ตร.ไซเบอร์ บุกจับ จนท.ฝ่ายสินเชื่อธนาคารดัง ขายข้อมูลลูกค้า รายชื่อละ 1 บ. หลุดถึงแก๊งคอลเซ็นเตอร์

ตำรวจไซเบอร์ บุกจับ จนท.ฝ่ายสินเชื่อธนาคารดัง ขายข้อมูลลูกค้า รายชื่อละ 1 บาท หลุดถึงแก๊งคอลเซ็นเตอร์ รายได้เดือนละหลายหมื่น เผยทำมาแล้วกว่า 2 ปี

อันตรายจริงๆ ค่ะ ช่วงนี้มิจฉาชีพระบาดหนักมาก ล่าสุด ตำรวจไซเบอร์ นำกำลังบุกจับ เจ้าหน้าที่ธนาคารฝ่ายสินเชื่อ ของธนาคารแห่งหนึ่ง นำข้อมูลกลุ่มลูกค้าเครดิตดี ครั้งละ 3,000–5,000 รายชื่อ ไปขายรายชื่อละ 1 บาท ทำมาแล้วกว่า 2 ปี รายได้เดือนละหลายหมื่นบาท 

เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 15 ก.พ.67 ที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) เมืองทอง นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วย ดร.ศิวรักษ์ ศิวโมกษธรรม เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และ พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผบช.สอท.  

ร่วมแถลงผลการปฏิบัติการตามยุทธการแองเจิลอาย คดีอาชญากรรมทางออนไลน์ จับกุมตัวนายสุวรรณ อายุ 42 ปี หัวหน้าฝ่ายสินเชื่อสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง ตามหมายจับศาลอาญา ที่ 506/2567 ลงวันที่ 6 ก.พ.67 ได้ที่หน้าบ้าน ในหมู่บ้านพระปิ่น3 ต.บางแม่นาง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี หลังสืบทราบว่ามีการนำข้อมูล ลูกค้าของสถาบันการเงินของตนเอง มาดัดแปลงแก้ไขและนำไปจำหน่ายต่อให้กับกลุ่มที่สนใจ เช่น ตัวแทนสินเชื่อ ตัวแทนประกัน ซึ่งบางกรณีตกไปอยู่ในมือของกลุ่มคอลเซ็นเตอร์   

จากการตรวจค้นในบ้านพักพบคอมพิวเตอร์พกพาและโทรศัพท์มือถือ ที่เก็บไฟล์ภาพข้อมูลของลูกค้าและประชาชนที่ซื้อขายข้อมูลมาจากบุคคลอื่น และข้อมูลลูกค้าที่ผู้ต้องหาถือเก็บไว้ 

สอบสวนให้การรับสารภาพว่า ทำการเก็บข้อมูลลูกค้าจากการจดบันทึกและจัดทำเป็นไฟล์เอกสาร แล้วนำไปจำหน่ายต่อให้กับกลุ่มนายหน้าประกัน นายหน้าสินเชื่อของสถาบันธนาคารการเงินอื่น โดยจะทยอยนำรายชื่อลูกค้าประมาณ ครั้งละ 3,000 – 5,000 รายชื่อ ที่เป็นกลุ่มลูกค้าเครดิตดี ไปจำหน่ายต่อในราคารายชื่อละ 1 บาท ทำให้มีรายได้เพิ่มเติมในแต่ละเดือนหลักหลาย 10,000 บาท ซึ่งทำเช่นนี้มาแล้วกว่า 1-2 ปี 

จึงแจ้งข้อหา ล่วงรู้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นเนื่องจากการปฎิบัติหน้าที่ตาม พระราชบัญญัตินี้นำไปเปิดเผยแก่ผู้อื่นทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยไม่ชอบอันเป็นความผิดตามพรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และพรบ.ความผิดทางคอมพิวเตอร์ 

นายประเสริฐ กล่าวว่า ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ให้ความสำคัญกับการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นนโยบายหลักที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยแผนงานปี 2567 ทางกระทรวงฯ ได้ออกมาตรการแก้ปัญหาภัยออนไลน์ ยกระดับ ศูนย์ AOC 1441 ใช้ AI ช่วยตรวจจับ วิเคราะห์ ประมวลผล ขยายผลกวาดล้าง บัญชีม้า และบัญชีของม้า,Call alert แอปพลิเคชันแจ้งเตือนหมายเลขโทรศัพท์เสี่ยง ภัยออนไลน์, ศูนย์ PDPC Eagle Eye ตรวจ ป้องปราม ข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล และซื้อขายข้อมูล, เปิดก่อนจ่าย แก้ปัญหาซื้อของออนไลน์ เก็บเงินปลายทาง (COD) ได้ของไม่ตรงปก และไซเบอร์วัคซีน รู้เท่าทันภัยออนไลน์ 

สอดรับกับดร.ศิวรักษ์ ที่กล่าวว่า จากข้อมูลผลการปฏิบัติศูนย์เฝ้าระวังการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล PDPC Eagle Eyes ระหว่างวันที่ 9 พ.ย.66 ถึง 13 ก.พ.67 ผลการตรวจ 21,003 หน่วย พบข้อมูลรั่วไหล 5,881 เรื่อง ในจำนวนนี้ เป็นองค์กรท้องถิ่น 2,790 เรื่อง,หน่วยงานรัฐ 2,393 เรื่อง และแก้ไขแล้ว 5,869 เรื่อง อีกทั้งตรวจพบขายข้อมูล 67 เรื่อง ซึ่งทางคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล อยู่ระหว่างการเร่งรัดดำเนินการ นอกจากนี้เตรียมที่จะเสนอแนวทางปรับแก้กฎหมายเพิ่มโทษให้สูงขึ้นเป็น 10 ปี 


คลิปอีจันแนะนำ

เปิดตำนานหลอน “บ้านหลังนี้มีศพ”