สิงห์อมควันต้องระวัง! ถ้าไม่อยากลิ้นเขียว มีขน

ชายชาวสหรัฐ สุดงง! ลิ้นมีขนงอกและเปลี่ยนสี คาดเกิดจากใช้ยาปฏิชีวนะหลังสูบบุหรี่

พฤติกรรมการติดบุหรี่ในปัจจุบัน เป็นปัญหาอันดับต้นๆ ที่แก้ไขได้ยาก แม้จะรู้ทั้งรู้ว่า การสูบบุหรี่นั้นทำให้เกิดโทษมากมาย ทั้งต่อตัวผู้สูบเองและคนรอบข้างที่สูดดมควัน อย่าง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็งปอด โรคถุงลมโป่งพอง รวมถึงอาการลิ้นเขียวมีขนด้วย 

โดยวันที่ 11 ก.ค.66 สำนักข่าวต่างประเทศ Mirror ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกรณี ชายชาวรัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ที่มีลิ้นสีเขียวและมีขน เนื่องจากได้รับผลข้างเคียงจากการสูบบุหรี่และการใช้ยาปฏิชีวนะร่วมกัน ระบุว่า 

ชายชาวรัฐโอไฮโอ วัย 64 ปี ได้เดินทางไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เนื่องจากสังเกตเห็นว่าลิ้นของเขาเริ่มเปลี่ยนสีเป็นสีเขียวและมีขน ได้ประมาณ 3 สัปดาห์ หลังจากเขาได้รับประทานยาคลินดามัยซิน (Clindamycin) ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะสำหรับรักษาโรคเหงือกอักเสบ ขณะเดียวกันเขายังมีประวัติสูบบุหรี่ร่วมด้วย

โดยอาการที่ค่อนข้างแปลกประหลาดของชายรายนี้ ได้รับการรายงานในกรณีการศึกษา จากวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ (New England Journal of Medicine) ว่า เขาสูบบุหรี่เป็นประจำ เป็นไปได้ว่า อาจเกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะหลังสูบบุหรี่ แต่ผู้เขียนไม่ได้ระบุแน่ชัดว่า ภาวะนี้เกิดจากการสูบบุหรี่ ยาปฏิชีวนะ หรือทั้งสองอย่างร่วมกัน 

อย่างไรก็ตาม การวิจัยก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างการสูบบุหรี่กับสุขภาพช่องปาก รวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่า บุหรี่สามารถทำให้เกิดคราบพลัคและแบคทีเรียได้ ทั้งนี้ยาปฏิชีวนะยังสามารถส่งผลกระทบต่อไมโครไบโอมในปาก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของแบคทีเรียแล้วมากองรวมตัวกันที่ลิ้นได้ 

ซึ่งต่อมา ชายดังกล่าวได้รับการวินิจฉัยว่ามีอาการที่เรียกว่า ‘ลิ้นมีขน’ ภาวะนี้เกิดจากการสะสมของเซลล์ผิวหนังที่ตาย แล้วบนส่วนต่างๆ ของลิ้น ซึ่งเป็นที่อยู่ของต่อมรับรส หรือที่เรียกว่า ปุ่มลิ้น (papillae) การขาดการกระตุ้นหรือการเสียดสีที่ด้านบนของลิ้นอาจทำให้มีการสร้างเคราติน ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดเดียวกับที่สร้างเส้นผมบนศีรษะ 

ผลที่ตามมาคือ ปุ่มลิ้นจะยาวกว่าปกติ ทำให้ลิ้นดูเหมือน ‘ขนดก’ และเมื่อปุ่มลิ้นไม่ผลัดขนอย่างเหมาะสม สิ่งต่างๆ จึงสะสมอยู่ในตาข่ายที่มีลักษณะคล้ายขน ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนสีที่หลากหลาย 

ทั้งนี้ ยาปฏิชีวนะที่คล้ายกับที่ผู้ป่วยได้รับ อาจส่งผลให้เกิดแบคทีเรียใหม่ในปาก ซึ่งสามารถสะสมและทำให้ลิ้นมีขนดกได้ ปัจจัยเสี่ยงหลัก ได้แก่ การสูบบุหรี่ ภาวะขาดน้ำ สุขอนามัยช่องปากที่ไม่ดี และยาปฏิชีวนะ  

ขณะเดียวกัน ราว 13% ของชาวอเมริกัน ได้รับผลกระทบจากอาการนี้ ซึ่งภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกวัย แต่พบมากในผู้ป่วยสูงอายุ นอกจากนี้ ยังพบได้บ่อยในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และการเปลี่ยนสีดังกล่าวสามารถเป็นสีดำ สีน้ำตาล สีเหลือง หรือสีเขียวได้เช่นกัน และผู้ป่วยที่เคยมีขนที่ลิ้นมาก่อน มีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะนี้ขึ้นอีกในอนาคต โดยทั่วไปอาการนี้จะไม่เป็นอันตรายและมักเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว  

อย่างไรก็ตาม วิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันลิ้นมีขน คือการรักษาสุขอนามัยช่องปากที่ดี ใช้แปรงสีฟันขัดผิวลิ้นเบาๆ ขณะแปรงฟัน และควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ด้วยนะคะ 

ข้อมูลจาก: https://www.mirror.co.uk