เหยื่อร้องอีจัน! โดนชิ่งค่าปลา เสียหายกว่า 13 ล้านบาท

หญิงรายหนึ่ง พร้อมนาย รพี ชำนาญเรือ ที่ปรึกษาทางคดี เข้าร้อง อีจัน หลังโดนหญิงสาว พร้อมพวก แอบอ้างใช้นามสกุลคนดัง ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมือง และอ้างซ้ำ ลูกชายเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรี หลอกซื้อปลา จนสูญเงินกว่า 13 ล้านบาท

เหยื่อร้องอีจัน ถูก หลอกซื้อปลา อ้างว่าให้ราคาดีกว่าตลาด สุดท้ายสูญเงินกว่า 16 ล้านบาท!

วันนี้ 28 ต.ค.66 นางธัชมาส อายุ 53 ปี พร้อมกับนายรพี ชำนาญเรือ ที่มารับหน้าที่ ให้คำปรึกษา เข้าร้องเรียนกับเพจอีจัน กรณีถูกหญิงสาวรายหนึ่ง พร้อมพวก ใช้กลอุบายในการล่อลวง หลอกซื้อปลาจากนางธัชมาส ที่เปิดบริษัท ขายและผลิตปลาแดดเดียวอยู่ ซึ่งพฤติการของหญิงสาวรายนี้ นางธัชมาส เล่าว่า มีการแอบอ้าง พยายามสร้างตัวตน โดยการใช้ชื่อ และนามสกุลปลอม ที่พ้องเสียงกับคนใหญ่คนโตในบ้านเมือง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ก่อนที่จะลงมือตุ๋นเหยื่อ

ซึ่ง หญิงสาวคนนี้อ้างว่า ลูกชายตนเองนั้น เป็นที่ปรึกษาระดับประเทศ ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ และเป็นเครื่องมือทำให้เหยื่อซึ่งก็คือนางธัชมาส หลงเชื่อ กลลวงต่างๆ หญิงสาวคนนี้ ติดต่อมาขอสั่งปลาเพื่อส่งออกไปที่ประเทศญี่ปุ่น โดยสั่งครั้งละหลายตัน ในเวลาไม่กี่วัน แถมให้ราคาเกินความเป็นจริง เช่น ราคาตลาด ปลาขายอยู่กิโลกรัมละ 200 บาท ก็จะให้ราคากิโลกรัมละ 400 บาท พร้อมบอกว่า ถ้าตนเอาไปขายที่ญี่ปุ่น จะได้ราคาดีกว่านี้ จึงให้ราคาที่สูงมากกับนางธัชมาส ภายในระยะเวลา ร่วมๆ 2 เดือน ผู้เสียหายสูญเงินกว่า 16 ล้านบาท

โดยนอกจาก การสั่งปลาทีละหลายๆตันแล้วนั้น ก็ยังมีการสั่งวัตถุดิบอื่นๆด้วย เช่น ตะกร้าใส่ปลา หรือ สติ๊กเกอร์ รวมไปถึง วิธีการที่หญิงสาวรายนี้ ใช้หลีกเลี่ยงทางกฏหมาย เช่น การไม่เปิดเผย บัตร ปชช.ตัวจริง, การไม่เซ็นชื่อลงในใบสัญญาซื้อขาย โดยใช้ผู้อื่น มาเซ็นรับรองแทนตนเอง ซึ่งทางคุณรพี ก็มีการคาดการณ์ว่า หญิงสาวรายนี้ มีความรู้ทางกฏหมายพอสมควร เพราะว่า รู้ช่องโหว่ของกฏหมาย ซึ่งก็สอดคล้องกับคำอ้างที่ว่า มีลูกชายเป็นที่ปรึกษารัฐมนตรี แต่อย่างไรก็ตาม จะมีการให้คำปรึกษากันหรือไม่นั้น ก็ยังไม่ชัดเจน

ทั้งนี้หญิงสาวรายนี้ ก็ยังหลอกผู้เสียหายอีกว่า หลังจากได้ของแล้ว อยู่ในขั้นตอนระหว่างการจัดส่งออกนอกประเทศ แต่ติดปัญหาเรื่องการขนส่ง ไม่สามารถเบิกเงินได้ อ้างว่าติดพายุ ใช้สถานการณ์บ้านเมืองในข่าว มาปั้นเรื่องให้คุณธัชมาสหลงเชื่อ และยังขอยืมเงินเป็นค่ากระบวนการในการขนส่ง ซึ่งฝ่ายผู้เสียหายเอง ก็อยากได้เงินในส่วนของค่าปลา จึงตกลงให้ยืมไป เพราะหวังว่า เมื่อปลาได้ส่งออกแล้ว ตนจะได้รับเงิน แต่ทว่า ก็ผลัดวันประกันพรุ่ง เลื่อนแล้วเลื่อนอีก อีกทั้งเงินที่โอนไปนั้น ไม่ได้เข้าบัญชีของหญิงสาวคนนี้โดยตรง เป็นบัญชีที่มีผู้อื่นรับไป และก็นำเงินสด มาให้หญิงสาวรายนี้อีกที

นางธัชมาสเล่าต่อว่า หญิงสาวรายนี้เคยเข้ามาที่โรงงานของตน และถ่ายคลิปวีดิโอ โดยใช้วัตถุดิบ นั่นก็คือปลา ของทางโรงงาน โดยอ้างว่า เป็นของตนเอง และอัดคลิปบอกราคาปลา เหมือนจะสวมรอยว่า ตนเองมีโรงงานมีปลาจริงๆ ซึ่งความจริงนั้น หญิงสาวรายนี้ เป็นเพียงผู้ที่เข้ามาซื้อขายเท่านั้น คล้ายกับว่า จะสร้างตัวตนให้คนหลงเชื่อ โดยใช้วัตถุดิบ และโรงงานของนางธัชมาสนั่นเอง

จนสุดท้าย นางธัชมาส ได้เล่าเพิ่มเติมว่า หลังมีการตรวจสอบพบว่า ชื่อที่หญิงสาวรายนี้ใช้นั้น ไม่ตรงกับชื่อจริงๆ หรือก็แค่มีการแอบอ้างนั่นเอง นางธัชมาส จึงโร่เข้าแจ้งความพร้อมกับคุณรพี เพื่อดำเนินการทางกฏหมาย กับหญิงสาวรายนี้ ซึ่ง ณ ตอนนี้ยังอยู่ในชั้นอัยการตรวจสอบ และหาข้อเท็จจริงกันต่อไป ซึ่งอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า หญิงสาวรายนี้ รู้ช่องโหว่ทางกฏหมายเป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นก็ต้องอาศัย ความสามารถของตำรวจ และหลักฐานที่ผู้เสียหายนั้นรวบรวมเอาไว้ ใช้ต่อสู้ในคดี อีกทั้งยังมีผู้เสียหาย คนอื่นๆอีกหลายราย ที่ถูกหลอกเงิน บางรายก็เป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่อีกด้วย ทำให้เห็นว่า ผู้ที่ก่อเหตุนี้ จะมีเส้นสายใหญ่โตแค่ไหนหรือไม่ 

อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ คุณรพีก็บอกว่า อยากฝากเตือน ไปถึงผู้ประกอบการต่างๆ ให้ระมัดระวัง ให้ดี อย่าหลงเชื่อ ให้มีเอกสาร การยืนยันตัวตนที่ชัดเจน ว่าบริษัทที่จะทำการค้าขายด้วยนั้น เป็นของจริงหรือไม่ และก่อนซื้อขายควรมีสัญญาที่เป็นมาตราฐาน รวมไปถึงดูเรื่องราคาตลาดกลางด้วย ด้านนางธัชมาสก็บอกว่า อยากให้เหยื่อที่เคยถูกหลอกในลักษณะคล้ายๆกัน ออกมาให้การ เพื่อเอาผิดกับผู้ก่อเหตุต่อไป ส่วนตนเองก็จะนำเรื่องนี้กลับไปเป็นบทเรียน เพื่อคราวหน้าจะได้ไม่ถูกหลอกเช่นนี้อีก