ยังไม่ได้ข้อยุติ! ปมเจรจาแก้ปัญหา บ้านบางกลอย

การเจรจา บ้านบางกลอย ยังไม่ได้ข้อยุติ – จนท.รัฐฯ ยืนยัน เร่งแก้ปัญหาที่ดินทำกิน

ความคืบหน้ากรณีการเจรจาพูดคุยกับชาวบ้าน บางกลอย ที่เข้าไปปักหลัก ทำเพิงพักในเขต บางกลอยบน ซึ่งเป็นเขตป่าอุทยานแห่งชาติ แก่งกระจาน ให้เดินทางกลับลงมาอาศัยอยู่ที่ บ้านโป่งลึก บางกลอย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ภาครัฐจัดให้เป็นที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์เช่นเดิม

หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ในปี 2524 รัฐฯ ได้ประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ แก่งกระจาน และเจรจาให้ ชาวบ้านที่อาศัยในป่า ทำไร่หมุนเวียน เปลี่ยนวิถี ด้วยการย้ายมายังที่ดินที่รัฐจัดสรร คือ หมู่บ้านโป่งลึก บางกลอย แต่ชาวบ้านหลายคนเมื่อลงมาแล้วไม่มีที่ดินทำกิน จึงทำให้อพยพกลับขึ้นไป ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นปมปัญหากับรัฐที่มีมายาวนานจนกลายเป็นมหากาพย์

สำหรับการเจรจากับตัวแทนชาวบ้านบางกลอย ในวันนี้ (25 ก.พ. 64) พบว่า ยังไม่มีข้อยุติอย่างเป็นทางการ โดยนายจงคล้าย วรพงศธร ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า วันนี้ตน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่มาเพื่อสำรวจฐานข้อมูลของชาวบ้านบางกลอย จากเดิมเมื่อปี 2539 ที่มี 57 ครอบครัว และย้ายลงมาบางกลอยล่าง ก่อนจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 61 ครอบครัว

และในปัจจุบันพบว่ามี 116 ครอบครัว ซึ่งเรื่องนี้ จะต้องไปสำรวจอีกครั้งว่า ครอบครัวไหนที่ยังไม่มีที่ดินทำกินที่รัฐจัดสรรให้ ตลอดจนปัญหาเรื่องของน้ำ ที่ใช้หล่อเลี้ยงในเรื่องของการเกษตร ปลูกพืชหมุนเวียน ซึ่งตรงนี้จะให้สำนักงานทรัพยากรน้ำ เข้ามาตรวจสอบเรื่องของดิน และติดตั้งระบบน้ำใหม่

ส่วนกรอบระยะเวลาของการแก้ไขปัญหา ตนจะพยายามทำให้เร็วที่สุด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องกลับไปประชุมคุยกับคณะทำงานอีกครั้ง

อย่างไรก็ดี ในวันนี้ ตัวแทนของชาวบ้านบางกลอย ได้ยื่น 7 ข้อเสนอเจรจา ของ นอแอะ มีมิ ลูกชายของปู่คออี้ ให้กับทางหน่วยงาน โดยมีเนื้อหาระบุ ดังนี้

1.พวกเราชาวบ้านบางกลอย ยืนยันว่าต้องการอยู่ในพื้นที่เดิมที่เคยอยู่มาก่อน

2.คนที่ไม่มีความประสงค์จะกลับขึ้นไป ก็ควรได้รับการจัดสรรที่ดินให้สามารถทำกินได้

3.ปฏิบัติการเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 มีการกระทำของเจ้าหน้าที่ ทำให้สิ่งของบางอย่างเสียหาย เช่น ไฟฉาย แผ่นโซลาเซลล์

4.ให้เจ้าหน้าที่หยุดปฏิบัติการต่างๆ ในขณะที่มีคณะทำงานที่ถูกส่งมาจากกระทรวงโดยตรง

5.ขอให้สื่อ หรือ เจ้าหน้าที่ หยุดชี้นำให้พวกเราชาวบ้าน และหยุดกล่าวหาว่าพวกเราไม่ใช่คนไทย

6.ให้มีกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ โดยมีทั้งหน่วยงานรัฐและนักวิชาการมีส่วนร่วมเรื่องไร่หมุนเวียน

7.เราจะรอจนกว่าคณะทำงานที่ถูกส่งมาจากกระทรวงจะหาข้อยุติร่วมกับคนกลาง

อย่างไรก็ตาม 7 ข้อเสนอของชาวบ้านที่มีการเสนอกับเจ้าหน้าที่นั้น จะต้องมาติดตามกันต่อว่า เป็นไปตามบทกฎหมายหรือไม่