จีนพบซาก “วัดพุทธ” ยุคราชวงศ์เว่ยเหนือ ซุกเศียรเทวรูปในเจดีย์

จีนขุดพบซาก วัดพุทธ ยุคราชวงศ์เว่ยเหนือ เจอเศียรเทวรูปอยู่ในเจดีย์ คาด อาจเป็นวัดหลวง หรือวัดขนาดใหญ่ในสมัยก่อน

เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 67 สำนักข่าวซินหัวรายงานข่าวสถาบันโบราณคดี มณฑลซานซีตั้งอยู่ทางตอนเหนือของจีน รายงานการค้นพบซากพุทธสถานโบราณจากยุคราชวงศ์เว่ยเหนือ (ปี 386-534) ในเขตผิงเฉิงของเมืองต้าถง โดยโบราณสถานนี้มีเจดีย์อยู่ตรงกลาง ตั้งอยู่ห่างจากซากวังของราชวงศ์เว่ยเหนือราว 300 เมตร จึงคาดการณ์ว่าอาจเคยเป็นวัดหลวงหรือวัดใหญ่มาก่อน 

ตามการรายงานระบุว่า คณะนักวิจัยค้นพบหลุมสี่เหลี่ยมพร้อมด้วยไข่มุก เครื่องประดับทำจากปะการัง และแหวนทองเหลืองบริเวณใจกลางฐานเจดีย์ รวมถึงพระพุทธรูปและเทวรูป อาทิ พระพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์ สาวก ถงจื่อ (เทพเด็ก) และสัตว์มงคลที่มีสภาพดีอยู่ข้างในเจดีย์มากกว่า 200 องค์ ซึ่งบางส่วนถูกเขียนสีและบางส่วนถูกปิดทอง 

หลี่ซู่อวิ๋น รองหัวหน้าสถาบันฯ ระบุว่าเจดีย์นี้อาจเคยถูกเขียนภาพฝาผนังหากพิจารณาจากซากผนังที่หลุดลอก และนี่เป็นฐานเจดีย์สภาพดีที่สุดเท่าที่เมืองต้าถงเคยค้นพบ ซึ่งถือเป็นวัตถุการวิจัยที่สำคัญต่อการศึกษารูปแบบสถาปัตยกรรมของเจดีย์วัดพุทธในยุคสมัยดังกล่าว 

(ภาพจากสถาบันโบราณคดีเมืองต้าถง : เศียรเทวรูปพระโพธิสัตว์ ซึ่งขุดพบจากซากพุทธสถานโบราณยุคราชวงศ์เว่ยเหนือในเมืองต้าถง มณฑลซานซีทางตอนเหนือของจีน) 

(ภาพจากสถาบันโบราณคดีเมืองต้าถง : เศียรเทวรูปถงจื่อ (เทพเด็ก) ซึ่งขุดพบจากซากพุทธสถานโบราณยุคราชวงศ์เว่ยเหนือในเมืองต้าถง มณฑลซานซีทางตอนเหนือของจีน) 

(ภาพจากสถาบันโบราณคดีเมืองต้าถง : ศีรษะเทวรูปสาวก ซึ่งขุดพบจากซากพุทธสถานโบราณยุคราชวงศ์เว่ยเหนือในเมืองต้าถง มณฑลซานซีทางตอนเหนือของจีน) 

(ภาพจากสถาบันโบราณคดีเมืองต้าถง : ชิ้นส่วนแผ่นเหล็ก ซึ่งขุดพบจากซากพุทธสถานโบราณยุคราชวงศ์เว่ยเหนือในเมืองต้าถง มณฑลซานซีทางตอนเหนือของจีน) 

(ภาพจากสถาบันโบราณคดีเมืองต้าถง : ชิ้นส่วนผนังเขียนสี ซึ่งขุดพบจากซากพุทธสถานโบราณยุคราชวงศ์เว่ยเหนือในเมืองต้าถง มณฑลซานซีทางตอนเหนือของจีน)