองค์การฯ และสหประชาชาติ หรือ UN ควรตระหนัก

ภาพจากอีจัน
ทั้งนี้ ทีโดรส ได้กล่าวระหว่างการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การฯ ครั้งที่ 148 ว่า สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรกคือ “เราทุกคนต้องอ่อนน้อมถ่อมตน พร้อมเรียนรู้ เปลี่ยนแปลง ปรับปรุง และเติบโต” โดยบทเรียนแรกที่ได้จากการระบาดใหญ่ คือ การเตรียมพร้อมและวิธีรับมือการระบาดใหญ่ ของโรคโควิด-19 ที่สร้างความตื่นตระหนกแก่กลุ่มประเทศร่ำรวยที่สุด และมีอิทธิพลที่สุดของโลก ซึ่งบุกโจมตีในขณะที่พวกเขายังไม่พร้อมรับมือ และเผยให้เห็นความล้มเหลวด้านการลงทุน เพื่อเตรียมพร้อมรับเหตุฉุกเฉินที่เกิดขึ้น ซึ่งวิธีการที่ใช้ในอดีต เช่น การประเมินร่วมกันระหว่างผู้ประเมินจากภายนอกและผู้เชี่ยวชาญภายในประเทศ (JEE) ที่อ้างอิงความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับความพร้อมของแต่ละประเทศนั้น มีข้อดีก็จริง แต่การระบาดใหญ่ครั้งนี้สะท้อนว่าวิธีนี้ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ โดย ทีโดรส เสนอกลไกใหม่ เพื่อเสริมสร้างความพร้อมบนพื้นฐานของความไว้วางใจและการรับผิดชอบร่วมกัน คือการทบทวนทางสาธารณสุขและความพร้อมระดับสากล (Universal Health and Preparedness Review) ส่วนบทเรียนที่สอง คือ ความจริงที่ว่าสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ และโลกเกี่ยวข้องกันอย่างลึกซึ้ง โดยกว่าร้อยละ 70 ของโรคใหม่ที่เกิดขึ้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อระหว่างคนและสัตว์ พร้อมกล่าวย้ำ ถึงความสำคัญของการ “ปกป้องและส่งเสริมสุขภาพของมนุษย์ ด้วยการยกระดับรากฐานการเฝ้าติดตามและจัดการความเสี่ยงบนจุดร่วมระหว่างมนุษย์ สัตว์ และระบบนิเวศ” มนุษย์จำเป็นต้องแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ ระหว่างมนุษย์ สัตว์ และโลก อาทิ การตัดไม้ทำลายป่า การเกษตร ปัญหามลพิษ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และบทเรียนที่สาม คือ โลกต้องการองค์การอนามัยโลกที่แข็งแกร่ง โดยกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การฯ ระบุว่า หนึ่งในปัญหาใหญ่ที่ขัดขวางการเติบโตขององค์การฯ คือการไม่ได้รับเงินสนับสนุนอย่างยั่งยืนและแน่นอน ดังนั้น ทีโดรส จึงเรียกร้องมูลนิธิขององค์การฯ ระดมเงิน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3 หมื่นล้านบาท ภายใน 3 ปีข้างหน้า โดยร้อยละ 70-80 ของเงินส่วนนี้จะถูกนำไปใช้ในภารกิจขององค์การฯ ส่วนที่เหลือจะเป็นเงินสนับสนุนองค์กรสาธารณสุขแห่งอื่นๆ ที่ให้ความสำคัญกับประชาสังคม