
วันนี้ (6 ก.พ.66) มีข่าวที่ทำให้คนวัยทำงานต้องหันกลับมาดูพฤติกรรมการทำงานของตัวเองอย่างจริงจัง คือ การเสียชีวิตของคนวงการสื่อ กับข่าวการเสียชีวิตคาโต๊ะทำงาน
เพื่อเป็นการเตือนตัวเอง และหมั่นสำรวจชีวิตการทำงาน วันนี้ อีจัน นำข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งทำการศึกษาเรื่อง ชั่วโมงทำงานที่ยาวนาน มีผลต่อการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจขาดเลือด มาบอกต่อกัน
ข้อมูลนี้ WHO เผยแพร่เมื่อวันที่ 17 พ.ค.2564 โดยระบุว่า ชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานทำให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจขาดเลือดถึง 745,000 รายในปี 2559 เพิ่มขึ้น 29 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ปี 2543
โดยคนวัยทำงานที่มีอายุระหว่าง 45-74 ปี ซึ่งทำงาน 55 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์
พบว่า ระหว่างปี 2543 ถึง 2559 มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจเนื่องจากการทำงานเป็นเวลานานเพิ่มขึ้น 42% และจากโรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้น 19% ซึ่งสาเหตุนี้พบในคนที่อาศัยอยู่ภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ข้อมูลระบุอีกว่า การทำงาน 55 ชั่วโมงขึ้นไปต่อสัปดาห์มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดสมองสูงขึ้นประมาณ 35% และมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากโรคหัวใจขาดเลือดสูงขึ้น 17% เมื่อเทียบกับการทำงาน 35-40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
ดร.ทีดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก กล่าวไว้ในรายงานนี้ว่า การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ได้เปลี่ยนแปลงวิถีการทำงานของคนจำนวนมากไปอย่างสิ้นเชิง ซึ่งการทำงานที่บ้านหรือ WFH ทำให้การแบ่งแยกเวลาการทำงานและชีวิตส่วนตัวเป็นเรื่องยาก สิ่งนี้กระทบต่อสุขภาพของคนทำงานเป็นอย่างมาก
เพื่อให้ชีวิตมีความสุข การสร้างสมดุลการทำงาน การใช้ชีวิต และจัดสรรเวลาเพื่อการออกกำลังกาย จึงเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญมาก
Work-life Balance คือ จุดเริ่มต้นที่ดีของสุขภาพ ชีวิต และความสุขนะคะ
อ้างอิงข้อมูล :