กระทรวงแรงงานเผยสถิติ ปี 2564 คนว่างงาน เกือบ 6 แสนคนแล้ว

ช้ำไม่หยุด! กระทรวงแรงงานเผยสถิติ ปี 2564 คนว่างงาน เกือบ 6 แสนคนแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรเผย ปีนี้คนตกงานอาจพุ่งแตะ 2.7 ล้านคน!

เมื่อโควิดไม่เลือก คนทุกข์ต่างสาหัสกันทุกหย่อมหญ้า

ก่อนหน้านี้นายไพโรจน์ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการจัดหางานกระทรวงแรงงาน ได้เผยข้อมูลสถิติแห่งชาติ ปี 2563 พบจำนวนผู้อยู่ในกำลังแรงงาน 39.45 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 38.76 ล้านคน โดยเป็นผู้ว่างงาน 0.59 ล้านคน หรือประมาณ 590,000 คน แบ่งเป็นผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อน 0.18 ล้านคน และเคยทำงานมาแล้ว 0.41 ล้านคน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 พบว่าผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 0.22 ล้านคน แต่ในขณะเดียวกัน จำนวนผู้มีงานทำก็เพิ่มขึ้นถึง 1.1 ล้านคนเช่นเดียวกัน

ขณะเดียวกัน ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง เดือนกุมภาพันธ์ 2564 มีคนว่างงาน ราว 424,921 คน ส่วนผู้ประกันตน ม.33 กลับเข้าสู่ระบบประกันสังคม 155,958 ราย และผู้ประกันตนรายใหม่ 84,241 ราย รวมทั้งสิ้น 240,199 ราย แยกเป็นเดือนมกราคม 85,970 ราย เดือนกุมภาพันธ์ 81,064 ราย และเดือนมีนาคม 73,165 ราย ในขณะที่จำนวนผู้ลงทะเบียนขอรับสิทธิ์กรณีว่างงานมี จำนวน 119,987 ราย โดยมีการลดจำนวนลงตามลำดับตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 เป็นต้นมา

ซึ่งเมื่อเทียบกับการคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกร พบว่า กว่า 1 ปีของการระบาดโควิด-19 ที่จนถึงปัจจุบันวิกฤตนี้ก็ยังไม่ยุติลง และมีแนวโน้มจะสร้างผลกระทบที่ยืดเยื้อยาวนานสำหรับสถานการณ์ในประเทศไทยที่การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ด้วยการฉีดวัคซีนให้กับประชากร 70% ขึ้นไปของประชากรทั้งประเทศอาจมีความเสี่ยงว่าจะเกิดขึ้นไม่ทันภายในช่วงปี 2564 นี้ ถึงแม้ภาครัฐมีแผนจะจัดหาวัคซีนไว้แล้วมากกว่า 63 ล้านโดสก็ตาม เพราะแม้ว่าเราอาจจะสามารถควบคุมการระบาดของโควิดในรอบเดือนเมษายนนี้ให้คลี่คลายได้ก่อนเข้าสู่จังหวะการเปิดประเทศในจังหวัดท่องเที่ยวเป้าหมายตามแผนที่วางไว้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 (ทั้งการไม่กักตัว/ลดวันกักตัวลง) แต่ก็มีความเป็นไปได้ในกรณีเลวร้ายที่อาจมีเหตุการณ์ที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้นคือการระบาดรอบถัดไปหรือคลัสเตอร์ใหม่ๆ ได้อีก

ภาพดังกล่าว ย่อมกดดันเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจและครัวเรือน ให้มีความเปราะบางมากขึ้นผ่านจังหวะการฟื้นตัวที่สะดุดลงและเลื่อนเวลาออกไปจากที่เคยหวังกันไว้ก่อนเกิดระลอกปลายเดือนธันวาคม 2563 และเมษายน 2564 ซึ่งถ้าย้อนไปดูผลกระทบต่อแรงงานจากสถิติล่าสุด พบว่า โควิดรอบแรก ทำให้มีผู้ว่างงานเร่งจำนวนขึ้นมาอยู่ที่ 5.9 แสนคน ณ ธันวาคม 2563 คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.5% ต่อกำลังแรงงานทั้งหมด (เทียบกับ 0.96% ณ ธันวาคม 2562) ขณะที่ หากนับรวมผู้เสมือนว่างงานหรือผู้ที่มีจำนวนชั่วโมงการทำงานน้อย อีกราว 2.1 ล้านคน หรือ 5.4% ต่อกำลังแรงงาน โดยแบ่งเป็น ภาคเกษตรราว 1.3 ล้านคน และภาคนอกเกษตร 0.8 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นการผลิต ขายส่งขายปลีก ที่พักแรม เป็นต้น สรุปได้ว่า แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากโควิดรอบแรกและมีความเปราะบางด้านรายได้ อาจมีมากถึง 2.7 ล้านคน หรือ 6.9% เลยทีเดียว

หากต่อภาพมาถึงในปี 2564 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จำนวนแรงงานเปราะบางที่วัดจากผู้ว่างงานและผู้เสมือนว่างงานจะยังทรงตัวหรือขยับเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากจังหวะเวลาการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและรายได้ของภาคธุรกิจที่ถูกเลื่อนออกไป ในขณะที่แต่ละกิจการได้พยายามลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพมาอย่างเต็มที่ก่อนหน้านี้แล้ว ดังนั้น ความเสี่ยงที่ธุรกิจจะลดแรงงานหรือไม่จ้างงานใหม่เพิ่ม น่าจะมีมากกว่าธุรกิจที่จะรับแรงงานใหม่ ประกอบกับจะยังมีนักศึกษาจบใหม่ที่ทยอยเข้าสู่ตลาดแรงงานอีกด้วย นั่นหมายความว่า ตลาดแรงงานโดยรวมจะยังอยู่ภายใต้แรงกดดัน โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบนอกภาคเกษตรในสาขาการค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวที่มีจำนวน 6.9 ล้านคน หรือคิดเป็น 17.5% ต่อกำลังแรงงาน ซึ่งก่อนเกิดการระบาดโควิดรอบเดือนเมษายน 2564 แรงงานนอกระบบที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวกลุ่มนี้ที่ครอบคลุมถึงตลาดนัด ร้านนวดและสปา แท็กซี่และจักรยานยนต์รับจ้าง รวมถึงหาบเร่แผงลอย ก็มีรายได้ที่ลดลงมาเหลือเพียง 10-50% ของรายได้ก่อนโควิดแล้ว

ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อพิจารณาถึงความคืบหน้าของโครงการ”เราชนะ”ของภาครัฐ ที่มีจำนวนผู้ได้รับสิทธิ์มากถึง 32.8 ล้านคน ก็สะท้อนได้เช่นกันว่า ผู้ที่มีความเปราะบางจากผลกระทบของโควิดมีอยู่เป็นจำนวนมากถึงเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศ ขณะที่ การระบาดรอบเดือนเมษายนและความเสี่ยงที่อาจมีการระบาดรอบถัดไปอีก จึงยากจะหลีกเลี่ยงที่ภาครัฐคงจำเป็นต้องมีมาตรการให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง