จุรินทร์ ลุยอุบล ดูโครงการ ประกันราคาข้าว ได้ส่วนต่างสูงสุด!

จุรินทร์ ลงพื้นที่อุบล ติดตาม โครงการประกันรายได้ ปี 2 – ประกันราคาข้าว ได้ส่วนต่างสูงสุด 42,830 บาท

9 กรกฎาคม 2564 นาย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายสุทัศน์ เงินหมื่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, นางสาวบุณย์ธิดา สมชัย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร, นายวุฒิพงษ์ นามบุตร ส.ส.จังหวัดอุบลราชธานีเขต 2, นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์, นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน, นายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี, นางรัชฎาภรณ์ แก้วสนิท ประธานกรรมการ บริหารกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตร และคณะ มอบ เช็คชําระหนี้ และมอบ โฉนดที่ดิน ของกองทุนฟื้นฟู เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้แก่เกษตรกร จังหวัดอุบลราชธานี และประชุมติดตามความคืบหน้า โครงการประกันรายได้ ผู้ปลูกยางพารา มันสําปะหลัง ข้าว ณ โรงแรมสุนีย์แกรนด์ อําเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

นายจุรินทร์ กล่าวว่า นโยบาย ประกันรายได้ เกษตรกร เป็นนโยบายสำคัญของ พรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นเงื่อนไขตัดสินใจก่อนเข้าร่วมรัฐบาล

สำหรับโครงการประกันรายได้ เกษตรกร นั้น สินค้าเกษตรที่อยู่ในโครงการ มีดังนี้

-มันสำปะหลัง ประกันรายได้ กิโลกรัมละ 2.50 บาท

-ยางแผ่นดิบชั้น 3 กิโลกรัมละ 60 บาท

-ข้าวหอมเกวียนละ 15,000 บาท

-ปาล์มน้ำมันกิโลกรัมละ 4 บาท

ซึ่งเมื่อไหร่ที่ราคาต่ำกว่ารายได้ที่ประกัน จะมีส่วนต่างโอนเข้าบัญชีพี่น้องเกษตรกรโดยตรง ทำให้มีรายได้ 2 ทาง จากราคาตลาดและเงินส่วนต่าง

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้ดำเนินการมา 2 ปีแล้ว และปีหน้าจะเป็นปีที่ 3

นายจุรินทร์ กล่าวด้วยว่า เฉพาะเงินส่วนต่างผู้ปลูกข้าวหอมมะลิ จะได้เงินส่วนต่างปีที่ 2 โดยบางครอบครัวได้สูงสุดถึง 42,830 บาท ขณะที่มันสำปะหลังได้สูงสุดถึงครัวเรือนละ 28,000 บาท ส่วนยางพาราได้สูงสุดถึงครัวเรือนถึง 13,400 บาท

สำหรับกองทุนฟื้นฟู นอกจาก โครงการประกันรายได้ ที่ได้ผลักดันในการเข้าร่วมรัฐบาลนั้น นายจุรินทร์ เผยว่า พวกตนได้เริ่มต้นจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรเมื่อปี 2540 ในยุครัฐบาลชวน 2 (นายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ) ซึ่งขณะนั้นตนเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ได้ริเริ่มออกพระราชบัญญัติจัดตั้งกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร กองทุนฟื้นฟูมีภารกิจ 2 เรื่อง คือ

1.เมื่อเกษตรกรเป็นหนี้สถาบันการเงินหรือหนี้บุคคลค้ำถ้าชำระหนี้ไม่ได้ กองทุนฟื้นฟูสามารถเข้าไปช่วยเกษตรกรไม่ให้ถูกยึดที่ดินทำกิน โดยการซื้อหนี้จากสถาบันการเงิน มาเป็นหนี้ของกองทุนฟื้นฟูและมาผ่อนกับกองทุนฟื้นฟู โดยไม่ยึดที่ดินทำกิน เพื่อให้โอกาสทำกินในที่ดินต่อไปและมีเงินมาเลี้ยงชีพที่ดินจะไม่ตกเป็นของสถาบันการเงินซึ่งเป็นหน้าที่สำคัญของกองทุนฟื้นฟู

2.หน้าที่ในการฟื้นฟูชีวิตของเกษตรกร โดยจัดเงินก้อนหนึ่งเข้าไปช่วยเหลือให้พี่น้องทำโครงการพัฒนาคุณภาพพืชผลทางการเกษตรหรือฟื้นฟูชีวิตของพี่น้องเกษตรกรต่อไป เพื่อให้ชีวิตพี่น้องดีขึ้นครบวงจร

ซึ่งขณะนี้มีเกษตรกรมาขึ้นทะเบียนไว้กับกองทุนฟื้นฟูถึง 5 ล้านคน และมาขึ้นทะเบียนเป็นหนี้ 490,000 คนหรือประมาณ 500,000 คน

ตั้งแต่ที่ตนเป็นประธานมา 2 ปี ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปหลายเรื่องสำคัญ เช่น

1.จัดตั้งอนุกรรมการประจำจังหวัดครบทั้ง 76 จังหวัด

2.ได้แก้กฎหมายเพื่อเปิดโอกาสให้พี่น้องเกษตรกรรายย่อยที่เป็นหนี้บุคคลค้ำให้กองทุนไปซื้อนี่บุคคลค้ำจากเกษตรกรได้ อย่างน้อย 200,000 ราย

3.ดอกเบี้ย สำหรับเกษตรกรที่เป็นหนี้กองทุนจะคิดดอกเบี้ย 0%

4.อนุมัติงบจัดการหนี้ให้ไปซื้อหนี้แล้ว 1,328 ล้านบาท และงบฟื้นฟูให้อีก 430 ล้านบาท

ซึ่งวันนี้ตนได้มามอบงบฟื้นฟูจากที่พี่น้องเสนอมา 19 โครงการ มีสมาชิก 273 คน โดยเป็นงบประมาณ 11,624,000 บาท และมอบเช็คชำระหนี้แทนเกษตรกร 3 สหกรณ์จำนวน 30,790,000 บาท

ส่วนเกษตรกร 30 ราย ที่ได้ใช้หนี้หมดแล้ว ก็จะมาคืนโฉนดให้และมอบเกียรติที่บัตรว่าเป็นเกษตรกรตัวอย่างว่า เป็นหนี้กองทุนแล้วสามารถทำงานเก็บเงิน ชำระหนี้กองทุนฟื้นฟูได้ตามกฎเกณฑ์กติกาทุกประการ ซึ่งทางกองทุนก็จะนำเงินนี้ไปช่วยเหลือเกษตรกรรายอื่นต่อไป