ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน ประหารชีวิต ผอ.กอล์ฟ ฆ่าชิงทองลพบุรี

ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน ประหารชีวิต อดีต ผอ.กอล์ฟ คดีฆ่าชิงทอง จ.ลพบุรี

วันนี้ (20 ก.ค. 64) ศาลอาญา อ่านคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ ผ่านระะบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ คดีที่พนักงานอัยการสำนักงานคดีอาญา 6 เป็นโจทก์ และบริษัท ออโรร่า ดีไซน์ จำกัด เป็นโจทก์ร่วม ยื่นฟ้อง นาย ประสิทธิชัย เขาแก้ว หรืออดีต ผอ.กอล์ฟ เป็นจำเลย ในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นเพื่อตระเตรียมการหรือเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิด ฯ , พยายามฆ่าผู้อื่นเพื่อตระเตรียมการหรือเพื่อความสะดวกในการที่จะกระทำความผิดอย่างอื่น, ชิงทรัพย์ในเวลากลางคืน โดยใช้อาวุธปืนและใช้ยานพาหนะ เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัส และความผิดอื่นตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน ฯ พ.ศ.2490 พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530

โดยการยื่นฟ้องนั้น มีทายาทของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ รวม 10 ราย ยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่งด้วย

จากกรณี เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 63 นาย ประสิทธิชัย นำอาวุธปืนติดท่อเก็บเสียงเข้าไปภายในห้างสรรพสินค้าโรบินสัน สาขาลพบุรี แล้วยิง นายธีระฉัตร นิ่มมา พนักงานรักษาความปลอดภัยของห้างฯ รวมทั้งประทุษร้ายบุคคลทั่วไปจนเป็นเหตุให้ ด.ช.ภาณุวิชญ์ และ น.ส.ธิดารัตน์ พนักงานร้านทองโอโรร่า ถึงแก่ความตาย และจำเลยยังได้ยิงบุคคลอื่นอีก 4 คนได้รับบาดเจ็บสาหัส ก่อนชิงสร้อยคอทองคำ 33 เส้น เป็นเงินทั้งสิ้น 664,470 บาท

การพิจารณาในศาลชั้นต้น จำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อปี 2563 พิพากษาว่า จำเลยมีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(6) ประกอบมาตรา 60, 289 (6) ประกอบมาตรา 80, 289 (7), 339 วรรคสอง วรรคสี่ และวรรคท้ายประกอบมาตรา 340 ตรี, 371, 376 พ.ร.บ.อาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน ฯ พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคสอง, 55, 72 วรรคสองและวรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง, 78 วรรคหนึ่งและวรรคสาม พ ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 42 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91

เมื่อรวมโทษทุกกระทงความผิดแล้วให้ประหารชีวิตและปรับ 1,000 บาท ฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ทายาทผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บรวม 10 รายด้วย พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีจนกว่าจะชำระเสร็จ ส่วนที่ขอให้จำเลยชดใช้ทรัพย์คืนแก่ห้างทองออโรร่า โจทก์ร่วมนั้น ระหว่างพิจารณาจำเลยก็ชดใช้ราคาทรัพย์คืนแก่โจทก์ร่วมแล้ว

ต่อมาจำเลยอุทธรณ์ขอให้ลดโทษ

ศาลอุทธรณ์ พิจารณาแล้วเห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมล้วนเป็นพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และพยานแวดล้อม กรณีที่บ่งชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจำเลยคือคนร้ายที่กระทำความผิดดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย จึงมีน้ำหนักอันมั่นคงให้รับฟังได้ว่า จำเลยคือคนร้ายที่กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย

ปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อมาตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า มีเหตุสมควรลดโทษให้จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 หรือไม่ เห็นว่าโจทก์และโจทก์ร่วมมีพยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และพยานแวดล้อมกรณี มาสืบให้รับฟังได้อย่างมั่นคงว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายทั้งสาม และผู้เสียหายที่ 1 -3 และที่ 5 และชิงทรัพย์สร้อยคอทองคำของห้างทองออโรร่า โจทก์ร่วม แล้วหลบหนีไปโดยจำเลยไม่ได้ลุแก่โทษ เข้ามอบตัวต่อเจ้าพนักงานและสารภาพความผิด

แต่ได้ความว่าเจ้าพนักงานตำรวจต้องรวบรวมพยานหลักฐานขอออกหมายจับ จนกระทั่งจับจำเลยได้ ซึ่งลำพังแต่พยานหลักฐานโจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบมาก็เพียงพอที่จะพิพากษาลงโทษจำเลยได้แล้ว

ดังนั้นการที่จำเลยรับสารภาพเป็นเพราะจำนนต่อหลักฐาน การที่จำเลยชิงทรัพย์ เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัส และฆ่าผู้อื่น เพื่อความสะดวกในการกระทำผิดอย่างอื่น ลักษณะของการกระทำความผิด จึงเป็นไปโดยโอกาสไม่ยำเกรงต่อกฎหมายบ้านเมือง เป็นการกระทำที่โหดเหี้ยม ทารุณไร้มนุษยธรรม ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม

พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลย จะชดใช้ความเสียหายเพื่อบรรเทาผลร้าย สำนึกผิด หรือมีคุณความดีดังที่อุทธรณ์ก็ไม่เป็นเหตุเพียงพอที่จะสมควรใช้ดุลพินิจ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้แก่จำเลยเลยได้ ที่ศาลชั้นต้นลงโทษประหารชีวิตโดยไม่ลดโทษให้ ย่อมเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว

ดังนั้น อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น

อย่างไรก็ดี ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ได้มีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และให้ใช้ความใหม่แทน

ดังนั้นในการคิดดอกเบี้ยผิดนัดของค่าสินไหมทดแทนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดดังกล่าวใช้บังคับคือวันที่ 11 เม.ย. 2564 เป็นต้นไปนั้น จำเลยจะต้องชำระดอกเบี้ยผิดนัดแก่ ทายาทผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บทั้ง 10 รายในอัตราที่แก้ไขใหม่ คือ ให้ชำระดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีจนถึงวันที่ 10 เม.ย.64 ให้ชำระดอกเบี้ยอัตราใหม่ร้อยละ 5 ต่อปีนับตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย.64 เป็นต้นไป จนกว่าจำเลยจะชำระค่าสินไหมทดแทนเสร็จ