กระทรวงการคลัง โพสต์ ชี้แจงโครงสร้าง ราคาน้ำมัน

กระทรวงการคลัง โพสต์ ชี้แจงโครงสร้าง ราคาน้ำมัน ชี้ ภาษีสรรพสามิต เป็นรายได้หลักของรัฐบาล

กระแสราคาน้ำมันแพง กำลังเป็นที่สนใจอย่างมาก ในวันนี้ (26 ต.ค. 64) เฟสบุ๊ค สถานีข่าวกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความชี้แจงในประเด็น “การจัดเก็บภาษีและเงินกองทุนของภาครัฐสัดส่วนเป็นร้อยละ 49 ของราคาน้ำมันต่อลิตร” ว่า ปัจจุบันโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงแบ่งออกเป็น 6 องค์ประกอบ ได้แก่ 1.ราคาหน้าโรงงาน ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ, 2.ภาษีสรรพสามิตที่อัตราประมาณ 0.975 ถึง 6.5 บาทต่อลิตร ขึ้นกับประเภทน้ำมัน, 3.ภาษีเพื่อส่วนราชการท้องถิ่นที่ร้อยละ 10 ของภาษีสรรพสามิต เพื่อเป็นรายได้ท้องถิ่นในการจัดทำบริการสาธารณะและกิจกรรมสาธารณะแก่ประชาชนในพื้นที่, 4.ภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7, 5.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่จัดเก็บประมาณ -17.6143 ถึง 6.58 บาทต่อลิตร ขึ้นกับประเภทน้ำมัน และ 6.ค่าการตลาดซึ่งเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการ

จากโครงสร้างราคาน้ำมันดังกล่าว จะพบว่า การอ้างว่า มีการเก็บภาษีและเงินกองทุนของภาครัฐ สูงถึงร้อยละ 45 ของราคาน้ำมันต่อลิตรที่ประชาชนจ่ายนั้น เป็นการนำสัดส่วนของราคาน้ำมันเบนซินปกติ ซึ่งมีการใช้น้อย มาอ้างใช้กับน้ำมันทุกประเภท ซึ่งจะเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เพราะหากเป็นน้ำมันประเภทอื่น สัดส่วนของภาษีและเงินกองทุนจะอยู่ในสัดส่วนเพียงร้อยละ 6 – 23 เท่านั้น และในน้ำมันบางประเภท เช่น เบนซิน 95 E85 และ LPG นั้น สัดส่วนการเก็บภาษีและเงินกองทุนติดลบ เนื่องจากได้รับการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมัน

จากข้อมูลราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2564 ภาษีสรรพสามิต ภาษีเพื่อส่วนราชการท้องถิ่น เงินนำส่ง/ได้รับอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และเงินนำส่งกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน มีการจัดเก็บภาษีและได้รับเงินอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในอัตราที่แตกต่างกันตามโครงสร้างราคาขายปลีกน้ำมัน

การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากสินค้าพลังงานเป็นแนวปฏิบัติที่เป็นสากล เนื่องจากการบริโภคสินค้าพลังงานสร้างผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมต่างๆ ดังนั้น รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากสินค้าพลังงานเพิ่มเติม ซึ่งเกือบทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียน มีการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากสินค้าพลังงานแล้วทั้งสิ้น โดยราคาสินค้าพลังงานของประเทศไทยอยู่ในระดับกลาง ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน เช่น ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศ ณ วันที่ 25 ตุลาคม 2564 อยู่ที่ประมาณ 29 บาทต่อลิตร ในขณะที่สิงคโปร์อยู่ที่ 53 บาทต่อลิตร ลาว 31.50 บาทต่อลิตร กัมพูชา 30.24 บาทต่อลิตร ฟิลิปปินส์ 28.69 บาทต่อลิตร เมียนมา 26.95 บาทต่อลิตร และมาเลเซีย (ผู้ส่งออกน้ำมัน) 17.42 บาทต่อลิตร

ในด้านภาษีมูลค่าเพิ่ม อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มของประเทศไทยอยู่ที่ร้อยละ 10 ของมูลค่าสินค้าและบริการ แต่จัดเก็บจริงที่ร้อยละ 7 ของมูลค่าสินค้าและบริการ และเมื่อลองเปรียบเทียบกับต่างประเทศแล้วพบว่า ไทยมีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มต่ำที่สุดในภูมิภาค รวมทั้งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่ม OECD จะพบว่า อัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเฉลี่ยของกลุ่ม OECD สูงกว่าอัตราจัดเก็บจริงของไทยเกือบ 3 เท่า อยู่ที่ร้อยละ 19.3 ดังนั้น การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ร้อยละ 7 จึงอาจไม่เป็นการสร้างภาระแก่ประชาชนที่สูงเกินกว่าประเทศอื่นๆ ในโลก

ในปีงบประมาณ 2563 สัดส่วนภาษีสรรพสามิตและภาษี VAT คิดเป็นเกือบร้อยละ 40 ของรายได้รัฐบาลรวม ดังนั้น การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มจึงเป็นแหล่งรายได้สำคัญที่รัฐบาลจะสามารถนำมาใช้ในการบริหารประเทศ และแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมต่าง ๆ ได้ เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม, การส่งเสริม SMEs, การบรรเทาผลกระทบจาก COVID-19, การให้บริการด้านสาธารณสุข เป็นต้น

คลิปอีจันแนะนำ
ขออะไรก็ยาก ไม่เหมือนขอเสียงเลย!