ญี่ปุ่น เตรียมปล่อยน้ำ ปนเปื้อนกัมมันตรังสี ลงทะเลแปซิฟิก ส.ค.66 นี้

‘จีน-เกาหลี’ โวยลั่น! ค้านญี่ปุ่น ปล่อยน้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสี จากเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิ ถล่มโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ เมื่อ 12 ปีก่อน ลงมหาสมุทรแปซิฟิก เดือน ส.ค.66

ในปี 2566 นี้ ครบรอบ 12 ปี (11 มี.ค.54 หรือที่เราเรียกกันว่าเหตุการณ์ 311) เหตุการณ์แผ่นดินไหว ขนาด 9.0 แมกนิจูด ตามด้วยคลื่นสึนามิ ที่ทำให้เตาปฏิกรณ์ 3 ตัว ของ โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ (Fukushima Daiichi Nuclear Power Plant) ได้รับความเสียหาย จนเกิดการรั่วไหลของสารกัมมันตภาพรังสี

ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ได้กลายเป็นประเด็นอีกครั้ง เมื่อทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA อนุญาตให้ประเทศญี่ปุ่น ปล่อยน้ำที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี จากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะนี้ ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก โดยแผนการนี้จะเริ่มต้นขึ้นในเดือน ส.ค.66 นี้

อย่างไรก็ตาม ต้องบอกก่อนว่า ปริมาณน้ำที่ปนเปื้อนรังสีนี้มีมากถึง 1.3 ล้านตัน ซึ่งปัจจุบันถูกเก็บอยู่ที่แทงค์ในโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ แต่ตอนนี้แทงค์เก็บไม่เพียงพอแล้ว บริษัทพลังงานไฟฟ้าโตเกียว หรือเทปโก (TEPCO) ที่เป็นผู้ดูแล จึงตัดสินใจว่า จะต้องปล่อยน้ำทิ้ง

ขณะที่ เรื่องนี้ นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้ออกมายืนยันว่า หากพบสัญญาณที่ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม จะไม่ปล่อยน้ำแน่นอน และพร้อมที่จะอธิบายแผนอย่างละเอียดต่อประชาชน ชาวประมง รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านด้วย ซึ่ง IAEA ระบุว่า การปล่อยน้ำจากโรงไฟฟ้าดังกล่าวมีผลกระทบทางรังสีเพียงเล็กน้อยต่อผู้คน หรือสิ่งแวดล้อมเท่านั้น

แต่ประเทศที่ทะเลติดกับญี่ปุ่น อย่างจีนและเกาหลีใต้ ก็ไม่คลายกังวล โดยฝั่งของจีน นายอู๋ เจียงฮ่าว เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศญี่ปุ่น ได้ออกมาเรียกร้องให้ญี่ปุ่นระงับการตัดสินใจปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ขณะที่ เกาหลีใต้เองก็ประกาศว่า จะตรวจสอบเครื่องหมายประเทศต้นทางของอาหารทะเลนำเข้าด้วยความเข้มงวดเป็นพิเศษ ในรอบหลายทศวรรษเป็นเวลา 100 วันนับตั้งแต่เดือน ก.ค.66 นี้

ขณะที่ นายพัค คูยอน ผู้ช่วยรัฐมนตรีของรัฐบาลเกาหลีใต้ ซึ่งดูแลด้านการประสานนโยบาย ระบุว่า เกาหลีใต้เคารพหลักฐานและการตัดสินใจของ IAEA แต่จะให้ความเห็นอีกครั้งหลังการประเมินภายในประเทศเสร็จสิ้น

“กระบวนการตรวจสอบภายในสำหรับ 2 ปีที่ผ่านมา ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ได้ถึงขั้นตอนสุดท้ายแล้ว และเราจะให้ข้อมูลเชิงลึกอย่างเป็นทางการ สำหรับการวิเคราะห์ในรายงานของ IAEA ขอให้อดใจรอ” นายพัค กล่าว

ด้าน นายราฟาเอล กรอสซี อธิบดีสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) มีแผนการเดินทางไปยังญี่ปุ่นในวันที่ 7-9 ก.ค.66 นี้ เพื่อแถลงผลการวิจัยสำหรับแผนการปล่อยน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีของญี่ปุ่นลงทะเล

ดังนั้น จึงต้องรอดูกันต่อไปว่า น้ำที่ปล่อยออกมาจะได้มาตรฐานจริงหรือไหม และหากเกิดข้อผิดพลาดขึ้นมาจะรับผิดชอบกันอย่างไร

คลิปอีจันแนะนำ
อัปเดตภาพรวม หลัง พลายศักดิ์สุรินทร์ กลับไทย