สมาคมทนายความ ซัด! สตช. แถลงคดี อดีต ผกก.โจ้ เข้าข่ายผิดกฎหมาย

สมาคมทนายความ แห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ ปม สตช. แถลงคดี อดีต ผกก.โจ้ ซัดเข้าข่ายผิดกฎหมายเสียเอง

กรณีที่ พ.ต.ต.ธิติสรรค์ อุทธนผล อดีต ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ หรือ อดีต ผกก.โจ้ ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีที่ใช้ถุงดำคลุมหัว ผู้ต้องหาคดียาเสพติด จนเสียชีวิต ในเวลาต่อมานั้น ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าว มีตำรวจอีกหลายนายร่วมอยู่ด้วย กระทั่งนำไปสู่การจับกุมตำรวจที่อยู่ในคลิป ขณะที่ อดีต ผกก.โจ้ ได้ติดต่อขอมอบตัว

ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้จัดให้มีการแถลงข่าวการจับกุม อดีต ผกก.โจ้ โดยในช่วงของการแถลง ได้มีการโทรศัพท์หา อดีต ผกก.โจ้ โดย ผกก. ยอมรับว่า สิ่งที่ทำนั้นไม่ถูกต้อง แต่ไม่เจตนาให้ตาย ที่ทำไปเพื่อประชาชน ทำให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างมา รวมถึงมีข้อกังขามากมาย ถึงการกระทำของตำรวจ

จากเหตุดังกล่าว ล่าสุด (28 ก.ค. 64) นายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความ แห่งประเทศไทย ได้มีความเห็นถึงการแถลงการณ์ดังกล่าวว่า…

การแถลงข่าวของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ การให้สัมภาษณ์ของผู้ร่วมแถลงข่าว และการดำเนินคดีของพนักงานสอบสวน สภ. เมืองนครสวรรค์ มีความไม่เหมาะสม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และอาจเป็นการกระทำผิดต่อกฎหมายเสียเอง ดังนี้

1.ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 7/1 ผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัวมีสิทธิแจ้งหรือขอให้เจ้าพนักงานแจ้งให้ญาติ หรือผู้ซึ่งผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหาไว้วางใจทราบถึงการถูกจับกุมและสถานที่ที่ถูกควบคุมในโอกาสแรก และให้ผู้ถูกจับหรือผู้ต้องหามีสิทธิดังต่อไปด้วย คือ

(1) พบและปรึกษาผู้ซึ่งจะเป็นทนายความเป็นการเฉพาะตัว

(2) ให้ทนายความหรือผู้ซึ่งตนไว้วางใจเข้าฟังการสอบปากคําตนได้ในชั้นสอบสวน

(3) ได้รับการเยี่ยมหรือติดต่อกับญาติได้ตามสมควร

(4) ได้รับการรักษาพยาบาลโดยเร็ว เมื่อเกิดการเจ็บป่วย

ดังนั้น การยินยอมให้ผู้ต้องหาแถลงข่าวด้วยการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนจึงเป็นการให้สิทธิแก่ผู้ต้องหาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

2.แม้ตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 465/2550 ลงวันที่ 15 สิงหาคม 2550 ข้อ 2.3 ที่ห้ามอนุญาตหรือจัดให้สื่อมวลชนทุกแขนง สัมภาษณ์ผู้ต้องหาในระหว่างการควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะมีข้อยกเว้นให้กระทำได้ หากได้รับความยินยอมจากผู้ต้องหาก็ตาม

แต่การให้สิทธิตามข้อยกเว้นดังกล่าว เกินไปกว่าสิทธิตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 7/1 บัญญัติไว้คำสั่งดังกล่าวจึงขัดต่อกฎหมาย

ประกอบกับการให้สัมภาษณ์ของผู้ต้องหา ยังไม่เป็นประโยชน์แก่คดี เพราะย่อมจะมีลักษณะเป็นการแก้ตัว หรือชักจูงสังคมให้เห็นใจ หรือคล้อยตามคำแก้ตัวของตน หรือสร้างความชอบธรรมให้กับกระทำความผิด หรือให้สัมภาษณ์ผิดไปจากข้อเท็จจริงเพื่อประโยชน์แห่งคดีของตน คำให้สัมภาษณ์ดังกล่าวอาจจะมีอิทธิพลเหนือความรู้สึกของประชาชน เหนือพนักงานสอบสวนหรือผู้เสียหายหรือพยาน ซึ่งจะถูกกดดันจากกระแสสังคมอันจะทำให้การดำเนินคดีเสียความยุติธรรม

3.การที่รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 แถลงว่าผู้ต้องหารายนี้นัดให้มารับตัวที่หน้า สภ. แสนสุข จังหวัดชลบุรี ในช่วงบ่ายของวันที่ 26 สิงหาคม 2564 โดยมีรถเก๋งสีขาวนำตัวผู้ต้องหามาส่ง แต่ตนไม่ได้สังเกตและไม่ได้จำทะเบียนรถดังกล่าว นั้น เห็นว่าผู้ต้องหารายนี้ หลบหนีการจับกุมหลายวัน โดยหลบหนีมาจากจังหวัดนครสวรรค์ จนมาถูกจับกุมที่จังหวัดชลบุรี จึงอาจมีผู้ช่วยเหลือให้พำนัก โดยซ่อนเร้นหรือโดยช่วยผู้ต้องหาด้วยประการใดเพื่อไม่ให้ถูกจับกุมอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 189

ดังนั้น ผู้ขับขี่และรถยนต์ที่นำตัวผู้ต้องหามาส่งให้ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 จึงเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญแห่งคดี ที่พนักงานสอบสวนจะต้องสอบสวนให้ได้ความดังกล่าว

การที่ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 อ้างว่าไม่ได้สังเกตและจำหมายเลขทะเบียนรถไม่ได้ จึงอาจเข้าข่ายเป็นการช่วยเหลือผู้กระทำความผิดฐานให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ต้องหาไม่ให้ถูกจับกุม อันอาจเป็นความผิดฐานผู้สนับสนุนตามมาตรา 86 และ 189 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

สมาคมทนายความ แห่งประเทศไทย ขอเรียนเพิ่มเติมว่า ผู้ต้องหาในคดีนี้เป็นนายตำรวจระดับผู้กำกับการหัวหน้าสถานีตำรวจ

และการกระทำความผิดเกิดขึ้นใน สภ. เมืองนครสวรรค์ โดยมีผู้ร่วมกระทำความผิดเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายคน เช่น

1.การจับกุมผู้ต้องหาโดยไม่มีบันทึกการจับกุม

2.ซ้อมทรมานและฆ่าผู้ต้องหา

3.ทำลายหลักฐานแห่งคดี

4.ไม่แจ้งเหตุแก่พนักงานสอบสวน

5.ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเรื่องการชันสูตรพลิกศพ

อีกทั้งกระทำความผิดเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2564 แต่ไม่ปรากฏว่า พนักงานสอบสวน สภ. เมืองนครสวรรค์ ได้มีการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาและผู้ร่วมกระทำความผิดทันทีที่เกิดเหตุทั้งที่เหตุเกิดใน สภ. ดังกล่าว

ในทางกลับกันกลับมีการช่วยเหลือโดยปกปิดการกระทำความผิด และทำลายพยานหลักฐาน เจ้าหน้าที่ตำรวจของ สภ. เมืองนครสวรรค์ จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียและเป็นผู้กระทำความผิดเสียเอง

ดังนั้น หากให้พนักงานสอบสวน สภ. เมืองนครสวรรค์ เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินคดี ย่อมจะเสียความเป็นธรรม จึงควรให้กองบังคับการกองปราบปราม เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดทุกรายที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ เพื่อกู้วิกฤตศรัทธาของประชาชนที่มีต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนต่อไป

คลิปอีจันแนะนำ
ฟัง รอง ผบช.ภ.6 เล่านาที ผกก.โจ้ จนมุม คิดสั้น อยากตาย