ทีทีบีธนชาตเผย วิกฤตโควิด ทำหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงลิ่ว!

ความจริง ที่เจ็บปวด! ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบีธนชาต เผยวิกฤตโควิด ทำหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงลิ่ว สิ้นปีนี้จีพีดี อาจเเตะ 93.0%

เป็นความจริงแสนเจ็บปวด ตั้งเเต่มีโควิด การทำมาหากิน เศรษฐกิจถดถอยอย่างเห็นได้ชัดไม่ว่าจะสาขาอาชีพไหน ต่างได้รับผลกระทบไม่เเพ้กัน

เเน่นอนทางรอดเดียวที่จะทำให้ชีวิตดำเนินต่อ เมื่อรายได้ชะงัก คือ เงินกู้ยืม

วานนี้ 13 ก.ย. 64 ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบีธนชาต ประเมินว่าหนี้ครัวเรือนไทยปัจจุบันอยู่ในภาวะเปราะบาง ด้วยสัดส่วนหนี้เพื่อการบริโภคที่สูงขึ้น จึงเป็นปัญหากระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจ โดยนับตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 หนี้ครัวเรือนของไทยมีการปรับตัวสูงมากขึ้น เพิ่มขึ้นจาก 80% ของจีดีพี ณ สิ้นปี 2562 เป็น 90.5% ของจีดีพี ณ ไตรมาส 1/2564

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศระลอก 3 ที่ลุกลามยืดเยื้อมาจนถึงครึ่งหลังของปี 2564 ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี คาดการณ์ว่า ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอาจเพิ่มขึ้นไปถึง 93.0% ณ สิ้นปี 2564

โดยปริมาณหนี้ครัวเรือนของไทยต่อจีดีพี ที่เร่งขึ้นเร็วในช่วงวิกฤตนี้ เกิดจากความจำเป็นในการก่อหนี้เพิ่ม เนื่องจากขาดหรือมีสภาพคล่องในครัวเรือนไม่เพียงพอกับรายจ่าย หลังจากที่ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติในช่วงล็อกดาวน์ การถูกปรับลดเงินเดือนบางส่วนลง รวมถึงการถูกเลิกจ้าง/รายได้ที่ลดลงมากเมื่อเทียบกับหนี้ที่เพิ่มขึ้นเร็ว สะท้อนจากหนี้ครัวเรือนไทย ณ ต้นปี 2564 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.6 จากระยะเดียวกันกับปี 2563 ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะซบเซา

โดยพบว่าในหลายประเทศก็ประสบปัญหาหนี้ครัวเรือนพุ่งในลักษณะเดียวกัน เช่น เกาหลีใต้ มีหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจาก 93.9% ของจีดีพี เป็น 103.8% ณ ต้นปี 2564 และมาเลเซียที่เพิ่มจาก 82.7% เป็น 93.2% ในปัจจุบัน โดยไทยมีปริมาณหนี้ครัวเรือนอยู่อันดับที่ 17 ของโลก ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน คือ เกาหลีใต้และมาเลเซีย ซึ่งอยู่อันดับที่ 9 และ 14 ตามลำดับ แต่สูงกว่าหนี้ครัวเรือนของสิงคโปร์ซึ่งอยู่อันดับที่ 26 ของโลก

พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ว่า สิ่งสำคัญที่จะต้องเน้นเพื่อช่วยผ่อนคลายภาวะตึงตัวทางการเงินของลูกหนี้ในระยะสั้น และเพื่อช่วยให้ลูกหนี้สามารถเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การชำระหนี้ทั้งหมดได้ หลังการแพร่ระบาดยุติลงในระยะยาว โดยสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละราย และไม่ก่อให้เกิดแรงจูงใจเลี่ยงชำระหนี้อย่างไม่เหมาะสม คือการเติมสภาพคล่องให้ลูกหนี้รายย่อยเพื่อให้เพียงพอต่อการดำรงชีพ การเร่งปรับโครงสร้างหนี้ การรวบหนี้ โดยเฉพาะการนำหนี้ไม่มีหลักประกันมารวมกับหนี้มีหลักประกัน และขยายระยะผ่อนชำระ

คลิปอีจันแนะนำ
เอ๊ะ! เบอร์ไม่คุ้นโทรมา ให้เอะใจก่อนหลงเชื่อ