
คอลัมน์ : ห้อยหัววิเคราะห์ข่าว
ปัญหาเศรษฐกิจและความสามารถของนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ในการบริหารประเทศได้กลายเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ฝ่ายค้าน นำโดยพรรคประชาชน ที่หยิบยกไว้ใช้ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่เพิ่งสิ้นสุดการลงมติไปเมื่อเช้าวันนี้ (26 มีนาคม 2568) โดยที่ประชุมสภามีมติไว้วางใจนายกรัฐมนตรีด้วยจำนวน 319 ต่อ 162 เสียง

โดยฝ่ายค้านโจมตีไปที่ตัวนายกรัฐมนตรีโดยตรง โดยมองว่านายกรัฐมนตรียังขาดความรู้ความเข้าใจ และความสามารถในการบริหารเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ การไร้ซึ่งวุฒิภาวะ และขาดเจตจำนงทางการเมืองในการรับใช้ประชาชน รวมถึงไม่มีความซื้อสัตย์สุจริตอันเป็นที่ประจักษ์ อย่างเช่นในกรณีการหลีกเลี่ยงภาษี การแก้ไขและการบิดเบือนกฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ โดยไม่ได้มองประชาชนเป็นแกนกลาง แต่ทำขึ้นเพื่อเอื้อแก่กลุ่มทุนและพวกพ้อง ไม่ว่าจะเป็นในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และการขยายสัมปทานทางด่วน เป็นต้น
ข้อกล่าวหาต่างๆ ที่ฝ่ายค้านหยิบยกมาถือเป็นปัจจัยเชิงลบที่สำคัญที่โจมตีเป้าหมายคือตัวนายกรัฐมนตรี แพทองธารเองซึ่งถูกมองว่าเป็นนายกตั้งแต่อายุน้อย ไร้ซึ่งวุฒิภาวะ และขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยและนายกรัฐมนตรี ไม่ได้ด้วยความสามารถของตนเอง หากแต่มีบิดาชื่อทักษิณ ชินวัตร ที่ดูเหมือนจะเป็นผู้ครอบงำและชักใยรัฐบาลอยู่เบื้องหลังเสมือนเป็นนายกรัฐมนตรีตัวจริง โดยมองว่าคุณสมบัติของผู้นำประเทศต้องมีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานในเรื่องต่างๆ เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจที่ถูกต้องแม่นยำ ต้องสามารถบริหารจัดการ เผชิญกับปัญหาต่างๆ เพื่อแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพ นายกรัฐมนตรียังต้องมีวุฒิภาวะในการบริหารสถานะการณ์และความรู้สึกของประชาชนในช่วงเวลาที่ยากลำบากและท้าทายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ต้องมีเจตจำนงที่จะรับใช้ประชาชน มีความต้องการอย่างแรงกล้าในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ไม่ได้เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง พวกพ้อง และครอบครัว

ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ฝ่ายค้านได้แสดงให้เห็นว่านายกรัฐมนตรีแพทองธารยังขาดความสามารถทางการสื่อสารในเวทีนานาชาติ ไม่สามารถแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนถึงศักยภาพของประเทศไทย รวมถึงการแสดงวิสัยทัศน์ในภาคส่วนของรัฐบาลให้กับนักธุรกิจและนักลงทุนจากต่างประเทศเพื่อโอกาสในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนมายังประเทศไทย นายกรัฐมนตรียังควรมีวุฒิภาวะที่เพียงพอที่จะรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ และรับมือกับความคิดเห็นที่แตกต่างของประชาชน
นอกจากปัญหาด้านคุณสมบัติส่วนบุคคลของนายกรัฐมนตรีแพทองธารเอง ปัญหาเศรษฐกิจยังเป็นอีกประเด็นสำคัญที่ฝ่ายค้านหยิบยกมาโจมตีรัฐบาล ไม่ว่าการบริหารเศรษฐกิจที่ล้มเหลว สร้างผลกระทบต่อรายได้ที่ฝืดเคืองของทั้งเกษตรกรและคนทำงาน ค่าครองชีพสูง ทำมาหากินไม่คล่อง ตลาดเงียบเหงาไร้คนเดิน หนี้ครัวเรือนท่วมท้นทั้งในและนอกระบบ โรงงาน ห้างร้าน และบริษัทที่ทยอยปิดตัว จำนวนคนว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลขาดความสามารถในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจเฉพาะหน้าและปัญหาเศรษฐกิจโครงสร้าง ราคาพืชผลเกษตรที่ตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพืชผลเศรษฐกิจที่เป็นสินค้าสำคัญของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นข้าว อ้อย มันสำปะหลัง และข้าวโพด เป็นต้น เกษตรกรมีรายได้ที่ลดลงและตกต่ำแทบทุกพืชเศรษฐกิจ จากดัชนีรายได้เกษตรกรประจำเดือนกุมภาพันธ์เปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า พบว่ารายได้ข้าวลดลง 17% รายได้อ้อยลดลง 14% รายได้มันสำปะหลังลดลงถึง 38% และรายได้ข้าวโพดลดลง 21%

หลังจากที่รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศเป็นเวลา 6 เดือน ประชาชนมองว่าเรื่องค่าครองชีพสูง คนไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย กำลังซื้อในประเทศไม่ขยายตัว เป็นเรื่องแรกๆ ที่พวกเขามีความกังวลในปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลนี้ ในขณะที่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น น้ำมันปาล์ม เนื้อหมู กาแฟ และสินค้าที่เป็นต้นทุนการผลิต อย่างเช่น ปุ๋ย ปูนซีเมนต์ ค่าไฟ ค่าเน็ต และค่ามือถือ น้ำมันเบนซิน ดีเซล และค่าแก๊ส ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทางฝั่งลูกจ้างและมนุษย์เงินเดือน พบว่ามีรายได้คงที่ โดยรายได้เฉลี่ยของลูกจ้างเอกชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจาก 14,500 บาทต่อเดือนในปี 2567 มาเป็น 14,600 บาทต่อเดือน ในปีนี้ อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.4% ในขณะที่รายได้ของแรงงานทั้งในและนอกระบบเพิ่มขึ้นเพียง 0.8% โดยนายกรัฐมนตรีไม่เคยพูดหรือสื่อสารให้ประชาชนได้รับรู้เลยว่าจะเพิ่มรายได้ให้ประชาชนอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ ยังมีปัญหาบริษัทเลิกกิจการและเลิกจ้างแรงงาน โดยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีบริษัทเลิกกิจการเพิ่มขึ้นถึง 11% และมีบริษัทที่เปิดเพิ่มขึ้น 4% บริษัท SMEs ประสบปัญหาสภาพคล่องเนื่องจากธนาคารปฏิเสธการปล่อยกู้ และทยอยปิดตัว
อีกปัญหาเศรษฐกิจสำคัญที่ฝ่ายค้านหยิบยกขึ้นมาอภิปรายคือปัญหาแรงงานต่างชาติทั้งที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมายที่รุกเข้ามาแย่งงานคนไทย โดยเฉพาะแรงงานจีน ที่เข้ามามีอิทธิพลเหนือตลาดแรงงานไทย โดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (Eastern Economic Corridor) อันประกอบด้วยจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา โดยในพื้นที่พบว่ามีแรงงานจีนที่เข้ามาโดยผิดกฎหมายเยอะมากและเข้ามาแย่งงานคนไทย ทำให้โอกาสของแรงงานไทยหายไปเพราะถูกทดแทนด้วยแรงงานจีนที่มีทักษะธรรมดาเข้ามาทำงานในโรงงานเต็มไปหมด แรงงานจีนเหล่านี้ใช้วีซ่าท่องเที่ยวเข้ามาทำงานในประเทศไทย ทั้งนี้ ยังรวมถึงทุนจีนที่รุกคืบเข้ามาลงทุนและทำลายอุตสาหกรรมไทย ไม่ว่าจะเป็นในธุรกิจบ้านจัดสรร อุตสาหกรรมเหล็ก ทัวร์ และร้านอาหาร ทั้งในระยอง ชลบุรี และกรุงเทพ การทำสวนทุเรียนในจังหวัดจันทบุรี และการซื้อคอนโดมีเนียมเพื่อปล่อยเช่าที่อาจทำลายธุรกิจโรงแรมในประเทศไทย

ถึงแม้จะได้รับการลงมติไว้วางใจด้วยจำนวนเสียงถึง 319 เสียงให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในการนำพาประเทศต่อไป แต่ปัญหาต่างๆ ยังคงอยู่ ไม่ถูกสะสาง และจะรุนแรงขึ้น ไม่เพียงแต่ปัญหาภายในประเทศ แต่ประเทศไทยจะถูกรุมล้อมด้วยปัญหาเศรษฐกิจต่างประเทศที่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการส่งชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน นำมาซึ่งปัญหาสิทธิมนุษยชน และการถูกประณามจากประเทศต่างๆ ทั้งจากสหรัฐอเมริกา และอียู ประเด็นดังกล่าวยังอาจนำมาซึ่งปัญหาการก่อการร้ายและความไม่สงบในประเทศไทยและส่งผลกระทบเชิงลบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศ
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน การขึ้นกำแพงภาษีของสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ควบคุมไม่ได้เหล่านี้ต้องการ “ของจริง” หรือ ผู้เชี่ยวชาญและมีความสามารถทางเศรษฐกิจที่แท้จริงเข้ามาแก้ไขดูแล ทั้งนี้ เพื่อความอยู่รอดของเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชนชาวไทยในระยะยาว
ผู้เขียน : ดร.ขวัญชัย รุ่งฟ้าไพศาล อดีตบรรณาธิการ โต๊ะข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น ที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการมากว่า 30 ปี